อีกด้านของประวัติศาสตร์...พระเจ้าตากฯคือ "ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง” จนต้องเรียกท่านว่าเป็น "นักเลงสมาธิ" !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://panyayan.tnews.co.th

อีกด้านของประวัติศาสตร์...พระเจ้าตากฯคือ "ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง” จนต้องเรียกท่านว่าเป็น "นักเลงสมาธิ" !!

           สำหรับผู้เขียนการจะเข้าใจเรื่องราวในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะเข้าใจสถานภาพของพระเจ้าตากฯในช่วงนั้นอย่างไร?

             เรื่องราว 10 ชั่วโมงสุดท้ายแห่งอำนาจของพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่ผู้เขียนพยายาม "ปะติดปะต่อ" ขึ้นมาใหม่นี้แน่นอนว่าวางอยู่บนการเปลี่ยนมโนทัศน์ในการเข้าใจพระเจ้าตากฯ

            คือเราต้องเข้าใจพระองค์อย่างเป็นบูรณาการ  ทั้งในฐานะ "ผู้นำทางทหาร" (Military leader) ในฐานะ "ผู้นำทางการเมือง" (political leader) และในฐานะ ผู้ฝักใฝ่ในการปฏิบัติธรรม (spiritual practitioner)

                 สถานภาพ 2 สถานะแรกของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มีการพูดถึงกันมากมายอยู่แล้วอันจะกลายเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำสำหรับใครที่สนใจใฝ่รู้เรื่อง "พระเจ้าตากฯศึกษา"  แต่สถานะภาพอย่างหลังสุดนั้นแทบจะไม่มีใครพูดถึงอย่างจริงจังเลย ยกเว้นกลุ่มที่เป็นนักประวัติศาสตร์สาย "นั่งทางใน" ซึ่งก็ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักประวัติศาสตร์กระแสหลักอยู่แล้ว

 สมมุติฐานที่ผู้เขียนพยายามเสนอนี้จึง "สวนทาง" กับผู้รู้ส่วนใหญ่จากทุกสำนักประวัติศาสตร์ทั้งที่คิดว่าพระองค์บ้าและไม่คิด

          เพื่อให้มันสวนทางกันชัดๆไปเลย  ในที่นี้ผู้เขียนคิดว่ามี "หลักฐาน" พอที่จะกล่าวว่าพระเจ้าตากฯท่านทรงเป็นผู้ปฎิบัติธรรมในระดับที่ "จริงจัง" หรือถ้าจะให้เรียกตามบุคลิกภาพของท่านเราต้องเรียกท่านว่าเป็น "นักเลงสมาธิ" ถึงขนาดที่ทรงนั่งแสดงพระกรรมฐาน แลกเปลี่ยนความรู้เรื่องสมาธิกับนักบวชอิสลาม หรือทรงแต่งตำรากรรมฐาน ซึ่งแสดงว่า "ความสนพระทัย" ในเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ไม่ธรรมดา

 ส่วนท่านจะทรงปฏิบัติถึงขั้นไหน?ทรงได้มรรคได้ผลอะไรหรือไม่? นั่นอยู่นอกเหนือวิสัยที่ผู้เขียนจะไปวินิจฉัยได้เพราะเป็นเรื่อง "ปัจจัตตัง"

-----

              ย้ำว่าเราต้องพยายามเข้าใจสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในทุกมิติที่ท่านเป็นไปพร้อมๆกันอย่างเท่าๆกัน

            ในที่นี้ การเข้าใจ "พระเจ้าตากฯ" ในฐานะ "ผู้ปฎิบัติธรรม" (Spiritual practitioner) อย่างจริงจังนั้นเป็นคนละเรื่องกับการเป็น "อริยะบุคคล" (virtuous person)

 นั่นคือเราควรอภิปรายให้ขัดเสียก่อนว่า "ผู้ปฎิบัติธรรม" ในที่นี้คืออะไร?

