"สนธิญาณ" ชี้ !! จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการจดทะเบียนสื่อเพื่อเลือกตั้งและสร้าง "สภาวิชาชีพสื่อ" ที่มีศักยภาพสามารถให้คุณให้โทษได้ แต่ห้ามรั

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ www.tnews.co.th

 

ยุคล : กลับเข้ามาสู่ช่วงเวลาของรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นร้อนที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใหม่และเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนเข้าสู่การพิจารณาของสภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือว่า สปท. ร่างกฎหมายที่ว่านั้นมีชื่อฉบับเต็มว่า ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งที่ประชุมใหญ่ สปท. ก็ให้ความเห็นชอบไปเป็นที่เรียบร้อยแม้จะมีการปรับเนื้อหาในบางส่วนที่เป็นข้อท้วงติงจากสื่อสารมวลชน เมื่อผ่านร่างกฎหมายเสร็จก็ส่งต่อไปให้กับรัฐบาลโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะต้องนำไปพิจารณาว่าจะให้ความเห็น เพื่อส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือว่า สนช. ในการพิจารณาในวาระที่ 1 2 และ 3 ถึงกระนั้นก็ตามสมาคมวิชาชีพสื่อสารมวลชนก็พยายามออกมาเคลื่อนไหว โดยยื่นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลพลเอกประยุทธ์เพื่อให้ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาและเรียกร้องต่อเนื่องว่าประกาศ คสช. ฉบับไหนก็ตามที่เป็นการจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนก็อยากที่จะให้ยกเลิกออกไปด้วย และแสดงเจตจำนงชัดเจนว่าสื่อสารมวลชนในประเทศนี้ต้องการที่จะดูแลกันเอง ภายใต้มาตรฐานและกฎเกณฑ์ที่จะถูกกำหนดขึ้นมา วันนี้เราจะมาขยายรายละเอียดถึงวิวัฒนาการของสื่อสารมวลชนโลกและรวมไปถึงของประเทศไทยรวมไปถึงการจัดระเบียบสื่อสารมวลชนในมุมมองของคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้อำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์ เพราะฉะนั้นวันนี้เราจึงมาในหัวข้อที่ว่า แมลงวันตอมแมลงวันคือต้องปฏิรูปและตีทะเบียน ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้จะเป็นอย่างไรเดี๋ยวเราไปทักทายคุณสนธิญาณกันก่อน สวัสดีครับคุณสนธิญาณครับ
 
สนธิญาณ : สวัสดีครับคุณยุคลครับ สวัสดีครับท่านผู้ชมสปริงนิวส์และแฟนข่าวทีนิวส์ทุกท่าน
 
ยุคล : เป็นอย่างไรครับ แมลงวันตอมแมลงวันคือต้องปฏิรูปและตีทะเบียน
 
สนธิญาณ : ก็จากกระแสข่าว จากกรณีที่คณะกรรมาธิการ ปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาพของ สปท. ผมก็ต้องเรียนแบบนี้ก่อนว่าอาชีพหนึ่งที่โคตรจะน่าหมั่นไส้คืออาชีพสื่อมวลชน เพราะคนที่มีอาชีพนี้คิดว่าตัวเองเป็นเทวดา เป็นผู้พิทักษ์ความถูกต้อง เป็นผู้ที่สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามให้กับสังคม เป็นฐานันดร 4 ประวัติศาสตร์นับตั้งแต่อดีตมาอาจจะใช่ แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่อย่างแน่นอนครับเพราะฉะนั้นในฐานะตัวเองก็เป็นคนทำสื่อ 30 กว่าปีที่ผ่านมาประสบการทำทางสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ทำมาทั้ง 3 สื่อ ไม่ได้พูดจะเอ่ยอ้างว่าตัวเองเก่งหรือว่าดีกว่าคนอื่น แต่อาชีพนี้น่าหมั่นไส้จริงๆ จากการที่ตัวเองคิดว่าเป็นเทวดา
 
