"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"  ทรงพระกรุณามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "พล.อ.เปรม"  กลับคืนตำแหน่งปธ.องคมนตรี

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559    ราชกิจจานุเบกษา  ได้เผยแพร่ประกาศแต่งตั้งประธานองคมนตรี  ระบุข้อความว่า    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร  มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ   ให้ประกาศว่า โดยที่ประธานองคมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งประธานองคมนตรีและทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งประธานองคมนตรี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับมาตรา 12 มาตรา 13 และมาตรา16  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550

 

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์  เป็นประธานองคมนตรี ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559  เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน

 

ผู้รับสนองพระราชโองการ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

"สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"  ทรงพระกรุณามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง "พล.อ.เปรม"  กลับคืนตำแหน่งปธ.องคมนตรี


ทั้งนี้  พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ   อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๖ ของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๓๑) เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๓ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ศาสนาพุทธ เกิดที่บ้านบ่อยาง เลขที่ ๗๘๘ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา  เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ตำแหน่งพะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา (พ.ศ. ๒๔๕๗) กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลา-นนท์) มีพี่น้อง ๘ คน คือ

๑. นายชุบ ติณสูลานนท์

๒. นายเลข ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)

๓. นางขยัน (ติณสูลานนท์ ) โมนยะกุล

๔. นายสมนึก ติณสูลานนท์

๕. นายสมบุญ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)

๖. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

๗. เด็กหญิงปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)

๘. นายวีระณรงค์ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)

 

ด้านประวัติการศึกษา

พ.ศ. ๒๔๖๙ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา มีเลขประจำตัว ๑๖๗ และมีความประทับใจในขณะได้รับการศึกษา คือ

- เริ่มเรียนครั้งแรกจนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๘

- ในสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงพระดำเนินเยี่ยมในห้องเรียน ท่านก็ทรงอ่านสมุดวิชา “สรีรศาสตร์” ของเด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง ฯพณฯ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

- ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ กับเด็กชายอิ่ม นิลรัตน์ ผลัดกันสอบได้ที่ ๑ มาโดยตลอดจนครูแยกห้องเรียนกัน และเด็กชายเปรม เคยได้รับ ”เกียรติบัตรหมั่นเรียน” เพราะเรียนดีไม่เคยสาย ไม่เคยขาดเรียน ได้ทุกปี

-เป็นนักกีฬาประเภทวิ่งผลัด และนักฟุตบอลของโรงเรียน

- เป็นนายหมู่ลูกเสือตรี ขณะนั้นเรียนมัธยมปีที่ ๕ ข.

- ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๙ เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ วิทยาลัยแผนกวิทยาศาสตร์ มีเลขประจำตัว ๗๕๘๗ เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๗ - ๘

- ได้เข้าเรียนในเมืองหลวง โดยพี่ชายชื่อชุบ ติณสูลานนท์

- ขณะเรียนอาศัยอยู่บ้านของพระยาบรรณสิทธทัณฑการ

- ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เข้าเรียนโรงเรียน “เท็ฆนิคทหารบก” หรือโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน

- ขณะเรียนต้องการเป็นทหารปืนใหญ่ แต่พอเกิดสงครามจึงต้องเปลี่ยนมาเลือกเป็นทหารม้า

พ.ศ. ๒๔๘๔ สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (จปร) นักเรียนนายร้อยรุ่นนี้รับการศึกษาไม่ครบ ๕ ปี ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ คือต้องใช้เวลาการศึกษาเพียง ๓ ปี เท่านั้น เพราะต้องออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย 

 

เกียรติประวัติด้านการทำงาน

 

๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ เป็นผู้บัญชาการทหารบก

๔ ธันวาคม ๒๕๒๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

๑๒ กรกฏาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์

๓ มีนาคม ๒๕๒๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๓ เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาด

๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖

๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

หลังจากได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙

๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น องคมนตรี และได้ทรงพระ- กรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อัน เป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งถือว่าเป็น เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน ให้แก่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่องพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น รัฐบุรุษ

๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมและผู้นำกลุ่มมวลชน ในการชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเจรจาปรับความเข้าใจกัน และให้ยุติการก่อความวุ่นวายในประเทศ เหตุการณ์นี้ ประชาชนเรียกว่า “เหตุการณ์ณ์พฤษภาทมิฬ” เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ขัดแย้งระหว่าง ประชาชนในชาติอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ที่ได้รับการยกย่องจาก ประชาชนเป็นอย่างมาก

 

เรียบเรียงข่าว :  ชัชรินทร์ สำนักข่าวทีนิวส์

 

ข้อมูล :  หอจดหมายเหตุ พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์