แชร์วนให้ถึง"นายกฯตู่"!! "ดร.สามารถ" เดินหน้าท้วงประมูลสร้างรถไฟทางคู่ส่อเอื้อเอกชน เทียบซะเห็นภาพไม่ต่างร.ฟ.ท.ล็อกสเปกให้บริษัทในเครือ??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

 

ถือเป็นประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักตรวจสอบข้อเท็จจริง   เนื่องเพราะเป็นหนึ่งในโครงการลงทุนภาครัฐจากเงินงบประมาณประเทศ   จากข้อมูลเรื่องการประมูลรถไฟทางคู่  ซึ่ง ดร.สามารถ  ราชพลสิทธิ์  อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  ติดตามมาตั้งแต่ต้นจนล่าสุดโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัวอีกครั้งในเชิงตั้งคำถามว่า  “   ชำแหละสเปกรถไฟทางคู่ ..ล็อกหรือไม่??”

 

แชร์วนให้ถึง"นายกฯตู่"!! "ดร.สามารถ" เดินหน้าท้วงประมูลสร้างรถไฟทางคู่ส่อเอื้อเอกชน เทียบซะเห็นภาพไม่ต่างร.ฟ.ท.ล็อกสเปกให้บริษัทในเครือ??

 

“สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ผมได้โพสต์เรื่อง “ประมูลรถไฟทางคู่ส่งกลิ่น!” โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดประมูลก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 โครงการ    ซึ่งโดยปกติผู้รับเหมาที่ประมูลได้งานก่อสร้างจะต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการก่อสร้างเอง แต่สำหรับการประมูลครั้งนี้ ร.ฟ.ท.ลงทุนซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟ 4 รายการให้ผู้รับเหมาโดยใช้เงินของ ร.ฟ.ท. แล้วให้ผู้รับเหมาใช้เครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นฟรี เมื่อใช้งานเสร็จแล้วก็มอบให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งในทางที่ถูกต้องผู้รับเหมาจะต้องจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นโดยใช้เงินของผู้รับเหมาเอง เพราะผู้รับเหมาต้องใช้ในการก่อสร้างอยู่แล้ว หาก ร.ฟ.ท.อ้างว่าต้องการเป็นเจ้าของเครื่องมืออุปกรณ์เหล่านั้นเพราะจะต้องใช้ในงานบำรุงรักษาในภายหลัง ร.ฟ.ท.ก็ควรที่จะเปิดประมูลจัดซื้อเอง โดยกำหนดสเปกให้เปิดกว้าง มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่จ่ายเงินให้ผู้รับเหมาไปซื้อ แล้วให้ผู้รับเหมานำไปใช้งานฟรีก่อนส่งมอบให้ ร.ฟ.ท. ซึ่งจะถูกครหาได้ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับเหมา

 

เครื่องมืออุปกรณ์ก่อสร้างทางรถไฟดังกล่าวประกอบด้วย (1) รถเกลี่ยหิน (2) รถอัดหินในทางทั่วไป (3) รถอัดหินในประแจ และ (4) รถสั่นหิน ที่สำคัญ มีการตั้งคำถามว่า ร.ฟ.ท.ได้ระบุข้อกำหนดทางเทคนิคหรือสเปกของเครื่องมืออุปกรณ์ทั้ง 4 รายการ เพื่อให้ผู้รับเหมาจัดซื้อโดยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์รายใดรายหนึ่งหรือไม่

ทั้งๆ ที่ มีผู้ผลิตที่สามารถผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวได้หลายรายจากหลายประเทศ หลังจากนั้น ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ได้ออกมาโต้ว่าไม่มีการล็อกสเปก ทุกอย่างโปร่งใส ตามมาด้วยการเสนอข่าวของสื่อมวลชนว่าได้มีการปรับแก้สเปกแล้ว เพื่อให้เห็นว่ามีการล็อกสเปกเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวหรือไม่ และได้มีการปรับแก้สเปกจริงหรือไม่ ผมขอชำแหละสเปกที่กำลังใช้ในการประมูลอยู่ในขณะนี้ซึ่งเป็นข้อมูลทางเทคนิคที่ถูกเปิดเผยโดยพนักงาน ร.ฟ.ท.ผู้รักความเป็นธรรม ดังนี้

 