ยุคล : แล้วคุณสนธิญาณคิดว่าตัวเองเป็นเทวดาไหม
 
สนธิญาณ : เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่าตัวเองเป็นเทวดาเหมือนกัน รู้สึกว่าเป็นอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ เหตุผลเพราะคนที่ทำอาชีพสื่อมีส่วนที่จะไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเมื่อไปเกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม สิ่งที่ได้รับเสมอมาคือการเอาอกเอาใจ อยากจะได้รับการเชียร์ อยากจะได้รับในการพูดถึงในทางที่ดี จากผู้มีอำนาจเรานั้นเพราะถือว่า สื่อมีอำนาจ ทิศทางในการที่จะพากระแสสังคมไปในทางนั้นได้ ในอดีตเขาเคยพูดกันถึงเรื่อง 18 อรหันต์ที่ผมยกตัวอย่างอย่างนี้เป็นต้น มีนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ณ เวลานั้นอายุเท่ากับผมในปัจจุบัน เขียนคอลัมน์อยู่ตามหน้า 4 หรือหน้า 5 หรือคอลัมน์ซุบซิบสังคมในหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยถ้า 18 อรหันต์นี้ชี้ว่ารัฐบาลชุดไหนไม่ดี รัฐบาลชุดนั้นทรุดได้เลย เขียนไปในทางเดียวกัน ท่านผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายที่เป็นรุ่นพี่ผมก็รู้สึกตัวเองได้ดีอยู่ว่า เมื่อไปเจอไปพูดไปคุย ยิ่งใหญ่จริงๆ
 
ยุคล : คือสามารถสร้างการโน้มน้าวให้กับการรับรู้ของประชาชนได้
 
สนธิญาณ : ณ เวลานั้น เพราะหนังสือพิมพ์คือตัวที่ชี้ข่าวสารยกตัวอย่างในยุคสมัยนั้นและเมื่อพูดทุกคนยิ่งใหญ่ทุกวัน นี้ก็ร่ำรวยเป็นเจ้าของธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆและสิ่งเหล่านี้เหมือนกับถ่ายทอดเข้าสู่ดีเอ็นเอ ตอนผมมาทำข่าวใหม่ๆ เกาะผูกพันมาตั้งแต่พี่ๆในยุคที่เรียกว่ายังเติร์ก ทุกวันนี้ที่พี่อายุ 80 แล้วนะครับ เมื่อก่อนย้อนหลังไปสมัยพลเอกประยุทธ์ยังเป็นระดับพันโท ตอนเจอกันผมไม่ค่อยอยากจะคุยด้วยนะครับ เพราะเป็นทหารยศต่ำๆ แหล่งข่าวที่พูดคุยอยู่ระดับพลตรี พลเอก พลโท เป็นผู้ที่มีอำนาจในกองทัพพูดคุยแลกเปลี่ยนสถานการณ์ทหารพวกนี้ยังเด็กๆ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในความรู้สึกของสื่อ แม้แต่ในปัจจุบันเห็นได้จากเป็นเด็กอายุไม่เท่าไร ตอนสัมภาษณ์องค์ความรู้ไม่มี ซัดกับคนให้ข่าวโดยไม่มีความเกรงอกเกรงใจเพราะคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ นี่ไม่นับถึงประเภทที่ไปรับซองเขา ไม่นับประเภทที่ไปรีดไถ ไม่นับประเภทที่ใช้สื่อหรือองค์กรสื่อไปทำมาหากิน เป็นความจริงที่เกิดขึ้น เมื่อเป็นแบบนี้วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงคนที่ทำสื่อยังไม่สำนึก ยังคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ วันนี้ถูกกระแสประชาชนตรวจสอบยังไม่สำนึกนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันเกิดการรัฐประหารขึ้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีจุดอ่อนอันสำคัญยิ่งมาแต่ไหนแต่ไรโดนสื่อกระแทกไม่ได้ พอโดนสื่อกระแทกก็ปรี๊ดแตก ยิ่งทำให้สื่อได้ใจ เพราะคิดว่ากระแทกได้ ใครมีความคิดอ่านซ่อนเร้นอยากให้หลุดตรงไหน อยากให้เป็นอย่างไรก็กระแทกไป เพราะรู้ว่าพลเอกประยุทธ์มีจุดอ่อนแบบนี้ก็ซัด อีกฝั่งนึงสิครับในระหว่างที่หลักการของ คสช. หลักการของรัฐบาลถูกต้อง มีแม่น้ำ 5 สาย มี สปช. สปท. สนช. มีรัฐบาล มี คสช. มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ผมก็ต้องเรียนข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่า สนช. สปท.  เอา 2 คณะนี้ก่อน วิ่งกันเท้าขวิดวิ่งหาผู้มีอำนาจอยากจะเป็นสปท. อยากจะเป็น สนช. เพราะนี่เป็นโอกาสที่ตัวเองจะได้เข้าไปใกล้ชิดกับการมีอำนาจ อยากแสดงบทบาททางการเมือง ควรจะวิ่งไปทางไหนทุกคนล้วนรู้แก่ใจดี นี่คืออีกด้านหนึ่ง ดังนั้นผมจึงยกตัวอย่างให้เห็นว่าคณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ เอาพลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร มาเป็นประธานกรรมาธิการประวัติเป็นรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารอากาศ ฝ่ายธุรการ ผมสงสัยในการเชี่ยวชาญด้านสื่อ พลตำรวจตรีพิสิษฐ์ เปาอินทร์ ประวัติเป็นผู้บัญชาการผู้บังคับการตำรวจทางด้านเทคโนโลยีเข้าใจเรื่องสื่อหรือครับ คุณประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด ตระกูลน่าจะเกี่ยวข้องกับเดลินิวส์ แต่เป็นนายทุนสื่อ ไม่เคยทำสื่อ ไม่เคยลงไปในสนาม ไม่เคยทำสื่อมีแต่ได้รับการชื่นชมเป็นเจ้าของสื่อ ผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เกรงอกเกรงใจ ได้เข้ามาอยู่ใน สปท. พลเอกภิญโญ แก้วปลั่ง ร้อยเอกประยุทธ เสาวคนธ์, พลเรือเอกยุทธนา เกิดด้วยบุญ, นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต นางเมธินี เทพมณี, นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล, นายอภิชาต จงสกุล, นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ และนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ มีใครรู้เรื่องสื่อบ้างครับ เมื่อคุณไม่รู้เรื่องคุณมาบังอาจร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ผมใช้คำว่าบังอาจเพราะว่าเขาต้องการเอาใจผู้มีอำนาจหรือเปล่า
 
