"สนธิญาณ" ชี้! การเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร 2475 เป็นการรัฐประหาร ไม่ใช่การปฏิวัติ และแม้ ดร.ปรีดีเองก็ยอมรับ !!!

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tnews.co.th

 

ยุคล : ต้อนรับคุณผู้ชมกลับมาในรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ เชื่อว่าคุณผู้ชมหลายท่านรอติดตามผ่านหน้าจอสปริงส์นิวส์และเฟซบุ๊กของสำนักข่าวทีนิวส์ตามที่คุณสนธิญาณ ผู้อำนวยการสำนักงานทีนิวส์ได้โปรโมทเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมาชำแหละประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทย นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถ้าเราพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ต้องย้อนทวนความกับสักนิดนึงนะครับว่า ต้นสายปลายเหตุนั้นเกิดจากประเด็นของหมุดคณะราษฎรที่หายไป และมีการพูดถึงการเรียกร้องให้รัฐบาล ให้ตำรวจดำเนินการติดตามหาหมุดคณะราษฎรกลับมาประจำการอยู่ที่เดิม และภายใต้บรรยากาศของการทวงถามนั้นก็ทำให้เกิดการหยิบยกข้อมูลทางด้านประวัติศาสตร์ขึ้นมาถกเถียงกันอีกครั้งหนึ่ง ฉะนั้นวันนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน คุณสนธิญาณจะมาจำแนกแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยของพวกเราให้ได้ทำความเข้าใจกัน ฉะนั้นจึงมากันที่หัวข้อที่ว่า เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เผด็จการ หรือประชาธิปไตย ก่อนอื่นเราไปทักทายคุณสนธิญาณกันก่อน สวัสดีครับ

 

สนธิญาณ : สวัสดีครับท่านผู้ชมสปริงส์นิวส์และแฟนข่าวทีนิวส์ทุกท่าน

 

ยุคล : ถ้าว่ากันที่คนรุ่นหลัง พอพูดถึงคำว่าหมุดคณะราษฎรผมเชื่อว่าหลายคนสงสัยว่าทำไมต้องทวงคืน เป็นแผ่นทองเหลืองกลมๆ อยู่แถวลานพระรูป แล้วทำไมถึงนำมาสู่ความขัดแย้งอะไรมากมายแบบนี้ คืออย่างไรครับ ถ้าอธิบายในมุมของคุณสนธิญาณให้คนรุ่นใหม่เข้าใจ

 

