สาเหตุ ที่”พุทธศาสนา”สูญสิ้น ที่ “อินเดีย”  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ….อ่านแล้วลอง ย้อนดู “ตัวเรา”...

คลาดหลักกรรมคลำไปหาฤทธิ์ / โจรเข้ามาปล้นศาสนา เลยยกวัดให้แก่โจร / ศาสนสถานโอฬารหรู คือศัตรูของพระศาสนา

 

สาเหตุ ที่”พุทธศาสนา”สูญสิ้น ที่ “อินเดีย”  โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ….อ่านแล้วลอง ย้อนดู “ตัวเรา”...

"เหตุที่พุทธสูญสิ้น ที่อินเดีย"
โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 
(ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙)
 

            ข้อที่ควรจะกล่าวในที่นี้สักหน่อย เป็นคติในทางธรรม ก็คือเรื่องพระพุทธศาสนาสูญสิ้นไปจากอินเดีย ควรกล่าวถึงเหตุทั้งหลายที่ทำให้พุทธศาสนาต้องสูญสิ้นไปจากประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนเมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐

 

๑. เหตุอันแรกที่เราเห็นได้ พูดง่ายๆ ว่า ชาวพุทธเราใจกว้าง แต่ศาสนาอื่นเขาไม่ใจกว้างด้วย นี่ก็เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาสูญสิ้นไป เพราะว่าเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้น ก็สอนแต่เพียงหลักธรรมเป็นกลางให้คนประพฤติดี ทำความดี จะนับถือหรือไม่นับถือก็ไม่ได้ว่าอะไร ถ้าเป็นคนดีแล้วก็ไปสู่คติที่ดีหมด ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นชาวพุทธจึงจะไปสวรรค์ได้ หรือว่าชาวพุทธที่มานับถือแล้วทำตัวไม่ดีก็ไปนรกเหมือนกัน อะไรทำนองนี้

.

เมื่อชาวพุทธได้เป็นใหญ่ เช่นอย่างพระเจ้าอโศกมหาราชครองแผ่นดินก็อุปถัมภ์ทุกศาสนาเหมือนกันหมด แต่ผู้ที่ได้รับอุปถัมภ์เขาไม่ได้ใจกว้างตามด้วย เพราะฉะนั้นพวกอำมาตย์พราหมณ์ของราชวงศ์อโศกเอง ก็เป็นผู้กำจัดราชวงศ์อโศก จะเป็นว่าอำมาตย์ที่ชื่อปุษยมิตรก็ได้ปลงพระชนม์พระเจ้าแผ่นดินที่เป็นหลานของพระเจ้าอโศก แล้วตั้งราชวงศ์ใหม่ที่กำจัดชาวพุทธ อย่างที่เล่าเมื่อกี้ แต่ก็กำจัดได้ไม่เสร็จสิ้น มีมาเรื่อย จนกระทั่งถึงพระเจ้าหรรษวรรธนะครองราชย์ อำมาตย์ฮินดูก็กำจัดพระองค์เสียอีก ก็เป็นมาอย่างนี้ จนในที่สุดมุสลิมก็เข้ามาบุกกำจัดเรียบไปเลย เมื่อ พ.ศ.๑๗๐๐ นี้ก็เป็นเหตุอันหนึ่งที่เห็นได้ง่าย ยังมีเหตุอื่นอีก ชาวพุทธเองก็เป็นเหตุด้วย อย่าไปว่าแต่คนอื่นเขา

.

ใจกว้างจนลืมหลัก เสียหลักจนถูกกลืน

.

ในด้านหนึ่ง ความใจกว้างของชาวพุทธนั้น บางทีก็กว้างเลยเถิดไป จนกลายเป็นใจกว้างลืมหลักหรือใจกว้างอย่างไม่มีหลัก ไม่ยืนหลักของตัวไว้ กว้างไปกว้างมาเลยกลายเป็นกลมกลืนกับเขา จนศาสนาของตัวเองหายไปเลย ที่หายไปให้เห็นอย่างชัดเจนก็คือ ไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ตอนที่มุสลิมยังไม่เข้ามา ศาสนาพุทธเราก็อ่อนมากแล้ว เพราะไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดูมาก ปล่อยให้ความเชื่อถือของฮินดูเข้ามาปะปน

.