ยุคล : นี่เป็นกฎหมายใหม่ไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม
 
สนธิญาณ : ไม่ใช่ครับยกร่างขึ้นมาต้องการเอาใจ คสช. ต้องการเอาใจพลเอกประยุทธ์หรือเปล่า เพราะที่ร่างขึ้นมาก็ร่างแบบไร้ความคิดเหมือนกัน
 
ยุคล : ชัดเจนแบบนี้แล้วนะครับ
 
สนธิญาณ : เพราะคุณไม่เคยเข้าใจ คุณไม่รู้ว่าจะทำอะไรหน้าที่เป็นอย่างไร วันนี้โลกวิวัฒนาการไปถึงไหนเปลี่ยนแปลงจากภาพที่คุณยึดติดกันอยู่ คุณเห็นภาพแบบนี้เห็นว่าสื่อเลวร้าย เห็นว่ากระแสสังคมก็กดดันสื่อ ซึ่งสื่อก็ทำตัวแย่จริงๆ จำนวนหนึ่งอาจจะเป็นจำนวนมากก็ได้ ผมอาจจะอยู่ในจำนวนมากนั้นก็ได้ ไม่ใช่หมายความว่า ไม่มีสิ่งดีๆ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
 
ยุคล : ถ้าตามนี้หลักก็คือ คุณสนธิญาณไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากให้มีการปฏิรูป ต้องการให้มีการปฏิรูปและที่สำคัญต้องตีทะเบียนด้วย
 
สนธิญาณ : ไม่ได้ต้องการครับแต่เป็นความจำเป็น ถ้าสื่อยังไม่ตระหนัก ยังไม่ยอมรับความเป็นจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ลดความโอหัง 
 
ยุคล : เดี๋ยวช่วงหน้าเรามาตามกันต่อว่าการที่คุณสนธิญาณบอกว่าสื่อต้องเปลี่ยนแปลงเป็นภาวะของความจำเป็นนั้นหมายความว่าอย่างไร (พักช่วง) กลับเข้ามาในเบรคที่ 2 ในเบรกนี้เรามาฟังคำอธิบายชัดชัดๆ จากคุณสนธิญาณ ว่าทำไมถึงมีความจำเป็นแบบนั้น
 

 