สนธิญาณ : ผมเรียนก่อนว่าหมุดคณะราษฎรดังกล่าวเป็นหลักฐานที่คณะราษฎรสร้างไว้ เพื่อจะเป็นประจักษ์พยาน หรือจะแสดงนัยยะอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามแต่ ให้เห็นว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทีนี้หลังจากที่เกิดประเด็นว่าหมุดหาย เกิดประเด็นที่น่าสนใจและต่อเนื่องจากสถานการณ์การเมืองก่อนหน้านี้ที่เป็นมา บ้านเมืองของเราเมื่อการเมืองเข้าสู่ยุคของการแบ่งแยกซ้ายขวา ซึ่งเริ่มต้นมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จะชัดเจนเลยว่าฝั่งหนึ่ง ถ้ารักสถาบันชื่นชมแบบเดิมพวกนี้จะเป็นพวกเอียงขวา พวกที่ใฝ่ใจในลัทธิคอมมิวนิสต์หรืออ่อนลงมาเป็นสังคมนิยม หรือเสรีก้าวหน้าพวกนี้เรียกว่าฝ่ายซ้าย แต่การพัฒนาการต่อสู้พวกนี้ก็มาถึงจุดแตกหักในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เกิดการรัฐประหาร เกิดการเข่นฆ่าอย่างรุนแรงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และที่สนามหลวง นักศึกษาประชาชนผู้รักความเป็นธรรมจำนวนหนึ่งเข้าป่า บางส่วนก็ต่อสู้อยู่ในเมือง แต่หลักการชัดเจนคือจับปืนสู้กับอำนาจรัฐในขณะนั้นเพื่อหวังจะเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไปสู่ระบบสาธารณรัฐประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การต่อสู้ดังกล่าวดำเนินการมาปี 2524 แล้วเราจะต้องตัดเอาประวัติศาสตร์มาให้เห็นเป็นช่วงๆ พรรคคอมมิวนิสต์ที่ประชาชน นักศึกษาไปร่วมอ่อนล้า อุดมการณ์ถูกท้าทาย ถูกตั้งคำถาม สถานการณ์โลกในขณะนั้นเกิดสับสนอลหม่าน คอมมิวนิสต์ขัดแย้งกันเอง นักศึกษาเหล่านั้นก็กลับมา กลับมาเสร็จหลายส่วนได้พัฒนาตัวเองมาจนถึงยุคปัจจุบัน บางส่วนก็ไปเล่นการเมืองอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ บางส่วนก็ไปเกาะอยู่กับฝั่งทหาร และชัดเจนบางส่วนวันนี้มาเกาะอยู่กับคุณทักษิณ ชิณวัตร ไม่เอ่ยชื่อชื่อนี้ไม่ได้ เพราะปัญหาเรื่องหมุดเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เกี่ยวข้องกับทักษิณ รวมถึงกลุ่มที่เรียกว่า นปช. และคนเสื้อแดง ปรากฏการณ์ของฝ่ายซ้ายเดิมมีการตั้งคำถามต่อสิ่งที่ตัวเองได้พบได้เจอมา และเปลี่ยนแปลงไปมากมาย หลายส่วนหันกลับมาศึกษาพบข้อเป็นจริงบางประการ เห็นว่าสถาบันเป็นสถาบันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย สิ่งที่ได้รู้ได้เห็นไม่ได้เป็นเหมือนกับที่เราคิด ว่ามีดำและขาว มีดำมีขาวมีเทามีการผสมผสานการดำรงอยู่ในหลากหลายมิติ นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ประจักษ์ขึ้น แต่บางส่วนยังกลายเป็นซ้ายไดโนเสาร์ไปปลุกปั่น ให้เกิดซ้ายไร้เดียงสา มาอยู่ในคณะของระบอบทักษิณ พวกนี้ล่ะครับ ที่วันนี้คือพวกที่ออกมาโวยวาย มาวุ่นวายมาสร้างกระแสทั้งๆ ที่ตัวเองไม่รู้ว่าเข้าใจข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ข้อเท็จจริงหรือไม่ หรือเพียงแต่เป็นลิเบอร่าน แสดงความเก่งกล้าสามารถให้นายของตัวเองเห็น เพื่อจะได้รับเงินสนับสนุน หรือแสดงความเก่งกล้าสามารถให้เห็นว่าฉันเป็นคนก้าวหน้า ผมก็ต้องเรียนแบบนี้ครับว่า ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยอยู่ เคยเป็นฝ่ายซ้าย และไม่เคยสำนึกเสียใจในการที่เป็นฝ่ายซ้าย เพราะทำให้ผมเปลี่ยนตัวเองจากนักเลงกลายมาเป็นนักสู้เพื่อประชาชน มาเป็นคนที่คิดถึงสังคม ถึงส่วนรวมมากกว่าเรื่องของตัวเอง มากกว่าเรื่องไปตีรันฟันแทงตามปกติ ไม่เสียใจที่ได้ศึกษาทฤษฎีอันเป็นวิทยาศาสตร์ทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นไดเรกติกซ์ วัตถุนิยม วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ ไปจนถึงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ และทฤษฎีอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและนำพามาสู่จุดในปัจจุบัน ผมก็ต้องเรียนให้ชัดว่า วันหนึ่งได้ทำการศึกษาเรียนรู้เข้าใจว่าสถาบันนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อสังคมไทย ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาว มิเช่นนั้นวันนี้ประเทศไทยจะไม่มีความเป็นประเทศ อาจจะเป็นรัฐหนึ่งที่สังกัดอยู่ในประเทศเมียนมา เหมือนกับ 6 - 7 รัฐที่เป็นอยู่ เพราะเราเคยพ่ายแพ้และเป็นเมืองขึ้นต่อพม่า เราเข้มแข็งเรายืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบัน เพราะเรามีสถาบันที่แข็งแรง และสถาบันได้แสดงจุดยืนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์มีธรรมะเป็นเครื่องชี้นำ มีธรรมที่เรียกว่าทศพิธราชธรรม ในการดูแลบริหารบ้านเมืองและดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่าน เราได้เห็นพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงงานหนักในช่วงระยะเวลา 70 ปี ได้สร้างสรรค์ประเทศของเราจนเกินเหลือคณานับ เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่ไม่สามารถจะเอ่ยอ้างได้ แต่ในขณะเดียวกันท่านผู้ชมจำนวนหนึ่งจะต้องทำความเข้าใจ ผมเป็นคนที่มีความศรัทธาต่ออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 40 ปีที่ได้ศึกษาประวัติและผลงานของท่าน สิ่งที่กำลังเห็นอยู่ในสังคมอยู่ในขณะนี้ คือการด่าว่ากันอย่างรุนแรง การถกเถียงเอาชนะแบ่งเป็นสองขั้ว อีกฝั่งหนึ่งเลว อีกฝั่งหนึ่งดี อีกฝั่งหนึ่งก็ดีอย่างเดียว เลวอย่างเดียว ทำไมถึงเป็นแบบนี้ เป็นแบบนี้เพราะเราไม่ได้ศึกษา เราไม่ได้เรียนรู้ข้อเท็จจริง เราเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เราเอาผลประโยชน์เป็นที่ตั้งโดยเฉพาะกลุ่มการเรียกว่าลิเบอร่านที่ออกมาเคลื่อนไหว ที่อ้างอิงคำว่าประชาธิปไตย อ้างอิง 85 ปีประชาธิปไตย อ้างอิงการปฏิบัติหรือผมเรียกว่าการรัฐประหารปี 2475 ว่าเป็นประชาธิปไตยและบูชาอย่างคลั่งไคล้โดยไม่เคยเข้าใจว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร จะนำพาไปสู่ประเทศชาติและบ้านเมืองเสียหาย การหายไปของหมุดคณะราษฎรทำให้การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ได้ออกมาพูดกันอีกครั้งหนึ่งในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง แต่ผมอยากให้เราได้ศึกษาและเป็นการนำประวัติศาสตร์มาเรียนรู้กันอย่างจริงจัง และเข้าใจในความเป็นจริงในบริบทที่ผ่านมา นี่เกริ่นก่อนนะครับรับรองว่าวันนี้ความจริงทั้งหลายอีกแง่มุมหนึ่งที่ท่านไม่เคยรู้ ไม่เคยได้ยิน หรือแม้แต่คำว่าการเปลี่ยนแปลง 2475 เป็นการรัฐประหาร ที่ไม่ใช่การปฏิวัติ ผมยืนยัน

