วิจารณ์แซด !!! "บิ๊กไทยพีบีเอส" ล้วงเงินสถานี 100 ล้าน ซื้อหุ้น "ซีพี" งานนี้โดนตั้งคำถาม? ฉุดภาพลักษณ์องค์กรสื่อสาธารณะ ใช่หรือไม่ ??

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ขณะนี้กำลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่พนักงานไทยพีบีเอส กรณีที่ฝ่ายบริหารได้นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) เป็นจำนวนมาก แต่ไม่ทราบจำนวนเงินที่แน่นอน โดยการนำเงินไปซื้อหุ้นอาจส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยเฉพาะการทำข่าวเกี่ยวกับภาคประชาชน เกษตรกรรายย่อย นอกจากนั้นอาจเป็นการขัดต่อมาตรา 11 พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในเรื่องการนำเงินทุนและรายได้ขององค์การไปใช้ ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่

 

ซึ่งในเรื่องนี้ล่าสุด นายกฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส เปิดเผยว่า เดือนม.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเงินทุนหมุนไปลงทุนซื้อหุ้นกู้ ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จากธนาคารที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นการลงทุนหุ้นกู้ลักษณะการซื้อตราสารหนี้ โดยได้ดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ที่ไม่มีความเสี่ยง โดยไม่ได้เป็นการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่อย่างใด

การลงทุนซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนปกติ ของ ส.ส.ท. ตาม พ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ตามมาตรา 11 เรื่องทุน ทรัพย์สินและรายได้ขององค์กร (7) ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร ตามพ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีสุราและยาสูบอัตรา 1.5% สูงสุดไม่เกินปีละ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับการจัดสรรตลอดปี แต่ช่วงต้นปีจะได้รับเงินจัดสรรก้อนใหญ่กว่าทุกช่วง คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่ต้องบริหารเงินทุนหมุนเวียนในแต่ละปีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงสุดภายใต้ พ.ร.บ. กำหนดให้สามารถดำเนินการได้รูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา เพื่อบริหารเงินและสินทรัพย์องค์กร ตามมาตรา 11 (7) ใช้วิธีทั้งการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว เช่น การฝากเงินกับธนาคารทั้งรัฐและเอกชน ,การลงทุนตราสารหนี้ ทั้งภาคเอกชน พันธบัตรภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารเงินทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด การซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์แล้วว่า เป็นหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ A+ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหุ้นกู้บริษัทเอกชนและพันธบัตรขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ราว 2% รวมทั้งสูงกว่าเงินฝากธนาคารระยะสั้นและระยะ 12 เดือน  ซึ่งในแต่ละปีไทยพีบีเอส มีผลตอบแทนจากการบริหารเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนต่างๆประมาณ 40 ล้านบาทต่อปี “การซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ เป็นการลงทุนปกติ ตามที่ พ.ร.บ. กำหนดให้ดำเนินการได้ และการซื้อหุ้นกู้ ได้ผลตอบแทนตามหนังสือชี้ชวนและสามารถขายได้ ต่างจากการลงทุนซื้อหุ้นในตลาดฯ ที่มีความเสี่ยงและไทยพีบีเอส ไม่มีนโยบายลงทุนในตลาดฯ”

นายกฤษดา กล่าวอีกว่าการซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวของกลุ่มซีพี ซึ่งไทยพีบีเอสพร้อมให้ทุกองค์กรและประชาชน ตรวจสอบการนำเสนอข่าวเครือซีพีหลังจากนี้ ที่ยังมุ่งผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอส ฝากเงินกับธนาคารรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการลงทุนให้เกิดดอกผลจากเงินทุนหมุนเวียน และธนาคารที่ฝากเงิน ไม่มีผลต่อการนำเสนอข่าวของไทยพีบีเอส แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามการบริหารเงินทุนดังกล่าวได้แจ้งต่อ คณะกรรมการนโยบาย เดือนก.พ.ที่ผ่านมา และพร้อมชี้แจงในการประชุมบอร์ด นโยบายอีกครั้งในเดือนมี.ค.นี้

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในผู้จัดการการจัดจำหน่าย หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนของ CPF โดยหุ้นกู้นี้ผู้ออกหุ้นกู้จะไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัทหรือผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนดหลังจาก 5 ปีแรก และมีสิทธิเลื่อนชำระดอกเบี้ยพร้อมกับสะสมดอกเบี้ยค้างชำระไปชำระในวันใดๆ ก็ได้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ โดยดอกเบี้ย 5 ปีแรกเท่ากับ 5% ต่อปี และหลังจากนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด กำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อไปใช้ในกิจการของบริษัท

เรียบเรียงโดย บุญชัย ธนะไพรินทร์