อย่างในถ้ำอชันตา เป็นที่แสดงประวัติพระพุทธศาสนาได้อย่างดี จะเห็นได้ตั้งแต่เจริญจนถึงเสื่อม ตอนต้นจะเห็นว่าเดิมก็บริสุทธิ์ดี เป็นพุทธศาสนาเถรวาท ต่อมาก็กลายเป็นมหายาน มีคติความเชื่อของทางฮินดูเข้ามาปะปนมากขึ้น ผลที่สุดพุทธหมด จะเห็นได้ที่เอลโลร่า ผลสุดท้ายเหลือแต่ถ้ำฮินดู ถ้ำพุทธถูกกลืนหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นคติสอนใจอันหนึ่งที่ว่าใจกว้างจนลืมหลัก ไม่ยืนยันรักษาหลักของตัวเองไว้ กลมกลืนจนกระทั่งตัวเองสูญหายไป

.

ในความใจกว้างและกลมกลืนนั้น มีเรื่องหนึ่งที่น่าจะกล่าวไว้ คือลักษณะการกลมกลืนกับศาสนาฮินดู ศาสนาฮินดูนั้นมีลักษณะสำคัญคือ การเชื่อเรื่องฤทธิ์เรื่องปาฏิหารย์ เรื่องการดลบันดาลของเทพเจ้า ตอนที่คณะเดินทาง (เยือนอินเดียของท่านพระธรรมปิฎก) โยมจะได้ยินท่านพระครูทวี (ไกด์) เล่าถึงนิทานของฮินดูมากมาย มีแต่เรื่องเทพเจ้าองค์นั้นมีฤทธิ์อย่างนั้น ดลบันดาลอย่างนั้น สาปกันอย่างนั้น เอาฤทธิ์มาใช้ทำลายกันต่างๆ โดยมากเป็นเรื่องของโลภะโทสะโมหะ พุทธศาสนาในยุคหลังก็ทำให้คนไปหวังพึ่งเรื่องฤทธิ์ เรื่องเทพเจ้าอะไรต่ออะไรมากขึ้น จนลืมหลักของตัวเอง

คลาดหลักกรรมคลำไปหาฤทธิ์

.

๒. ในทางพระพุทธศาสนานั้น จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าก็มีฤทธิ์เหมือนกัน เป็นปาฏิหารย์อย่างหนึ่งในบรรดาปาฏิหารย์ ๓ แต่ต้องยืนยันหลักไว้เสมอว่า ปาฏิหารย์ที่สำคัญที่สุดคืออนุศาสนีปาฏิหารย์ ปาฏิหารย์ที่เป็นหลักคำสอน ไม่ใช่ปาฏิหารย์ที่เป็นการแสดงฤทธิ์ต่างๆ ในทางพุทธศาสนาให้ถือการกระทำของเราเป็นหลัก ส่วนฤทธิ์หรือเทพเจ้านั้น จะมาเป็นตัวประกอบหรือช่วยเสริมการ กระทำของเรา จะต้องเอาการกระทำของตัวเองเป็นหลักเสียก่อน ถ้าหากว่าเราไม่เอาการกระทำหรือกรรมเป็นหลัก เราก็จะไปหวังพึ่งการดลบันดาลของเทพเจ้า หวังพึ่งฤทธิ์ของผู้อื่นมา ทำให้ ไม่ต้องกระทำด้วยตนเอง ก็งอมืองอเท้า มันก็มีแต่ความเสื่อมไป

.

จุดที่เสื่อมก็คือตอนที่ชาวพุทธลืมหลักกรรม ไม่เอาการกระทำของตัวเองเป็นหลัก ไปหวังพึ่งเทพเจ้า ไปหวังพึ่งฤทธิ์พึ่งปาฏิหารย์ ตราบใดที่เรายืนหลักได้ คือเอากรรมเอาการกระทำเป็นหลัก แล้วถ้าจะไปนับถือฤทธิ์ปาฏิหารย์บ้าง ฤทธิ์ปาฏิหารย์นั้น ก็มาประกอบมาเสริมการกระทำก็ยังพอยอม แต่ถ้าใครใจแข็งพอก็ไม่ต้องพึ่งฤทธิ์ ไม่ต้องพึ่งปาฏิหารย์อะไรทั้งสิ้น เพราะพุทธศาสนานั้น ถ้าเราเอากรรมหรือการ กระทำเป็นหลักแล้ว ก็จะยืนหยัดอยู่ได้เสมอ

.

เฉยไม่ใช่ไร้กิเลส แต่เป็นเหตุให้พระศาสนาสิ้น

.