 

ยุคล : นอกเหนือจากเรื่องของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ คุณสนธิญาณมีคำอธิบายหรือจะบอกกับคุณผู้ชมไหมครับว่า จู่ๆ หมุดคณะราษฎรหายไปได้อย่างไร แล้วหายไปอย่างไร คนสนใจในเรื่องนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

 

สนธิญาณ : ไม่มีใครสามารถรู้ได้ก็หายไป แล้วก็ไม่ใช่โบราณวัตถุ ไม่ใช่สมบัติของรัฐ จู่ๆ หายไปแล้วมาติดยึดกับวัตถุอันหนึ่ง ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์คือเนื้อหาและความจริงที่ดำรงอยู่ ไม่ใช่ว่าพูดเรียกร้อง ก็หายไปครับ ใครจะไปรู้อาจจะมีคนเก็บโลหะทองเหลืองไปชั่งขายก็เป็นได้ แต่แน่นอนมีของมาเปลี่ยน แสดงว่ามีคนเจตนา ซึ่งคนเจตนาจะบรรลุเป้าหมายของตัวเองหรือไม่ นี่น่าคิดแล้ว เพราะหลักจากหมุดหาย ประวัติศาสตร์ 2475 ถูกหยิบยกมาพูด ถูกมาไล่เรียงมาลำดับความกันใหม่ เหมือนที่เราได้เอามาพูดวันนี้ ซึ่งการพูดของผมวันนี้ชัดเจน จะชี้ให้เห็นว่าพวกลิเบอร่าน พวกอาจารย์ที่เก็บกดพวกนี้ขาดการศึกษาที่แท้จริง และถ้าสนใจจะเรียกเปลี่ยนกับผม ได้ทุกที่ทุกเวลาครับ

 

ยุคล : เอาล่ะครับท่านผู้ชม เกริ่นเบรคแรกไว้แบบนี้ก่อนล่ะกัน ย้ำนะครับหัวข้อของเราในวันนี้ก็คือเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เผด็จการหรือว่าประชาธิปไตย ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่เดียวครับ

ยุคล : กลับเข้ามาในช่วงที่สองยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ ไม่รอช้าเราไปพบกับคุณสนธิญาณจะได้เริ่มนับหนึ่งการอธิบายข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

 