                ในความเข้าใจตามปกติ เช่น เวลาเราเห็นใครชอบ ถือศีล สวดมนต์ เข้าวัด ฟังธรรม เราก็จะเรียกคนนั้นว่าเป็นคน "ธัมมะธัมโม" แล้วเราก็คิดต่อไปเองว่าคนคนนั้นต้องเป็นคนที่ปานประหนึ่ง "คนดี" ที่ดีเลิศประเสริฐศรีต้องไม่ทำอะไรในวิสัยที่ "ปุถุชน" ที่ไม่ถือศีล ไม่สวดมนต์ ไม่เข้าวัด ไม่ฟังธรรม เขาทำกัน  ความเข้าใจแบบนี้เป็นเรื่องที่เรา "สร้าง" ขึ้นมาเองทั้งสิ้น

               "ผู้ปฎิบัติธรรม" ในที่นี้ก็คือ "ปุถุชน" นั่นแหละ ยังมีวิสัย สันดาน กิน ขี้ ปี้ นอน เหมือนกับ "ผู้ไม่ปฏิบัติธรรม" หากจะมีส่วนต่างก็ตรงที่มีการ "ฝึกจิต" ตัวเองหรือไม่มี  ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของคนเหล่านี้เหมือนใจตัวเองเป็น "วิหาร" ที่หมายมุ่งที่จะยกระดับความรู้สึกนึกคิด จิตใจ จิตวิญญาณของตัวเองให้สูงขึ้น (ซึ่งมี/เป็นวิธีพัฒนาตัวเองแบบใดแบบหนึ่ง ที่มีมาแต่โบราณและปรากฏอยู่ในทุกวัฒนธรรม) มากกว่า ทำบุญ ทำทาน เข้าวัด ฟังธรรม เหมือนคนทั่วๆไป

                 ในที่นี้ "ผู้ปฎิบัติธรรม" กับ "ศาสนิกชน" อาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวกันก็เป็นได้  อาจมีผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่นอกบริบทของศาสนา เช่น กวี หรือ ศิลปิน หรือ นักธรรมชาตินิยม หรือแม้แต่ นักวิทยาศาสตร์ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ค่อยแยกออกจากบริบททางศาสนานั้นๆ แม้จะไม่มีสถานะเป็น "นักบวช" ก็ตาม

              เรามีหลักฐานชัดว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงปรารถนาในพระโพธิญาณ  ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายภาคหน้า (มาตั้งแต่เป็นทรงเป็นเจ้าเมืองตาก) ต่อมาก็ทรงพระกรรมฐานอย่างจริงจัง (นอกเหนือไปจากการอุปถัมภ์พระศาสนาตามพระราชภาระในฐานะพระมหากษัตริย์)  ซึ่งในประวัติศาสตร์ทั้งของไทยไม่ค่อยมี "ผู้นำทางการเมือง" ที่เป็นแบบนี้ปรากฏให้เห็นมากนัก ที่ผ่านมาก็มีพระมหากษัตริย์ไทยหลายพระองค์ที่ทรงปรารถนาแบบเดียวกันนี้ แต่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นพระองค์เดียวที่มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่า "ทรงฝึกจิต" อย่างจริงจัง

            ห รือจะในประวัติศาสตร์โลกเองก็หาได้น้อยเต็มที แต่ถ้าเรามองดูตัวอย่างเปรียบเทียบกับ จักรพรรดิ มาร์คัส ออเรลิอัส แห่งกรุงโรม (นักการเมือง นักรบ นักปราชญ์) หรือ มหาตมะคานธี (นักการเมือง ผู้นำทางจิตวิญญาน) หรือ มิยาโมโต มุซาชิ (นักรบ ผู้ปฎิบัติธรรม) ก็เป็นไปได้ที่จะมองว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระองค์ทรงเป็นแบบนั้น หรืออย่างน้อยที่สุด ก็พยายามที่จะเป็น

