ที่สุดมหากาพย์ ..บาปกรรมระบอบทักษิณ!! ปปง.สั่งอายัดทรัพย์ "สุชาย - วิโรจน์ "อดีตผู้บริหารกรุงไทยทำผิดปล่อยกู้ KMC รอสอบโยงทำเสียหายภาครัฐ ??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

 

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่  26  สิงหาคม 2558   ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกาฯ) องค์คณะผู้พิพากษาที่มีนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน  ได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ,  ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย  ,   นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย และบริษัทในเครือของ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 27 คน  เป็นจำเลย  ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ความผิดต่อธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ความผิดต่อ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และความผิดต่อ พ.ร.บ. บริษัทมหาชน พ.ศ.2535 กรณีอนุมัติให้ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในกลุ่มของบริษัท กฤษดามหานคร จำกัด (มหาชน) รวมเป็นเงินกว่า 9.9 พันล้านบาท โดยมิชอบ เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ในคดีหมายเลขดำที่ อม.3/2555

 

โดยในขณะนั้นศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้จำหน่ายคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ออกจากระบบชั่วคราว พร้อมออกหมายจับ และได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 2 – 4  และจำเลยที่ 12 ซึ่งมี นายวิโรจน์ ในฐานะจำเลยที่ 3 รวมอยู่ด้วย 18 ปี ไม่รอลงอาญา และนำตัวส่งเรือนพิเศษกรุงเทพมหานครทันที  ส่วนจำเลย 6 และ 7 ยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ส่วนจำเลยที่เหลือ ศาลพิพากษาจำคุก และสั่งให้ชดใช้เงินให้แก่ธนาคารผู้เสียหายที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ 2 - 27 จะต้องร่วมชดใช้เงินให้แก่ธนาคารผู้เสียหายกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท 

 

ที่สุดมหากาพย์ ..บาปกรรมระบอบทักษิณ!! ปปง.สั่งอายัดทรัพย์ "สุชาย - วิโรจน์ "อดีตผู้บริหารกรุงไทยทำผิดปล่อยกู้ KMC รอสอบโยงทำเสียหายภาครัฐ ??

 

(สรุปบทลงโทษตามคำพิพากษา  :    จำเลยที่ 2-4 (อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย) และจำเลยที่ 12 (เจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย ระดับหัวหน้ากลุ่ม) มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ให้จำคุกคนละ 18 ปี

 

– จำเลยที่ 5 ที่ 8-11 และที่ 13-17 (อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารกรุงไทย) มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

 

– จำเลยที่ 18-27 มีความผิด ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 ประกอบประมวลวกฎหมายอาญา มาตรา 86 โดยจำเลยที่ 18-22 ซึ่งเป็นนิติบุคคลให้ปรับรายละ 26,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 23-27 ให้จำคุกคนละ 12 ปี

 

และให้จำเลยที่ 20 ที่ 25-26 ร่วมกันคืนเงิน 10,004.46 ล้านบาท แก่ธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย โดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 22 และที่ 27 ร่วมรับผิด 9,554.46 ล้านบาท จำเลยที่ 12-17 ที่ 21 ที่ 23 และที่ 24 ร่วมรับผิด 8,818.73 ล้านบาท จำเลยที่ 18 ร่วมรับผิด 450 ล้านบาท และจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8-11 และที่ 18 ร่วมรับผิด 8,368.73 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้ถ้าธนาคารกรุงไทย ผู้เสียหาย ได้รับชำระคืนแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้หักออกจากจำนวนที่สั่งให้คืนตามส่วน หากจำเลยที่ 18-22 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลวกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)

ต่อมาเมื่อปลายปี 2559 ภาคประชาชน นำโดยนายวันชัย  บุนนาค  ทนายความอิสระ  ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้ทาง ปปง.ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา   กรณีธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มบริษัทในเครือกฤษดามหานคร เพื่อการชำระหนี้คืนแก่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อเดือน ธ.ค.ปี 2546 

         