สนธิญาณ : ผมเรียนแบบนี้ครับ ว่าถ้าเราจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ต้องดูบริบทการเมืองโลก การเมืองในประเทศไทย ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการเมืองโลก ประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการเมืองในประเทศไทย และการก่อกำเนิดขึ้นของคณะราษฎร จะต้องพิจารณาตัวบุคคลเป็นรายบุคคล ซึ่งมีส่วนสำคัญอยู่ไม่กี่คน ทหารที่เป็นทหารหลัก ทหารอาวุโส กลุ่มแรกที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มีอยู่ 4 คน เขาเรียกว่า 4 ทหารเสือ คือ  พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน), พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน), พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นี่ชุดแรกครับ ชุดที่สองคือทหารหนุ่ม นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) จำชื่อนี้ไว้ให้ชัดครับ คนต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เป็นฝ่ายตัวแทนของพลเรือน นี่คือผู้ที่มีบทบาทหลักอยู่ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่นี้เราต้องมาทำความรู้จักก่อนว่าสถานการณ์โลกในขณะนั้นมีมหาอำนาจที่คุกคามประเทศอื่นหลักๆ อยู่ 2 ประเทศ คือ อังกฤษ กับฝรั่งเศส ซึ่งประเทศไทยเราและประเทศในเอเชียทั้งหลายโดนอังกฤษ ฝรั่งเศสเข้าครอบงำปกครอง เข้ายึดดินแดนหรือเข้าครอบคลุมทั้งประเทศ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ประเทศไทยเราก็เจอไปเสียดินแดนไปสิบกว่าครั้ง ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เล็งเห็นความสำคัญในการที่จะยืนหยัดต่อสู้กับเจ้าอาณานิคม พวกจักรวรรดินิยมทั้งหลาย ส่งพระราชโอรสไปเรียนที่ยุโรป ไปเรียนทุกแขนง เรียนช่าง เรียนทหารเรือ เรียนกฎหมาย เรียนทหารบก เพื่อจะนำองค์ความรู้ไว้ต่อสู้กับฝรั่ง ส่วนปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อจากนั้น หลังจากที่พระราชโอรสทั้งหลายไปเรียนมาก็กลับมาบริหารราชการบ้านเมือง ในการบริหารราชการบ้านเมือง จึงเกิดประเด็นที่ชัดเจนขึ้นว่าบรรดาผู้บริหารระดับสูงของประเทศทั้งหมด ล้วนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเป็นพระราชโอรสของรัชกาลที่ 5 แน่นอนครับ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ธรรมดาหรือผู้ที่มาเชื้อพระวงศ์ล้วนเป็นมนุษย์ปุถุชน มีกิเลส มีโลภ มีหลง มีอิจฉา มีริษยา ก็เกิดประเด็นปัญหาของการถกเถียงกันเอง ขัดแย้งกันเองในหมู่พระราชวงศ์กับพระราชวงศ์กันเอง และข้าราชการระดับสูง

 

ยุคล : หลังจากไปรับข้อมูลไปเรียนจากต่างประเทศกลับมา

 

สนธิญาณ : และมาบริหารประเทศ ในระหว่างนั้น เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 5 ต่อมารัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ปรากฏว่ากระทบกับเศรษฐกิจของโลกทั้งโลก และกระทบถึงไทยด้วย พร้อมๆ กันในประเทศไทยได้ก้าวขึ้นอีกจุดหนึ่ง นั่นก็คือรัฐบาลไทยที่ยังมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้บริหาร ส่งนักเรียนทุนไปเรียนยุโรปจากพระบรมวงศานุวงศ์กลายมาเป็นพลเรือน ไปเรียนอยู่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี วิชาหลักๆ คือไปเรียนการปกครองทางทหาร ทหารบก ทหารเรือ และกฎหมาย

 

ยุคล : ใช้คำว่าส่งนักเรียนทุนไปเรียนก็คือ เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่รัชกาลที่ 6

 

สนธิญาณ : ต่อเนื่องรัชกาลที่ 7 หลังจากที่ไปเรียนไปพบปะพูดคุยกันที่ประเทศฝรั่งเศส มีนักเรียนคนหนึ่งซึ่งมีบทบาทอันโดดเด่นยิ่ง ชื่อ ปรีดี พนมยงค์ บทบาทของท่านปรีดีนับตั้งแต่อยู่ที่ฝรั่งเศสจนถึงมาดูแลบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจทางการเมืองอยู่ในประเทศไทย ไม่สามารถที่จะอาศัยกำลังทหารได้เลย ใช้สติปัญญาความคิดความอ่าน และความบริสุทธิ์ใจในการที่จะพัฒนาประเทศชาติบ้านเมืองให้ดีขึ้น อาจารย์ปรีดีในฐานะนายกสมาคมนักเรียนภาคพื้นยุโรปขณะนั้น ก็จัดประชุมพูดคุยกันและท้ายที่สุดในขณะนั้น ตอนที่อาจารย์ปรีดีไปเรียนที่ฝรั่งเศส อายุเพิ่งจะ 20 ปี อาจารย์ปรีดีเกิดมี พ.ศ. 2443 ไปเรียนตอนไป 2463 เรียนกฎหมายจบในเมืองไทยแล้ว

 

ยุคล : ยังวัยรุ่นอยู่เลยนะครับ

 

สนธิญาณ : ไปเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศส 7 ปี ในปี 2470 ได้กลับประเทศไทย แต่ก่อนกลับในเดือนกุมภาพันธ์ 2469 ปรากฏว่าได้มีการจัดประชุมกันที่ประเทศฝรั่งเศสมีอาจารย์ปรีดี มีพล.ท.ประยูร ภมรมนตรี, จอมพล ป. ตอนนั้นยังเป็น ร.ท.แปลก, ร.ต.ทัศนัย มิตรภักดี, นายตั้ว ลพานุกรม, จรูญ สิงหเสนี และนายแนบ พหลโยธิน