สนธิญาณ : เป็นแบบนี้ครับ ผมเรียนนะครับสื่อในอดีต คือ ผู้จุดประกายของความเปลี่ยนแปลงของสังคม จึงมีศักดิ์ศรีจึงมีสภาวะที่เรียกตัวเองได้ว่าฐานันดร 4 ผู้ที่ทำอาชีพนี้ในอดีต ล้วนแต่จะต้องเผชิญกับอำนาจเผด็จการทหาร ต้องเผชิญกับความลำบากยาก ต้องผจญกับอาชีพที่เงินน้อยแต่อยู่ได้ด้วยอุดมการณ์ ทีนี้เรามารู้จักกันสักนิดนะครับว่า จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสื่อเป็นอย่างไร แรกเริ่มเดิมทีประเทศไทยเรามีสื่อครั้งแรกในรัชกาลที่ 3 เพราะหมอบรัดเลย์เข้ามาก็มีพิมพ์หนังสือเดอะบางกอกรีคอร์ดเดอร์ขึ้นมา หลังจากนั้นในรัชกาลที่ 4 พิมพ์กิจจานุเบกษา ใบประกาศ กฎหมายต่างๆ ขึ้นมาต่อมาในรัชกาลที่ 5 พิมพ์ดรุโณวาทขึ้นมา จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 หมายความว่ากระแสประชาธิปไตยพวกนักเรียนนอกที่ไปเรียนจากยุโรปเริ่มเห็นแล้วว่า หนังสือพิมพ์ที่อยู่ในยุโรปมีมาก่อนล่วงหน้าเป็นร้อยปี ก็เริ่มเปิดหนังสือพิมพ์ภาคภาษาไทยต่างๆ ขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐในขณะนั้น กลายมาเป็นกระแสในการจุดกระแสเรื่องประชาธิปไตยจุดกระแสทางการเมือง นักหนังสือพิมพ์ก็ทำหน้าที่ของตัวเองด้วยเกียรติศักดิ์ของวิชาชีพ ซึ่งนั่นก็คือบรรพบุรุษของเราที่ทำงานเหล่านี้มาต่อสู้ในสมัยจอมพล ป. ต่อสู้ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ล้มลุกคลุกคลานมาจนหนังสือพิมพ์พัฒนาตัวเองเข้าสู่ยุคทุนนิยมเจ้าของหนังสือพิมพ์กลายมาเป็นผู้ที่มีเงินเป็นพันล้านหมื่นล้านแบบไทยรัฐ แบบเดลินิวส์ ยิ่งใหญ่อลังการกลายมาเป็นธุรกิจที่เข้มแข็ง และมีพลังอำนาจในสังคมในที่ดี ให้สังคมไปทิศทางไหนก็ได้ นั่นคือหนังสือพิมพ์ เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์มีบางยุคบางสมัยคุณสมัคร สุนทรเวช พยายามจะทำหนังสือพิมพ์ของรัฐ แต่ก็เหลวไม่เป็นท่า เพราะหนังสือพิมพ์ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ นั่นคือหนังสือพิมพ์ส่วนวิทยุเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2473 เปิดอย่างเป็นทางการขึ้นครั้งแรกในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ผู้ที่ก่อกำเนิดวิทยุในประเทศไทยคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า บุรฉัตรไชยา กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน บิดาทางช่าง ตั้งสถานีทดลองมาครั้งแรกเรียกว่าสถานีวิทยุกรุงเทพ มีสถานีวิทยุหลังจากเกิดและมาเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ถ่ายทอดสดกระแสพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เนื่องในวันฉัตรมงคลของรัชกาลที่ 7 และพัฒนามากลายเป็นการตั้งกรมโฆษณาในปี พ.ศ. 2482 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือเปลี่ยนมาเป็นกรมประชาสัมพันธ์เหมือนปัจจุบันวันนี้ กรมประชาสัมพันธ์ก็มีวิทยุมีโทรทัศน์มีวิทยุเป็น 100 ช่อง ส่วนโทรทัศน์เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2498 เรียกว่าช่อง 4 บางขุนพรหม จอมพลป. เป็นคนตั้งขึ้น หลังจากเกิดขึ้นแล้วก็เป็นสีขาว-ดำ ต่อมาจอมพลสฤษดิ์เห็นว่าโทรทัศน์มีศักยภาพ มีอำนาจก็จัดการให้เกิดโทรทัศน์ของกองทัพบกขึ้นมา เอาไว้แข่งเพราะตอนนั้นแข่งอำนาจกัน ต่อมามีโทรทัศน์สีขึ้นปีพ.ศ. 2510 ซึ่งในปี พ.ศ. 2513 เกิดช่อง 7 สี ช่อง 3 สี ซึ่งช่อง 3 อยู่ อสมท. ส่วนช่อง 7 ก็อยู่กับกองทัพบก นี่คือประวัติโทรทัศน์ จนวันนี้สถานีโทรทัศน์มีเป็นร้อยช่อง มีทีวีดิจิตอลไป 20 ช่อง มีทีวีดาวเทียมอีก 100-200 ช่องวิทยุที่ผมพูด เอเอ็ม/เอฟเอ็มที่เป็นของรัฐ 500 ช่อง วันนี้มีอยู่เป็นพันช่อง นี่คือสื่อหมดไหมครับ เป็นสื่อหมดครับ ที่เกิดขึ้นวันนี้ทุกคนต่างอ้างว่าเป็นสื่อหมด วิทยุที่ว่าคือวิทยุชุมชน ซึ่งรัฐ กสทช. พยายามไปจดทะเบียน ลำบากยากแค้นเลือดตาแทบกระเด็นถึงจะจดวิทยุชุมชนได้ ในช่วงของการเมืองที่เปลี่ยนแปลงกระแสเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงการสู้รบทางการเมืองที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายเกิดสื่อปลอมขึ้น
 
