นักการเมือง...ถึงขั้นกระอักเลือดได้!!!  สนช.ประสานเสียงเลือกตั้งอาจยื้อไปถึงกลางปี 2561  เริ่มชัดมีข้อจำกัดถกกม.ลูกจนแล้วเสร็จ!!?!!

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ถือเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ตั้งแต่ต้นปี  2560   เมื่ออีกฝ่ายพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลคสช.ยึดมั่นโรดแมปเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด  แต่โดยข้อเท็จจริงยังมีหลายปัจจัยทำให้ยากที่จะกำหนดชัดเจนว่าการเลือกตั้งเร็วที่สุดนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไร  ล่าสุด  พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)  ได้แสดงความเห็นในเชิงหลักการสืบเนื่องจากกรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.  ระบุว่าการเลือกตั้งอาจจะต้องเกิดขึ้นกลางปี  2561  เนื่องจากสนช.มีภารกิจต้องพิจารณากฎหมายจำนวนมาก ว่า  ถ้าดูตามกรอบกรอบเวลาขณะนี้  ถือเป็นข้อเท็จจริงว่า  คงไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ทันภายในปลายปี 2560 เพราะตามขั้นตอนโรดแมปคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องส่งกฎหมายลูก 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สนช.พิจารณาภายใน 8 เดือน นับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

 

จากนั้น สนช.จะมีเวลาพิจารณาเนื้อหากฎหมายลูกแต่ละฉบับประมาณ 2 เดือน  และเมื่อพิจารณากฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับเสร็จแล้ว จะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน  ดังนั้นถ้าดูตามกรอบเวลาดังกล่าว น่าจะใช้เวลาประมาณ 15 เดือน  และคาดว่า ช่วงเวลาที่สามารถจัดเลือกตั้งได้น่าจะอยู่ประมาณเดือน มี.ค.-เม.ย.ปี 2561 ซึ่งไม่ถือว่า เป็นการเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาและกติกาที่กำหนดไว้ในเรื่องการเขียนกฎหมายลูก ดังนั้นถือว่า เวลาการเลือกตั้งยังอยู่ในโรดแมป ยืนยันว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน

ทางด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(วิปสนช.) กล่าวว่า สิ่งที่นายสุรชัย ระบุถือเป็นประเด็นที่มีน้ำหนัก ถ้าเทียบกับกรอบเวลาการพิจารณากฎหมายลูกที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญระบุว่า กระบวนการพิจารณากฎหมายลูกต้องทำให้เสร็จภายใน 8 เดือน นับจากวันที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติมีผลบังคับใช้ ขณะที่สนช.มีเวลาพิจารณากฎหมายลูก 2 เดือน และหลังจากที่สนช.พิจารณาร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. ซึ่งเป็นกฎหมายลูกฉบับสุดท้ายเสร็จแล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ดังนั้นถ้าคำนวณตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้สูงสุด ต้องใช้เวลาอีก 15 เดือน จึงจัดเลือกตั้งได้ ช่วงเวลาเลือกตั้งจึงตกอยู่ประมาณกลางปีหรือเกือบกลางปี 2561 ตามที่นายสุรชัยระบุไว้

อย่างไรก็ตามต้องยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ใช่รัฐบาลหรือสนช. มีเจตนาเลื่อนการเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายลูก  และการคำนวณดังกล่าวเป็นการคิดตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้สูงสุดเท่านั้น หากกรธ.เร่งการพิจารณากฎหมายลูกสามารถส่งมาให้สนช.ได้ก่อน 8 เดือน ก็อาจจะร่นเวลาการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นได้

 

เรียบเรียง :  ชัชรินทร์  สำนักข่าวทีนิวส์