 

ยุคล : ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มหมดเลยนะครับ

 

สนธิญาณ : คนหนุ่มหมดครับ อาจารย์ปรีดี ณ เวลานั้น ตอนประชุมจะตั้งคณะราษฎรอายุเพิ่ง 26 ปี  กลับมาประเทศไทย 2470 อายุเพิ่ง 27 ปี

 

ยุคล : ยังหนุ่มยังแน่นอยู่เลยนะครับ

 

สนธิญาณ : มาจนถึง 2475 ปรากฏว่าอายุ 32 ปี แต่องค์ความรู้ต้องถือว่าหนักแน่น ในประเทศไทยฝรั่งเศสในขณะนั้นผมจะเรียนก่อนว่า ในประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศสาธารณรัฐโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ลงแล้ว และตอนที่อาจารย์ปรีดีไปเรียน และคณะนักเรียนทุนของไทยไปเรียนอยู่ในยุโรป เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ ที่เราเรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติจริงๆ คือที่รัสเซีย เกิดขึ้นในปี 2460 ก่อนอาจารย์ปรีดีไปเรียน 3 ปี ไม่เพียงเท่านั้นนักเรียนจากเวียดนาม ญวน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไปเรียนอยู่ที่ฝรั่งเศสเช่นกัน คบคิดกันจะกลับมาปลดแอกฝรั่งเศส จะมาต่อสู้เพื่อเอกราชของฝรั่งเศส ความคิดในเชิงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ก็ถ่ายทอดมาสู่นักเรียนไทยในจำนวนหนึ่ง

 

ยุคล : ซึมซับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การปฏิวัติโครงสร้างของประเทศ

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า มีคนพยายามโจมตีว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ ต้องการล้มสถาบัน ซึ่งในสิ่งที่ผมศึกษามาตลอดมาทั้งชีวิตไม่ได้เห็นในสิ่งที่พวกนี้ มีแต่ความจงรักภักดีและความตั้งใจจริงต่อประชาชน แต่คณะราษฎรทั้งหลายเราต้องมาดูบทบาทของเขาว่า เมื่อเป็นแบบนั้นก็มาจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเมืองไทย 2470 อาจารย์ปรีดีกลับมา พอ 4 - 5 ปีต่อมาก็มีการคบคิดกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เหตุผลเพราะการปกครองในขณะนั้นแม้จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ แต่พระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ก็มีปัญหา ไม่ใช่ไม่มีปัญหา มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ ใช้ภาษาง่ายๆคือ ฝ่ายเจ้าก็บันทึกเอาไว้เอง โจมตีกันเอง มีปัญหามากมาย กดดันจนสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ เกิดความรู้สึกในการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผมถึงย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เตรียมการมาเป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี และตอนที่ใช้ฤกษ์ 24 มิถุนายน 2475 ไม่ใช่วันที่กำหนดการไว้เดิม เป็นวันที่เร่งทำขึ้นเพราะกลัวความลับจะแตก เพราะกลัวจะถูกจับกุมต้องรีบช่วงชิงดำเนินการ การรีบช่วงชิงดำเนินการดังกล่าว จึงเรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นรัฐประหาร เพราะการรัฐประหารเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจข้างบน การปฏิวัติหมายความว่าต้องปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตั้งแต่สังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างขนานใหญ่ และกระบวนการของประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิวัติด้วย

 

ยุคล : คุณสนธิญาณกำลังจะหักการเรียนรู้ในเชิงประวัติศาสตร์ที่รับรู้กันมา ว่าครั้งนั้นเป็นการปฏิวัติ แต่คุณสนธิญาณบอกว่าเป็นแค่การรัฐประหาร

 

สนธิญาณ : ใช่ครับ มีรายละเอียดแจกแจงกันให้เห็น เพราะโครงสร้างสังคมไม่เปลี่ยน และท้ายที่สุดบุคคลที่เรียกว่าคณะราษฎรก็แตกแยกแย่งชิงอำนาจเข่นฆ่าจัดการกันอย่างเลือดเย็น เป็นแบบนั้น

 

ยุคล : ไม่ได้สวยงามอย่างที่เรียกว่าอภิวัฒน์สยาม

 

สนธิญาณ : อภิวัฒน์อะไรอยู่ในคนกลุ่มเดียวมาตลอด มีคนๆ หนึ่งที่พยายามจะต่อสู้เพื่อประเทศชาติบ้านเมือง คืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถที่จะฝ่าฟันไปได้

 

ยุคล : ไม่ได้เข้าสู่ประชาธิปไตย

 

สนธิญาณ : มีสั้นๆ 1 - 2 ปี ผมจะลำดับความให้ฟัง

 