 
ยุคล : ใช้สื่อเป็นเครื่องมือ
 
สนธิญาณ : หลายคนอาจจะบอกว่า ทีนิวส์เป็นสื่อปลอมเหมือนกัน ไม่มีหรอกครับ ผมหากินมาจากเงินโฆษณาหากินมาด้วยความสุจริต หน้าไหนบอกว่าผมเคยไปไถเงินมา ผมก็สามารถบอกได้ครับว่า เงินทุกบาททุกสตางค์ของทีนิวส์หรือองค์กรที่ผมทำมาจากโฆษณาจากเอเจนซี่ หรือจากบริษัทห้างร้าน วันนี้สื่อพร้อมที่ว่าปลุกเร้าคนให้ชุมนุมประท้วง ให้ข้อมูลด้านเดียวหรือปลอม เป็นสื่อของพรรคการเมืองมีทั้งสองขั้ว หรือพวกนี้ด่าแกนนำมวลชนฝ่ายตัวเองไหมครับ ก็ไม่ได้ครับ ด่าที่ให้เงินสนับสนุนตัวเองมาไหม ก็ไม่ครับ ได้ให้ข้อมูลด้านผิดให้ด้านเดียว หรือการเมืองก็ทำหน้าที่ไปปลุกเร้าคน.shออกมาเผาบ้านเผาเมืองจะตีกันตาย ในองค์กรสื่อทั้งหลายทำอะไรบ้าง กล้าหรือ องค์กรสื่อในปัจจุบันมีอะไรบ้างครับ มีสภาการหนังสือพิมพ์ วิชาชีพหนังสือพิมพ์  สภาวิชาชีพวิทยุข่าวโทรทัศน์ สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เดินกันไป 30 - 40 คนบางคนก็เป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือมีจริยวัตรในการทำงานที่น่าเคารพนับถือ แต่ยังหลงอยู่กับความคิดเก่าๆ เรื่องที่ไปต่อต้านสื่อไม่ให้ตีทะเบียนผมบอกแล้วว่า ต่อต้านคณะกรรมาธิการของสปท. ต้องต่อต้าน พ.ร.บ.ที่ร่างขึ้นมาจะเอาใจผู้มีอำนาจหรือไม่ก็ตามแต่ แต่ก็สร้างมาด้วยความที่ไม่เข้าใจ คุณไม่รู้เลยว่าความหมายของคำว่าสื่อเป็นอย่างไร เขาเรียกผีแห้งกับโลงผุก็พอๆกัน พวกที่ออกมาพูดไม่ฟังเสียงประชาชน สิทธิเสรีภาพของประชาชนสิทธิเสรีภาพของสื่อ วันนี้ประชาชนเขาใช้สิทธิเสรีภาพได้โดยตรงผ่านสื่อมากมาย ผมจึงจะต้องให้เห็นก่อนว่าท่านผู้ชมเชื่อไหมครับสภาวิชาชีพสื่อทั้งหลายวนเวียนอยู่ในคน 20-30 คนบางคนเป็นสมัยนี้ก็วนมาเป็นอีกสมัยหนึ่ง ตอนนี้เป็นวิทยุโทรทัศน์ เดี๋ยวไปหนังสือพิมพ์ เดี๋ยวไปวิชาชีพ วนมีอยู่แค่นั้น ผมถามว่าเคยทำอะไรให้กับสื่อบ้าง เคยทำเรื่องอะไรที่เป็นการพัฒนาวิชาชีพองค์ความรู้ด้านงานจัดเสวนาที จะอภิปรายกันทีหนึ่ง สวัสดิการของคนทำสื่อเคยมีไหมครับปี พ.ศ. 2540 หนังสือพิมพ์เจ๊ง สื่อเจ๊ง คนที่ทำสื่อต้องออกไปขายของเปิดท้ายขายของ สภาวิชาชีพทั้งหลายได้ช่วยเหลืออะไรไหมครับ ช่วยไม่ได้เพราะคุณไม่มีเงิน ผมไม่ได้หมายความว่าเงินของภาครัฐ แต่ควรได้พัฒนาตัวเองเหมือนกับสภาวิชาชีพอื่นๆหรือไม่ ขนาดกรรมกรตกงานเขายังมีสหภาพเข้ามาดูแล คนทำสื่อตกงานสภาวิชาชีพที่ดีนักหนาไปไหนถึงเวลาปฏิวัติรัฐประหารได้เข้าไปมีตำแหน่งแห่งหนอยู่กันคนเกรงใจ นายกสมาคมนักข่าวนู่นนี่นั่น สภาวิชาชีพผมไม่ได้อิจฉานะครับ ที่ไม่ได้เป็น ผมไม่เคยใส่ใจ เขาเคยเชิญไปพูดแรกๆ แต่นี่คือความจริงต้องยอมรับว่ามาทำอะไรบ้างที่ทำให้ทุกคนที่ทำงานสื่อ มีแต่มาร้องไห้เชิงเสรีภาพจำได้ไหมครับ สื่อใหญ่ โกงเงินสถานีโทรทัศน์ของรัฐ ศาลฟัน บังคับให้สถานีโทรทัศน์นั่นออกได้ไหม ต้องใช้มาตรการทางสังคม ทำไมถึงบังคับไม่ได้ จะไปบังคับได้ไงธุรกิจเขาเป็นพันล้านหมื่นล้านแบบนั้น จะมาคุ้มครองประชาชนได้อย่างไรสิทธิเสรีภาพได้อย่างไร โทรทัศน์ช่องหนึ่งผู้ดำเนินรายการข่าวช่องหนึ่งที่คนอายุ 40 กว่าว่าเป็นตายายเข้าไปเก็บเห็ดสร้างกระแสสังคมไปหมด
 