1. รถเกลี่ยหิน (Ballast Regulator) ทำหน้าที่เกลี่ยและกวาดหินที่โรยลงบนรางรถไฟให้เสมอได้ระดับกับราง ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้กำหนดสเปกให้มีการติดตั้งตัวระบบป้องกันการกระแทกเครื่องยึดเหนี่ยวรางไว้ด้านหน้าของตัวรถ (The front plough shall be equipped with the rail fastener protection tunnel) ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของรถเกลี่ยหินยี่ห้อหนึ่ง โดยมีการลอกสเปกมาจากยี่ห้อนั้นอย่างชัดเจน ไม่มียี่ห้ออื่นในโลกที่ผลิตตามสเปกนี้ แต่ก็สามารถทำงานได้ผลลัพธ์เหมือนกัน

 

2. รถอัดหินในทางทั่วไป (Plain Line Tamper) ทำหน้าที่ต่อจากรถเกลี่ยหิน โดยจะอัดหินให้แน่นในทางรถไฟทั่วไป (ไม่ใช่บริเวณประแจรางที่ทำหน้าที่สับเปลี่ยนราง) เพื่อให้การเดินรถเป็นไปด้วยความปลอดภัย เพราะหากหินไม่แน่นจะทำให้รางทรุด ซึ่งจะเป็นเหตุให้รถไฟตกรางได้ ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้กำหนดสเปกให้ใช้รถอัดหินที่มีหัวอัด 32 หัว ซึ่งไม่มีผู้ผลิตรายใดในโลกผลิตตามสเปกนี้ นอกจากผู้ผลิตยี่ห้อหนึ่งดังกล่าวในข้อ 1 เพียงรายเดียว ในขณะที่ยี่ห้ออื่นก็สามารถทำงานได้ผลลัพธ์เหมือนกัน

 

3. รถอัดหินในประแจ (Switch and Cross Tamper) เป็นรถอัดหินที่ใช้อัดหินให้แน่นในบริเวณประแจราง ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้กำหนดสเปกว่าต้องเป็นเทคโนโลยีชนิดหัวแยก (Split Head) มีหัวอัดจำนวน 16 หัว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของผู้ผลิตยี่ห้อหนึ่งดังกล่าวในข้อ 1 เพียงรายเดียวเช่นกัน และไม่มีรายอื่นใดในโลกผลิตตามสเปกนี้ แต่สามารถทำงานได้ผลลัพธ์เหมือนกัน

 

4. รถสั่นหิน (Dynamic Track Stabilizer) ทำหน้าที่สั่นสะเทือนให้หินกระจายตัวในแนวระนาบเดียวกับราง เพื่อทำให้ชั้นหินแน่น โดย ร.ฟ.ท.ได้กำหนดสเปกที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตรายนั้นเช่นเดียวกัน ไม่มีผู้ผลิตรายอื่นในโลกที่ผลิตตามสเปกนี้ แต่สามารถทำงานได้ผลลัพธ์เหมือนกัน

พนักงาน ร.ฟ.ท.คนดังกล่าวให้ข้อมูลทางเทคนิคที่ลึกมาก แต่ผมสรุปสั้นๆ ให้เข้าใจง่าย แถมยังบอกด้วยว่า ผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ดังกล่าวผูกขาดงานของ ร.ฟ.ท.มาอย่างยาวนานหลายโครงการ ทำให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายของผู้ผลิตรายนั้นมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ ร.ฟ.ท. ถึงขนาดส่งคนไปนั่งประกบการทำงานของพนักงาน ร.ฟ.ท.ทุกวัน จนทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดว่าเป็นพนักงาน ร.ฟ.ท.คนหนึ่ง

 

แชร์วนให้ถึง"นายกฯตู่"!! "ดร.สามารถ" เดินหน้าท้วงประมูลสร้างรถไฟทางคู่ส่อเอื้อเอกชน เทียบซะเห็นภาพไม่ต่างร.ฟ.ท.ล็อกสเปกให้บริษัทในเครือ??

 

โดยสรุป ร.ฟ.ท.ยังไม่ได้ปรับแก้สเปกใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อเห็นชัดๆ กันอย่างนี้แล้ว ยังไม่สายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสั่งการให้ ร.ฟ.ท.ปรับแก้ เพื่อทำให้การประมูลโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณของประเทศครับ??

 

 

เรียบเรียง : ชัชรินทร์   สำนักข่าวทีนิวส์

ที่มาข้อมูล :  FB  สามารถ  ราชพลสิทธิ์