ยุคล : กำลังเข้าด้ายเข้าเข็มเลยนะครับ เดี๋ยวมาตามกันต่อในเบรคสุดท้าย ดูทำท่าเบรคหน้าจะเอาอยู่หรือครับคุณสนธิญาณ ดูข้อมูลเยอะมาก

 

สนธิญาณ : 85 ปี  ผมเรียนว่าจะจัดกันไป 3 สัปดาห์ก็ต้องพูดกัน ขอให้ท่านผู้ชมได้พิจารณาด้วยใจเป็นธรรม ดูข้อมูลอย่าถกเถียงอย่าด่า อย่าฟาดฟันเข่นฆ่ากัน ไม่มีดำไม่มีขาว ทุกเรื่องนอกเหนือจากทางทฤษฎี จะต้องเอาหลักของพระพุทธศาสนา สภาวะทางจิตใจของขันธ์ 5 ซึ่งหมายถึงภาวะทางจิตคือขันธ์ 4 เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างทางความคิดมนุษย์ให้เกิดโลภ โกรธ หลง มาพิจารณาด้วย ไม่มีใครวิเศษถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์เจ้า

 

ยุคล : เอาล่ะครับ เดี๋ยวมาตามกันต่อในเบรคหน้า ช่วงนี้พักกันก่อนสักครู่เดียวครับ (พักช่วง) กลับเข้ามาในช่วงสุดท้ายของรายการ คุณสนธิญาณกำลังลำดับให้เห็นก่อนหน้าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ว่าตั้งแต่ในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องมาจนถึงรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 เกิดอะไรขึ้นในแง่ของการส่งนักเรียนทุนไปเรียนในต่างประเทศและเป็นห้วงบรรยากาศที่ในต่างประเทศนั้นได้เกิดการปฏิวัติประชาชนขึ้นที่รัสเซีย และทำให้คนหนุ่มจำนวนหนึ่งกลับมาในประเทศไทยและวางแผนสมคบคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และได้มีการดำเนินการอย่างฉุกละหุก หลักจากนั้นเกิดอะไรขึ้นที่คุณสนธิญาณบอกว่าอำนาจนั้นกลับมาอยู่ในมือของคนไม่กี่คน และมีการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันด้วยความรุนแรง เดี๋ยวไปต่อกับคุณสนธิญาณครับ

 

สนธิญาณ : พวกที่คบคิดกันผมเรียนแล้วว่าเป็นสามกลุ่ม มีทหารอาวุโส ก็คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา , พระยาทรงสุรเดช,  พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ คุมกำลังทหารอยู่จำนวนน้อยนิด

 

ยุคล : 4 ทหารเสือ

 

สนธิญาณ : คุมกำลังทหารอยู่จำนวนน้อยนิด บางคนก็มีบารมีเป็นครูบาอาจารย์ คนถัดมาคือจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังเป็นทหารหนุ่มคุมกำลังอยู่น้อยนิด ถัดมาคือ ท่านอาจารย์ปรีดีเป็นมันสมองเป็นผู้ที่มีความคิด ปรากฏว่าหลังจากคบคิดกันเสร็จ ขยายแนวร่วมออกไปอย่างก้าวขวางในระดับบน ประชาชนไม่รู้เรื่อง 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครอง หลักการของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นการกระทำที่เรียกว่าการรัฐประหาร ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมพระบรมวงศานุวงศ์ ผมขออนุญาตไม่เอ่ยพระนาม ที่คุมกำลังทหารอันเป็นองค์สำคัญ จับตัวเอาไว้ได้หมด บางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงบอกว่าคณะราษฎรส่งกำลังทหารไปยึดเด็กนักเรียนสวนกุหลาบเป็นตัวประกัน ผมก็เรียนว่า ถ้าผมเป็นคณะราษฎรในขณะนั้นผมก็จะทำแบบนั้น เพราะการตัดสินใจยึดอำนาจพลาดพลั้งจะถูกประหารชีวิตคือตายเด็ดขาด

 

ยุคล : กบฏเลยนะครับ

 

สนธิญาณ : เพราะฉะนั้นวิธีไหนก็ตามแต่ที่จะทำให้ชนะต้องทำทุกวิธี

 

ยุคล : เพราะเดิมพันความตายเอาไว้แล้ว

 

สนธิญาณ : ถูกต้องครับ ถือว่าเขาก็ต้องทำตามวิธีของเขาซึ่งจะถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่สะท้อนว่าสิ่งที่ทำแบบนี้เป็นวิธีของการรัฐประหาร ไม่ใช่วิธีของการปฏิวัติที่นำพาประชาชนเข้ามา

 

ยุคล : นี่คือทำกันข้างบน

 

