หมดยุคนี้..คงแก้ไขยาก!!! "บิ๊กตู่"สั่งรายงานผลสอบทุก 6 เดือนหลังพบข้อมูลอปท.ทุจริตยังพุ่งสูง รอบปี 59 เจอฉาวเป็นพันเรื่องปท.เสียหายร่วมๆหมื่นล้าน?

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่หมักหมมมานาน จนกระทั่งเข้าสู่ยุคคสช.เราจึงได้เห็นการใช้มาตรา 44  ดำเนินการกับผู้บริหารปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก   ท่ามกลางข้อกังขาว่าเป็นการใช้อำนาจเพื่อผลทางการเมืองหรือไม่   ล่าสุดมีข้อมูลยืนยันชัดเจนในระดับสำคัญว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นกรณีที่เกิดขึ้นระบาดทั่วประเทศแต่ไม่มีการจัดการอย่างจริงจัง  

 

ล่าสุดนายจิรชัย มูลทองโร่ย  ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.)  เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559  สปน.ได้รับเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต   ซึ่งเป็นการตรวจพบโดยหน่วยงานเอง  หรือ  โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน  จำนวน 151 เรื่อง จำแนกเป็น ราชการส่วนกลาง 25 เรื่อง  ,  ราชการส่วนภูมิภาค 30 เรื่อง  ,  ราชการส่วนท้องถิ่น 61 เรื่อง และรัฐวิสาหกิจ 35 เรื่อง

 

ทั้งนี้เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติแล้ว 20 เรื่อง ประกอบด้วย  กระทรวงคมนาคม 12 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 4 เรื่อง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2 เรื่อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 1 เรื่อง และกระทรวงสาธารณสุข 1 เรื่อง

ขณะเดียวกันนายจิรชัย ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน มีเรื่องเงินขาดบัญชีและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานของสปน.  จำนวน 2,838 เรื่อง  รวมเป็นเงินที่เสียหาย 11,383 ล้านบาท จำแนกเป็น ราชการส่วนกลาง 234 เรื่อง  ,  ราชการส่วนภูมิภาค 640 เรื่อง  ,  ราชการส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง และรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนอีก  468 เรื่อง  โดยหน่วยงานที่มีการทุจริตมาก 3 อันดับแรก คือ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,496 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 219 เรื่อง และกระทรวงศึกษาธิการ 218 เรื่อง

ขณะเดียวกันเมื่อจำแนกตามประเภทการทุจริต พบว่า อันดับ 1.คือการยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ 1,507 เรื่อง  2.การปฏิบัติผิดระเบียบ 656 เรื่อง 3.การจัดซื้อจัดจ้าง 605 เรื่อง 4.การเบิกค่าเช่าบ้านเท็จ 39  เรื่อง 5.การทุจริตน้ำมันเชื้อเพลิง 20 เรื่อง 6.การเบิกค่ารักษาพยาบาลเท็จ 11 เรื่อง

         

ทั้งนี้ สปน. ได้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเร่งรัด ติดตามเกี่ยวกับกรณีเงินขาดบัญชี หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต พ.ศ. 2546 ที่ให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการเร่งรัดติดตามหน่วยงานของรัฐที่เกิดกรณีเงินขาดบัญชีหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริต ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับทราบผลการดำเนินการ ทั้งการชดใช้เงินหรือทรัพย์สินคืน การดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยโดยเร็ว โดยรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบทุก 6 เดือน

 

เรียบเรียงข่าว :  ชัชรินทร์  สำนักข่าวทีนิวส์