-----

 แต่ตามกระแสโลกและกระแสธรรมที่มักเดินสวนทางกันอยู่แล้ว

 ก็เป็นปกติที่ความปรารถนาและการกระทำที่จะยกระดับ "จิตวิญญาณ" ของผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่งนั้น อาจเป็น

               1) สิ่งที่คนทั่วไป(ที่ไม่ปฏิบัติธรรม)เข้าใจไม่ได้ และส่วนมาก/ส่วนใหญ่ ก็มักจะถูกเข้าใจแบบผิดๆเสียมากกว่า(ทั้งจากผู้ไม่ปฏิบัติหรือผู้ปฏิบัติด้วยกันเอง)  เช่น ท่านพุทธทาส ในช่วงแรกๆของภารกิจ "ตามรอยพระอรหันต์" ก็ถูกเรียกว่าเป็น "พระบ้า" หรือ งานเทศน์สอนหลายต่อหลายชิ้นของท่านก็ถูกปฏิเสธหรือกลายเป็น "วิวาทะ" อย่างรุนแรงในวงการศาสนาด้วยกันเอง

           ในที่นี้ "ความไม่เข้าใจ" ในความมุ่งมั่นทางธรรมของพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งมีอยู่มากมายเหลือคนานับ ก็เป็น สิ่งที่เข้าใจได้  เช่นการตีความว่าท่านทรงหมกมุ่นเกินพอดี หรือทรงอวดอุตริ คิดว่าตัวเองเหาะเหิรเดินอากาศได้ หรือคิดว่าท่านอ้างตนเป็นพระอริยะเหนือพระสงฆ์  ซึ่งเป็น "ความไม่เข้าใจ" ในลักษณะนี้ที่ทำให้นำไปสู่การมองว่าพระเจ้าตากฯ ทรงพระสติฟั่นเฟือน ทรงเสียพระจริต ทรงเป็นบ้า ทั้งจากบุคคลที่ร่วมสมัยอยู่กับพระองค์เอง และต่อมาในภายหลังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

            ซึ่งความเข้าใจว่าท่าน "บ้า" เพราะเรา "ไม่เข้าใจ" สิ่งที่ท่านทำ นั้น เป็นคนละเรื่องกับว่าท่านทรงมี พระอาการทางจิตหรือไม่?  แต่ปัญหาที่เป็นอยู่ก็คือมีความพยายามเอาสิ่งที่ "มโน" ขึ้นมาเองในเรื่องแรกอ้างขึ้นมาเพื่อลากมาสรุปให้ลงเรื่องหลัง

            2) ไม่จำเป็นว่าสิ่งที่ผู้ปฎิบัติธรรมทำหรือพยายามจะทำนั้นจะต้องสำเร็จเสมอไป หรือ ต้องสำเร็จในทุกเรื่องที่พยายาม  ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนที่หมกมุ่นเรื่องจิตวิญญาณ  เจ้าลัทธิ ศาสดา ที่เก๊ ที่ล้มเหลว ที่กลายเป็นกลุ่มคลั่งลัทธิอันนำไปสู่โศกนาฏกรรมต่างๆมากมาย  แต่มันก็มีพอๆกับผู้ที่ประสบความสำเร็จ หรือเชื่อได้ว่าประสบความสำเร็จ

           ข้อหนึ่งที่อาจต้องคิดไว้ก็คือ ความสำเร็จในธรรม มันก็ไม่ต่างจากความสำเร็จทางโลก ก็ตรงที่ ไม่มีอะไรการันตีตั้งแต่ต้นว่ามันจะสำเร็จ ที่กลับยากกว่าด้วยซ้ำก็คือ ความสำเร็จทางโลก รวย ดัง เก่ง มีตัวชี้วัดที่เห็นได้ง่ายกว่า แต่ในทางธรรม แทบจะต้องอาศัยใจตัวเองกับความซื่อสัตย์ต่อตัวเองเป็นเครื่องตรวจสอบเป็นระยะเท่านั้น