ยุคล : อายุ 40 กว่าต้องเรียกว่าลุงนะครับตามข้อเท็จจริง แต่เปลี่ยนไปเป็นตายาย
 
สนธิญาณ : ผมไม่ยอมรับครับ 40 กว่ามาเป็นลุง ถ้า 40 กว่าเป็นตายาย ผมไม่เป็นทวดแล้วหรือครับ ผมอายุ 60 ปี ทีนี้กลับมาดูความจริงไม่เคยมองตัวเองว่าตัวเองที่เข้าไปอยู่ในสภาวิชาชีพ คนในองค์กรวิชาชีพทั้งหลายเขายินยอมพร้อมใจ เขาเลือกตั้งคุณขึ้นมาไหม คุณเปิดโอกาสให้เขาได้เข้ามาเลือกตั้งไหม สภาทนายความเขาสู้กันเข้าไปสร้างกลไกลของระบบการเลือกตั้งขึ้น คุณไม่ได้ทำ หนังสือพิมพ์ทยอยปิดตัวไป หลังจากเป็นดิจิตอลก็จะทยอยตัวปิด ประชาชนทำหน้าที่ ในฐานะรายงานข่าวเอง สื่อที่รายงานข่าวไม่ดี ไม่ถูกต้องถูกตรวจสอบตลอดเวลา อย่าว่าแต่ใครครับ ทีนิวส์ก็โดนเกือบทุกวัน นักข่าวและกองบก. เป็นร้อย คุณยุคลเห็นไหมครับผมต้องกระโดดโลดเต้นทุกวัน ทั้งลงโทษตัดเงินเดือนไล่ออกสารพัดจะทำ เพื่อที่จะทำให้เข้าใจว่าโอกาสเหล่านี้เกิดขึ้น แต่ทุกคนทำเอง องค์กรสภาวิชาชีพเข้ามามีส่วนไหม เวลาเกิดความเสียหายในสังคมขึ้น ไม่มีครับ คุณเชื่อมโยงไม่ได้ คุณไม่ได้เป็นองค์กรกลางจริงๆ เพราะฉะนั้น ไม่รู้จะใช้คำว่าอย่างไรแต่ว่า พอกันทั้งคนออกกฎหมายและคนออกมาต่อต้าน
 
ยุคล : แล้วต้องทำอย่างไรต่อไปในอนาคต เดี๋ยวเราไปต่อกันในเบรกหน้าพูดถึงวิวัฒนาการของสื่อโซเชียลมีเดีย และพลังที่เกิดขึ้นในเครือข่ายของพี่น้องประชาชน (พักช่วง) เอาล่ะครับคุณผู้ชม กลับเข้ามาในช่วงสุดท้ายของรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบ เดี๋ยวเราจะไปสู่โลกของปัจจุบันที่เรียกว่าสื่อและอนาคตต่อจากนี้ เชื่อว่าคุณผู้ชมหลายท่านก็คงจะพอสัมผัสได้ว่าสื่อนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง อย่างที่เราเห็นเรื่องของโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป หรือว่าโปรแกรม โซเชียลมีเดีย  แอพพลิเคชั่นต่างๆเหล่านี้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างไร และจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบยังไงกันบ้างเดี๋ยวไปสนทนาต่อกับคุณสนธิญาณนะครับ