สนธิญาณ : ทำแต่ข้างบนครับ ทำกันเสร็จแล้วไปหลอกทหารจำนวนหนึ่งมาชุมนุมกันที่ลานพระรูป ผมไม่ได้พูดเองแต่คณะราษฎรเขียนกันเอง เพื่อให้เห็นว่าตัวเองฉลาดเฉลียวซึ่งเป็นเรื่องจริงใช้กลยุทธ์ในการทำ เพราะฉะนั้นมาถึงจุดนี้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่เป็นข้อสรุปว่าไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่สามารถที่จะไม่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้

 

ยุคล : อย่างไรครับ

 

สนธิญาณ : เพียงแต่ท่านสั่งสู้ เลือดต้องนองแผ่นดิน จะจับใครเป็นองค์ประกัน จับพระบรมวงศานุวงศ์ระดับสูงจับเป็นองค์ประกัน ถ้าพระองค์ท่านไม่นึกถึงประชาชน ถ้าพระองค์ท่านไม่นึกถึงประเทศชาติบ้านเมือง นึกถึงแต่เรื่องพระราชอำนาจของพระองค์เอง ถ้าพระองค์ท่านสั่งสู้ทหารก็จะลุกฮือขึ้นสู้ ประชาชนจะลุกฮือขึ้นขยี้คณะราษฎรทันทีเพราะหลังจากที่เสร็จแล้ว พระองค์ท่านเสด็จนิวัตคืนสู่พระนคร เพราะตอนรัฐประหาร 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ท่านอยู่ที่วังไกลกังวล อ.หัวหิน ประชาชนยังคอยเฝ้ารับเสด็จอย่างเนื่องแน่น ระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่สามารถมาวัดกันได้เลยในความรู้สึกของประชาชน นี่คือข้อเท็จจริงประการแรก และสิ่งที่ผมจะให้ชัดเจนไว้นะครับว่าก่อนหน้านั้นพระองค์ท่าน คิดจะประทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว นี่มาจากปากคำของท่านอาจารย์ปรีดีเอง ทีนี้มาดูต่อว่าการรัฐประหารหลังจากที่ยึดอำนาจมาแล้ว บริหารประเทศต่อไปไม่ได้ เพราะโครงสร้างอำนาจทั้งหลายยังจงรักภักดีต่อสถาบัน ประชาชนทั้งหลายยังจงรักภักดีต่อสถาบัน คณะราษฎรไม่กล้าที่จะพาตัวเองไปบริหารประเทศอย่างเต็มตัว ต้องประนีประนอมกับข้าราชการระดับสูง ประนีประนอมกับผู้ที่คุมอำนาจที่มีความจงรักภักดีอยู่ ให้เห็นว่าการทำครั้งนี้เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลง ยังยกสถาบันไว้เหมือนเดิม จึงไปเชิญพระยามโนปกรณนิติธาดามาเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เรียกว่าประธานกรรมการราษฎร และแล้วก็ทำการผสมผสานเพื่อดุลอำนาจรักษาไม่ให้เกิดสภาวะของการต่อสู้

 

ยุคล : หมายความว่าพระยามโนปกรณนิติธาดาไม่ได้เป็นคนของคณะราษฎร

 