ทั้งนี้กรณีการปล่อยสินเชื่อโดยธนาคารกรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้แก่กลุ่มกฤษดามหานคร เพื่อกลับไปรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงเทพ  ถูกระบุว่าที่มาของการปล่อยสินเชื่อเพื่อรีไฟแนนซ์นั้นเนื่องจากกลุ่มกฤษดามหานครเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพ โดยช่วงรีไฟแนนซ์ในปี 2546 มีเงินต้นค้างชำระอยู่กว่า 7,800 ล้านบาท และมีดอกเบี้ยค้างชำระกว่า 5,000 ล้านบาท แต่ปรากฏหลักฐานก่อนที่จะมีการอนุมัติสินเชื่อเพียงไม่กี่วัน โดยทางธนาคารกรุงเทพได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ฉบับที่ 2 กับกลุ่มกฤษดามหานคร ซึ่งมีเงื่อนไขในสัญญาว่าหากมีการชำระหนี้เสร็จภายในเดือน ธ.ค.ปี 2546 ธนาคารกรุงเทพจะรับชำระหนี้เพียง 4,500 ล้านบาท และก็จะอนุมัติให้ไถ่ถอนหลักประกันที่นำมาจำนองไว้ทั้งหมด

         

ขณะเดียวกัน จากหลักฐานที่สามารถรวบรวมได้ทั้งหมดปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2546 กลุ่มกฤษดามหานครซึ่งเป็นลูกหนี้ที่ไปขอรีไฟแนนซ์กับธนาคารกรุงไทย ได้เบิกเงินกู้วงเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท ก่อนนำไปเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ให้กับธนาคารกรุงเทพเจ้าหนี้เดิมบางส่วนเป็นเงินประมาณ 4,500 ล้าน ก็จะเหลือวงเงินที่ไปขอรีไฟแนนซ์อีกประมาณ 3,500 ล้านบาท วงเงินที่เหลือดังกล่าวตกเป็นข้อสังเกตให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งดำเนินคดีอาญาต่อผู้เกี่ยวข้องในส่วนของธนาคารกรุงไทย และกลุ่มกฤษดามหานคร โดยศาลได้มีการพิพากษาตัดสินคดีไปแล้ว

 

โดยการยื่นคำร้องคณะผู้เสียหายได้มีการนำหลักฐานข้อมูลต่าง  ส่งมอบให้ทาง ปปง.ซึ่งรับผิดชอบพิจารณาคดีทางแพ่งได้ทราบว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำความผิดไม่ได้มีเพียงธนาคารกรุงไทย และกลุ่มกฤษดามหานคร แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีนี้ และคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คือ กลุ่มธนาคารกรุงเทพ และผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ ที่กระทำการลดหนี้จากจำนวนกว่า 14,000 ล้านบาท พร้อมกับมีการรับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 4,500 ล้านบาท และส่วนที่เหลือก็ยังไม่มีการเรียกเก็บ จึงเห็นว่าทาง ปปง.ก็ควรจะเดินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา  ก่อนที่คดีดังกล่าวที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.)  ได้มีมติให้รับโอนสำนวนมาสอบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ  จะหมดอายุความในปี  2561   

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6  ม.ค. ที่ผ่านมา ในราชกิจจานุเบกษาได้มี  ประกาศพนักงานเจ้าหน้าที่สํานักงาน ปปง. เรื่อง ให้ผู้เสียหายยื่นคําร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทําความผิดมูลฐานด้วย คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุมครั้งที่  22/2559  เมื่อวันที่ 15  ธันวาคม 2559   ให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดราย ร้อยโท สุชาย เชาว์วิศิษฐ กับพวก ไว้เป็นการชั่วคราว   จํานวน  9   รายการ พร้อมดอกผล มีกําหนดไม่เกิน  90  วัน (เก้าสิบวัน)

 

อาศัยอํานาจตามความในข้อ  4  แห่งระเบียบคณะกรรมการธุรกรรมว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2559 จึงขอให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินจากการกระทําความผิดมูลฐานในรายคดีข้างต้น และไม่อาจดําเนินการเพื่อขอคืนทรัพย์สินหรือชดใช้คืนความเสียหายดังกล่าวได้ตามกฎหมายอื่น หรือ ดําเนินการตามกฎหมายอื่นแล้วแต่ไม่เป็นผล ยื่นคําร้องพร้อมหลักฐานแสดงรายละเอียดแห่งความเสียหาย และจํานวนความเสียหายที่ได้รับต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักงาน ปปง. ภายในกําหนดเวลา  30  วัน นับแต่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ตามแบบคําร้องขอให้ศาลนําทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทําความผิดไปคืนหรือชดใช้ให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่www.amlo.go

   

เรียบเรียง   :  ชัชรินทร์   สำนักข่าวทีนิวส์