 
สนธิญาณ : ต้องทวนเรื่องเก่านิดนึงให้เห็นภาพว่าแต่เดิม เมื่อจะทำการยึดอำนาจ ต้องเคลื่อนกำลังไปคุมสถานีโทรทัศน์ เพื่อนกำลังไปคุมสถานีวิทยุ เพื่อที่จะเอาให้อยู่วันนี้ยึดอำนาจเอาไม่อยู่หรอกครับสถานีโทรทัศน์มี 24 ช่องก็ต้องส่งกำลังกันไป ยังมีเคเบิลทีวีอาจจะตัดจากปลายทางได้ แต่วิทยุชุมชนทั่วประเทศที่มีอยู่คุมไม่ได้ครับ นี่ในแง่อำนาจรัฐ ในแง่ของสื่อ ที่เคยเป็น 18 อรหันต์ วันเกิดเจ้าของสื่อบางคนวันเกิดของเจ้าของหนังสือพิมพ์บางฉบับ ผู้มีอำนาจเดินเรียงแถวเข้าไปคารวะ สิ่งเหล่านี้ต่อไปจะค่อยๆลดน้อยถอยไป เพราะคนที่อยากไปพึ่งก็ไม่รู้จะพึ่งอะไร เพราะไม่มีความหมายอะไร ซึ่งหมายถึง ที่ผมบอกว่าอย่าหลงตัวเอง อย่าโอหัง เพราะความหมายของคำว่าสื่อ เพราะแต่แรกมีสารสาระ เมื่อสารสาระส่งจากผู้ส่งไปที่ปลายทางผู้รับ เรียกว่าผู้รับสาระ จึงต้องมีสื่อกลาง สื่อกลางเริ่มเปลี่ยนมาตั้งแต่ ม้าเร็ว ใบประกาศ จนมาเป็นสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และมาเป็นโลกของโซเชียลมีเดีย ในปัจจุบันสื่อจากต้นทางมาถึงปลายทางเป็นสื่อกลาง วันนี้ที่ผมบอกว่าเปลี่ยนวันนี้ในประเทศไทยมีเว็บไซต์ที่จดทะเบียน 9,000 กว่าเว็บไซต์ เป็นเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับข่าวสื่อโดยตรง 400-500 เว็บไซต์ คุณทราบไหมครับว่า 400-500 เว็บไซต์ใครเป็นผู้ทำบ้าง มีใครเป็นสื่อบ้าง สภาวิชาชีพทั้งหลายทราบไหม คุมได้ไหม เว็บไซต์ที่ว่ามีเว็บไซต์บันเทิง เว็บไซต์กีฬา เว็บไซต์ท่องเที่ยว เว็บไซต์ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ธนาคาร การเงินธุรกิจเป็นสื่อหมดนะครับ พอเอาสาระจากกลุ่มเป้าหมายหนึ่งไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง ข่าวสารก็จะมีการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ก็มีแยกย่อยของตัวเองลงไป วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น มาภายใน 2 - 3 ปีนี้ ก็คือสิ่งที่เรารู้จักกันทั่วทั้งโลกโดยเฉพาะคนไทยคือเฟซบุ๊ก วันนี้มีผู้ใช้อยู่ในประเทศไทย 40 ล้านบัญชี หนังสือพิมพ์มีรายวัน ราย 3 วัน รายสัปดาห์ รายเดือน ทยอยปิดเจ๊งกันไป ขายก็ไม่ได้ คนส่งไม่ทำงาน แผงเริ่มปิดเริ่มกลายมาเป็นหนังสือพิมพ์แจก ส่วนโทรทัศน์ผมเรียนนะครับ ครัวเรือนในประเทศไทยมีอยู่ 22 ล้านครัวเรือน มีโทรทัศน์อยู่ประมาณ 28 ล้านเครื่องถึง 30 ล้านเครื่อง บางบ้านก็มี 2 - 3 เครื่อง ท่านผู้ชมดูพฤติกรรมของท่านผู้ชมทุกวันนี้ดูโทรทัศน์ไหมครับ ไม่ค่อยมีใครดูครับ จะดูรายการตอนนี้ บางคนดูไม่ทันก็กลับไปดูยูทูป