สนธิญาณ : ไม่ได้เริ่มตั้งแต่ต้น ใน ครม.ชุดใหม่ผมเรียนแบบนี้เลยนะครับ จำนวนครึ่งหนึ่งเป็นคณะราษฎร อีกครึ่งหนึ่งยังเป็นผู้ที่จงรักภักดีกับสถาบัน เพราะเขาต้องการให้เห็นว่ายังรักษาสถาบันไว้ ประนีประนอมให้เกิดการทำงานต่อ แบบนี้จะเรียกว่าการปฏิวัติอย่างไร แล้วอาจารย์ปรีดีเคยพูดไว้เอง เป็นถ้อยคำสำคัญ ผมจะเกริ่นไว้ก่อน "ข้าพเจ้าได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ข้าพเจ้ามิปรารถนาจะเปลี่ยนจากพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวมาเป็นหลายองค์ เป็นการปกครองประชาธิปไตยแต่เปลือกเท่านั้น ข้าพเจ้ามุ่งต่อสาระสำคัญคือ บำรุงสุขของราษฎร"  นี่คือวาทะอันเป็นอมตะของผู้ที่เป็นรัฐบุรุษ มาดูต่อเลยว่าพอเป็นแบบนั้นก็ไม่สามารถที่จะเดินไปด้วยความราบลื่นได้ เกิดความขัดแย้งกันเรื่อยๆ แต่ความขัดแย้งนั้นไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับคณะที่ยังนิยมเจ้า ใช้ศัพท์ง่ายๆ ความจริงคณะราษฎรขัดแย้งกันเอง หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว 24 มิถุนายน 2475 ต่อมาในวันที่ 12 มิถุนายน 2476 อาจารย์ปรีดาก็มีการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจมีหลายพระราชบัญญัติในจำนวนนั้น มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ มีแผนจัดการที่ดิน แผนในการจัดการโรงงาน จัดการแรงงาน ต้องการที่จะนำพาประเทศเดินไปอย่างมียุทธศาสตร์ แผนเค้าโครงเศรษฐกิจเข้าสู่ที่ประชุม ในขณะเดียวกันมีความแตกแยกในคณะราษฎร โดยเฉพาะใน 4 ทหารเสือ  พระยาทรงสุรเดชขัดแย้งกับพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดชขัดแย้งกับทหารหนุ่มซึ่งมีชื่อและเป็นกำลังสำคัญคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตอนนั้นยังไม่ได้มียศจอมพลนะครับแต่เรียกเพื่อให้จำกันง่ายๆ หลังจากขัดแย้งกันเกิดเรื่องของอาจารย์ปรีดีขึ้น ก็มีจอมตีกล่าวหาว่าอาจารย์ปรีดีเป็นคอมมิวนิสต์ เอาระบบคอมมิวนิสต์มาใช้ แต่ผมเรียนได้เลยว่าในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่นำเสนอไปอ่านโดยละเอียดถ้าประเทศนี้ได้ทำตามแผนนั้น ประเทศก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนั้นแล้ว การเปลี่ยนแปลง 2475 จะเรียกว่าเป็นการอภิวัชหรือการปฏิวัติที่แท้จริงก็อาจจะได้ แต่ก็ไม่เกิด การช่วงชิงอำนาจของกลุ่มนี้ก็เกิดขึ้น พระยาทรงสุรเดชไปหนุนให้พระยามโนปกรณนิติธาดารัฐบาลประหารตัวเอง ผ่านไปไม่กี่วันพระยามโนปกรณนิติธาดารัฐประหาร วิธีรัฐประหารง่ายมาก เพราะตอนเปลี่ยนแปลง 2475 อาจารย์ปรีดีได้ร่าง พ.ร.บ.การปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวขึ้น คล้ายๆรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้วมาผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ร่างรัฐธรรมนูญถาวรขึ้นก็มีคณะกรรมการมาร่างจึงเป็นที่มาของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรากฏว่า พระยามโนปกรณนิติธาดาบอกว่างดใช้รัฐธรรมนูญ ก็หมายความว่าไม่ต้องมีกฎหมายแล้ว ข้าพเจ้าเป็นผู้มีอำนาจผู้เดียว ทำไมพระยามโนปกรณนิติธาดาถึงทำได้ครับ เพราะพระยาทรงสุรเดชหนุนอยู่ ถือว่ามีกำลังทหารอยู่ในมือ เอาล่ะครับทีนี้คณะราษฎรก็แตกแยกกันเอง เราพูดกันมากี่เบรคแล้วครับ

 

ยุคล : เบรคสุดท้ายแล้วครับคุณสนธิญาณ ยังไปไม่ถึงไหนเลยครับ

 

สนธิญาณ : เราต้องพูดกันต่อ เพราะต่อมาคณะราษฎรพิฆาตเข่นฆ่ากันเอง เอาเป็นเอาตายจัดการสิ่งที่ไม่เคยทำในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็มาทำในสมัยที่คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เอาเสื้อคลุมประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยแต่เปลือกที่อาจารย์ปรีดีว่า อาจารย์ปรีดีใช้คำว่าประชาธิปไตยแต่เปลือก แล้วเปลือกจริงๆ ตลอดที่คณะราษฎรยึดอำนาจและอยู่ในอำนาจมาตลอด 25 ปี

 

ยุคล : เท่ากับว่า จะต้องมีตอนที่ 2 ต่อในสัปดาห์หน้า ถ้าดูจากสัปดาห์นี้ เชื่อว่าคุณสนธิญาณต้องการนำเสนอให้คุณผู้ชมได้เห็นจากประเด็นหัวข้อก็คือ เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เผด็จการหรือประชาธิปไตย เมื่ออำนาจเข้ามาอยู่ในมือของคณะราษฎรและเกิดการแก่งแย่งอำนาจและคุณสนธิญาณจะฉายต่อให้เห็นในสัปดาห์หน้านะครับ ว่าการแก่งแย่งชิงอำนาจนั้นสร้างความเสียหาย สร้างความบอบช้ำให้เกิดขึ้นกับประเทศนี้มากมายขนาดไหน เอาเป็นว่าตามต่อในสัปดาห์หน้านะครับ สัปดาห์นี้ต้องขอบพระคุณคุณสนธิญาณที่มาให้ความรู้กับพวกเรา ลาคุณผู้ชมแต่เพียงเท่านี้ กลับมาพบกันใหม่สัปดาห์หน้า สวัสดีครับ