ปิดประตู !!! ธาริต หมดสิทธิ์อุทธรณ์ วิษณุ ชี้แจงป.ป.ช.ไล่ออกถือว่ายุติ

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งมติให้ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีมีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติและถูกอายัดทรัพย์ และพิจารณาโทษไล่ออก ว่า ยังตั้งหลักเรื่องนี้ไม่ถูก จึงตอบไม่ถูก เพราะยังไม่ทราบเรื่อง และตนไม่เกี่ยวข้องเพราะเห็นจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น
          ผู้สื่อข่าวถามว่าตามระเบียบข้าราชการเมื่อถูกมติไล่ออกนายธาริต สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การไล่ออกมี 2 อย่าง คือ ไล่ออกเพราะมีการดำเนินการทางวินัยก็อุทธรณ์ไปที่ ก.พ.ค.ได้ อีกกรณีคือลงโทษทางวินัยตามที่ ป.ป.ช.ได้แจ้งมา ซึ่งกรณีนี้ไม่สามารถไปอุทธรณ์ที่ไหนต่อไปได้ ถือว่ายุติที่คำสั่ง ป.ป.ช. แต่ตนไม่ทราบว่าในกรณีของนายธาริต ลงโทษด้วยเรื่องใด แต่เข้าใจว่าลงโทษตามที่ ป.ป.ช.แจ้งความผิดมา

ขณะที่ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ชี้แจงว่า ได้มีคำสั่งลงโทษไล่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากราชการเมื่อวันที่ 3 เม.ย.60 ที่ผ่านมา โดยเรื่องนี้เป็นการดำเนินการตามที่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) แจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติและมีหนี้สินลดลงผิดปกติ รวมมูลค่า 346,652,588 บาท ซึ่งเป็นกรณีการดำเนินการตามมาตรา 80 (4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติแล้ว ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการสั่งลงโทษไล่ออกหรือปลดออก โดยถือว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่
          แต่เดิมนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อมาเพื่อ 24 พ.ค.57 คสช.ได้มีคำสั่งให้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อ 27 มิ.ย.57 จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สังกัด สลน.ตามลำดับ เรื่องนี้เป็นอำนาจของเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาที่จะเป็นผู้ออกคำสั่ง
          สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้รับเรื่องดังกล่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช.ในช่วงปีที่ผ่านมา และได้ตรวจสอบประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการกรณีดังกล่าว โดยได้มีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงาน ป.ป.ช., สำนักงาน ก.พ. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาโดยตลอด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมายและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้หน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้ให้ความเห็นสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันว่า กรณีนี้เป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาลงโทษตามที่กำหนดในมาตรา 80 (4) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น ประกอบกับที่ผ่านมาได้มีมติ ครม.กำหนดไว้ว่า การทุจริตต่อหน้าที่ราชการเป็นความผิดร้ายแรงควรลงโทษไล่ออกจากราชการ