๓. อีกอย่างหนึ่งที่ควรระวัง คือพอมีภัยหรือเรื่องกระทบกระเทือนส่วนรวม ชาวพุทธไม่น้อยมีลักษณะที่วางเฉย ไม่เอาเรื่อง แล้วเห็นลักษณะนี้เป็นดีไป เห็นว่าใครไม่เอาเรื่องเอาราว มีอะไรเกิดขึ้นก็เฉยๆ ไม่เอาเรื่อง กลายเป็นดีไม่มีกิเลส เห็นอย่างนี้ไปก็มี ในทางตรงข้ามถ้าไปยุ่งก็แสดงว่ามีกิเลส อันนี้อาจจะพลาดจากคติพุทธศาสนาไปเสียแล้ว และจะกลายเป็นเหยื่อเขา ในทางพุทธศาสนานั้น ผู้ไม่มีกิเลสท่านยุ่งกับเรื่องที่กระทบกระเทือนกิจการส่วนรวม แต่การยุ่งของท่านมีลักษณะที่ไม่เป็นไปด้วยกิเลส คือทำด้วยใจที่บริสุทธิ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทำเป็นคติไว้แล้ว ตั้งแต่สมัยพุทธกาล

.

กิจการส่วนรวมเป็นเรื่องที่จะต้องร่วมกันพิจารณาเอาใจใส่ นี้เป็นคติทางพุทธศาสนา แต่ในบางยุคบางสมัยเราไปถือว่าไม่เอาธุระ จะมีเรื่องราวกระทบกระเทือน มีภัยเกิดขึ้นกับส่วนรวมก็ไม่ยุ่งไม่เกี่ยวอะไรต่างๆ แล้วเป็นว่าไม่มีกิเลสไปก็มี อย่างนี้เป็นทางหนึ่งของความเสื่อมในพระพุทธศาสนา คติที่ถูกต้องนั้นสอดคล้องกับหลักความจริงที่ว่า พระอรหันต์หรือท่านผู้หมดกิเลสนั้น เป็นผู้บรรลุประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้ว หมดกิจที่จะต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว จึงมุ่งแต่จะบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น ขวนขวายในกิจของส่วนรวมอย่างเต็มที่

.

โจรเข้ามาปล้นศาสน์ เลยยกวัดให้แก่โจร

.

๔. อีกอย่างหนึ่งคือ การฝากศาสนาไว้กับพระ ชาวพุทธเป็นจำนวนมากทีเดียวชอบฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว แทนที่จะถือตามคติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระศาสนานั้นอยู่ด้วยบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่ใช่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง แต่จะต้องช่วยกัน

.

ทีนี้ พวกเรามักจะมองว่าพระศาสนาเป็นเรื่องของพระ บางทีเมื่อมีพระประพฤติไม่ดี ชาวบ้านบางคนบอกว่าไม่อยากนับถือแล้วพุทธศาสนาอย่างนี้ก็มี แทนที่จะเห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของเรา พระองค์นี้ประพฤติไม่ดีเราต้องช่วยกันแก้ ต้องเอาออกไป แทนที่จะคิดอย่างนั้น กลับกลายเป็นว่าเรายกศาสนาให้พระองค์นั้น เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นบ้านของเรา แทนที่จะรักษาสมบัติของเรา กลับยกสมบัตินั้นให้โจรไปเสีย พระองค์ที่ไม่ดีก็เลยดีใจกลายเป็นเจ้าของศาสนา เรายกให้แล้วบอกไม่เอาแล้วศาสนานี้ เป็นอย่างนี้ก็มี นี่เป็นทัศนคติที่ผิด ชาวพุทธเราทั่วไปไม่น้อยมีความคิดแบบนี้ ทำเหมือนกับว่าพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของพระ เราก็ไม่ต้องรู้ด้วย

.

พุทธแต่ในนาม ไม่ต้องทำอะไรก็เป็นพุทธ

.

ยิ่งกว่านั้น ชาวพุทธมักไม่มีข้อปฏิบัติประจำตัวของตัวเองอย่างในศาสนาอื่น ยกตัวอย่างชาวมุสลิม เขาต้องมีละหมาดวันละ ๕ ครั้ง เป็นข้อปฏิบัติที่แสดงว่าเป็นศาสนิกของศาสนานั้นๆ แต่ชาวพุทธคฤหัสถ์ของเราไม่ค่อยมีข้อปฏิบัติของตัวเองที่ชัดออกมาว่า ถ้าเป็นชาวพุทธจะต้องปฏิบัติตัว ต้องรักษาข้อปฏิบัติอะไรบ้าง ดังนี้ เมื่อไม่มีพระเป็นหลักศาสนาก็หมด ตอนนั้นมุสลิมมาฆ่าพระหมด ชาวพุทธที่เป็นคฤหัสถ์ไม่มีหลักเลยถูกฮินดูกลืนหมด เพราะฉะนั้น ที่ว่าสูญสิ้นนั้น คือหนึ่ง ถูกเขาปราบทำลาย สอง ถูกเขากลืนไปง่ายๆ นี่เป็นเพราะฝากพระศาสนาไว้กับพระอย่างเดียว นี่เป็นอีกข้อหนึ่ง

.