            เอาง่ายๆว่า ตามชาดกยกนิทาน พระพุทธเจ้าโคตม กว่าจะมาเป็นพระพุทธเจ้าก็ "ล้มลุกคลุกคลาน" มาก็หลายชาติ บางชาติต้องตกนรก บางชาติต้องตกไปเป็นเดรัชฉาน(แม้ใน 10 ชาติสุดท้ายก็มีอยู่ชาติหนึ่งที่ตกไปเป็นพญานาคที่เป็นเดรัชฉานขั้นสูง)  นั่นไม่ต้องพูดถึงคนอื่นที่มี "คุณวิเศษ" น้อยกว่านั้น  มาร์คัส ออเรลิอัส เป็นจักรพรรดิที่ยกย่องเป็น "ราชาปราชญ์"  คานธีเป็นผู้นำทั้งทางการเมืองและจิตวิญญาณของคนโลกอินเดียทั้งชาติ แต่ทั้งสองคนล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในฐานะบทบาทของคนเป็นพ่อ

            ความขัดแย้งในใจ ความล้มเหลว การเรียนรู้ การก้าวข้าม การเติบโต ก็เป็นสิ่งมีใน "ชีวิต" ไม่ว่าจะเป็น "ทางโลก" หรือ "ทางธรรม"

            ถ้าเข้าใจแบบนี้ เราจะมอง "พระเจ้าตากฯ" ในอีกแบบหนึ่ง แบบที่เห็นถึงบุคลิกและความขัดแย้งของพระองค์ เช่น ความดุร้าย โหดเหี้ยมในฐานะนักรบ กับ ความเมตตาในฐานะผู้บำเพ็ญบารมีสู่พระโพธิญาณ  แบบที่เห็นว่าบางครั้งผู้ปฏิบัติธรรมก็อาจผิดพลาดได้ เช่น กรณีประหารหม่อมฉิม หม่อมอุบล  แบบที่อาจจะเห็นว่าท่านเองก็ทรงพยายามที่จะจัดการกับความขัดแย้งบางอย่างในจิตใจอยู่

            ซึ่งจะว่าไปแล้วเราทุกคนก็ล้วนมีความขัดแย้งที่ว่านั้นในใจทั้งสิ้น จะผิดกันก็แต่เนื้อหาสาระเท่านั้น

            ปัญหาสุดท้ายก็คือ ท่านทรง "สำเร็จ" หรือ "ล้มเหลว" ในทางธรรม

            ผู้เขียนเชื่อว่ามีคำตอบอยู่ในตอน 10 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนที่ประวัติศาสตร์จะบันทึกเอาไว้ว่าท่านสิ้นพระราชอำนาจ ทั้งๆมีถ้ารบกันจริงๆกับพระยาสรรค์แม้ฝ่ายพระเจ้าตากฯจะ "ผู้คนบางเบาร่วงโรยนัก" แต่ก็มีโอกาสที่จะชนะเพราะ "พระยาธิเบศร์ พระยารามัญ พระยาอำมาตย์ ต่อสู้ลากปืนจ่ารงขึ้นป้อม" แล้ว "ข้าศึกถอยหนี"

            แต่ทำไมถึงทรงสั่งให้หยุดรบแล้วยอมแพ้?

            กับพระราชดำรัสสุดท้ายของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ว่า "สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย" จะหมายถึงอะไร?

 เป็นความ "ล้มเหลว"?

 หรือ ความ "สำเร็จ"?

 

 

ผู้เขียน เวทิน ชาติกุล

จากหนังสือ "ธรรมะพระเจ้าตาก"

อีกด้านของประวัติศาสตร์...พระเจ้าตากฯคือ "ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง” จนต้องเรียกท่านว่าเป็น "นักเลงสมาธิ" !!

สนใจสั่งซื้อหนังสือ Line ID : @gppbook / FB : Gppbook

สอบถามเพิ่มเติมโทร 0 2525 4242 ต่อ 201-202