กลืนกับฮินดู แต่ไกลกับมวลชน

.

อีกข้อหนึ่งที่โน้มไปในทางที่ทำให้เกิดการกลมกลืนได้ง่ายก็คือ ตอนที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองอยู่แล้ว และราชวงศ์ฮินดูขึ้นครองราชย์มีอำนาจเข้มแข็งเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา ชาวพุทธก็ใจอ่อนเพราะความใจกว้างอยู่แล้ว ก็เอาใจผู้ปกครอง อย่างนั้นก็ได้ยังไงก็ได้ ไปๆ มาๆ เลยกลายเป็นหายไปเลย กลมกลืนกันไปหมด แต่ไปรวมอยู่ข้างในศาสนาฮินดู พระพุทธเจ้ากลายเป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์

.

อีกข้อหนึ่งก็คือพระ พอได้รับการอุปถัมภ์มากมีความสุขสบาย บางส่วนก็มีความประพฤติย่อหย่อน และอาจจะเหินห่างจากประชาชนทั่วๆ ไป เพราะว่าได้รับความอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์เป็นต้น อย่างที่มหาวิทยาลัยนาลันทาที่ว่ารุ่งเรืองนั้น มีความเสื่อมอยู่ในตัวด้วย พระเจ้าแผ่นดินยกหมู่บ้านที่อยู่รอบบริเวณนั้น เก็บภาษีถวายบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทา พระสงฆ์ก็เลยไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชน อาศัยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าแผ่นดินอยู่สบาย เรียนหนังสือไปเป็นนักปรัชญาอะไรต่ออะไรถกเถียงกันไป ห่างประชาชนนานๆ เข้า พุทธศาสนาก็หมดความหมายไปจากประชาชน

.

ศาสนสถานโอฬารหรู เครื่องเชิดชูหรือศัตรูของพระศาสนา

.

ต่อจากนั้นก็มาถึงคติการสร้างสิ่งใหญ่โต ให้สังเกตว่าเมื่อมีการสร้างสิ่งใหญ่โต มากๆ ไม่ช้าศาสนามักจะค่อยๆ เสื่อม บางทีพระอาจจะมัววุ่นวายหรือเพลินกับงานพวกนี้ จนลืมทำหน้าที่หลักของตัวเอง ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดว่าเป็นเพราะเรื่องอะไร แต่อย่างน้อยข้อพิจารณาสำคัญ คือจะต้องแยกว่าเป็นการก่อสร้างเพื่อใช้งานที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นการสร้างเพียงเพื่อแสดงความยิ่งใหญ่

.

จะอย่างไรก็ตาม ในการสร้างสิ่งใหญ่โตจะต้องคำนึงถึงเสมอว่า จะต้องมีคนไว้ใช้สิ่งก่อสร้างนั้น เอาไว้รักษาบ้าง เอาไว้ใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง เพราะสร้างขึ้นมาทำไม ถ้าไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ ทีนี้คนที่จะใช้ก็ต้องเป็นคนที่มีธรรม เป็นผู้ปฏิบัติตามธรรม เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างสิ่งก่อสร้างใหญ่โตก็ต้องสร้างคนไปด้วย สร้างคนดีที่จะมาใช้รักษาสิ่งที่สร้างนั้น

.

การลืมสร้างคนนี้ อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรมลงไป เพราะฉะนั้นสิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โตนั้น เมื่อเหลือหลงมาก็กลายเป็นเหยื่อของผู้อื่นต่อไป หนึ่ง ก็กลายเป็นสิ่งมีค่าที่เขาอยากครอบครอง สอง เขาก็เอาไปใช้ในศาสนาของเขา ถ้าไม่ใช้เขาก็เอามาลบหลู่ให้เป็นที่กระทบกระเทือนใจแก่พวกเรา อย่างที่ได้ไปเห็นกันหลายๆ แห่ง..

 

 

 

โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ 
(ประยุทธ์ ปยุตฺโต ป.ธ.๙)

 

 

จินต์จุฑา รายงาน 

ที่มา : ชุมนุมพุทธธรรมกรรมฐาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์