เพราะฉะนั้นวันนี้โทรทัศน์ผู้ผลิตโทรทัศน์จึงผลิต โทรทัศน์เป็นมอนิเตอร์ให้เชื่อมโยงอินเตอร์เน็ตโดยตรงเข้ายูทูปได้โดยตรง ไม่มีใครเฝ้าดูโทรทัศน์ เพราะการดูโทรทัศน์ต้องเฝ้าดูตามเวลาและพฤติกรรมผู้บริโภคในวันนี้อยากดูตามความสะดวกของตัวเอง ซึ่งโทรทัศน์จบแน่นอน นี่คือความเป็นจริงในวันนี้ 28 ล้านเครื่องที่อยู่ใน 22 ล้านครัวเรือน และจะไม่ได้ถูกเปิดเพื่อจะรับรายการโดยตรง แต่สิ่งที่เราเห็นในวันนี้มีมือถืออยู่ทั้งสิ้น 60 ล้านเครื่องทั้งหมดจาก 90 ล้านเครื่อง ซึ่ง 60 ล้านเครื่องเป็นมือถือที่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตได้ ท่านอยู่ตรงไหนวันนี้เรียกว่าสังคมก้มหน้าก้มหน้าอยู่ตลอดเวลา เวลาอยู่บนรถไฟฟ้า ทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าแน่นๆก็ยังยืนดูมือถือผ่านมือถืออยู่ตลอดเวลา มือถือจึงกลายมาเป็นที่เชื่อมโยงของสื่อที่ทรงพลังและในตัวเชื่อมโยงที่ทำหน้าที่สื่อแทนวิทยุโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทั้งหมด ก็คือ เฟซบุ๊ก กูเกิ้ล และยูทูป  การเชื่อมโยง อันนี้คือความจริงท่านผู้ชมรู้สึกได้เมื่อเป็นแบบนี้ สื่อพวกนี้ชาวบ้านเขารับสื่อใหม่แล้วชัดเจนใหม่ คนส่วนใหญ่สื่อใหม่จึงมีพลัง วันนี้อันไหนจะเป็นประเด็น ทนายอยากจะดังก็เปิดเฟซบุ๊ก ากระโดดเข้าไปเล่นข่าวหรือคดีที่เป็นกระแสสังคมก็จะดังทันที ไม่ต้องไปอาศัยแบบเมื่อก่อนที่ถ้าอยากดังต้องไปไทยรัฐ ไปเดลินิวส์ ได้ออกโทรทัศน์รายการตีสิบ รายการไตรภพ รายการสรยุทธ จะดังแน่ ทุกวันนี้ไม่มีความหมายถ้าอยากดังก็มา ผ่านทางเฟซบุ๊ก ของตัวเอง เพจที่มีผู้ติดตามเป็นล้านมีไม่รู้ตั้งกี่เพจ โพสต์ครั้งหนึ่งมีคนเห็นเป็นแสน แชร์ไปเป็นแสน หนังสือพิมพ์วันนี้กี่แสนฉบับ กี่หมื่นฉบับ โทรทัศน์ก็ไม่ได้ดู วิทยุก็ฟังเฉพาะตอนอยู่ในรถ อยู่บ้านไม่มีใครฟัง นี่คือความเป็นจริง ผมให้ดูตัวเลขโฆษณาวิทยุหนังสือพิมพ์จากปีละ 130,000 ล้าน เดี๋ยวนี้ลดลง เอาตัวอย่างง่ายๆหนังสือพิมพ์จากเคยมีค่าโฆษณา 17,000 ล้านบาท ปีนี้หนังสือพิมพ์เหลือ 10,000 ล้านบาท หายไป 40 เปอร์เซ็นต์ โทรทัศน์ไม่ต้องพูดถึง ทำไมผมต้องพูดแบบนี้ ผมจะบอกว่าเมื่อเงินโฆษณาไม่ไปสื่อพวกนี้ก็จะเจ๊งไปเรื่อยๆ โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเดี๋ยวนี้ต้องขายยาเสริมอาหารเสริม ต้องทำอะไรไม่รู้เพื่อรักษาชีวิตรอดคุ้มได้ไหมครับ สภาวิชาชีพทั้งหลายช่วยได้ไหมครับ ก็ไม่ได้คุ้มครองสิทธิประชาชนตรงไหนครับ กสทช. ก็ทำอะไรไม่รู้งมไปไม่ได้ครับ เราต้องกลับมาดูเมื่อมาเป็นแบบนี้ จำเป็นไหมที่ต้องจดทะเบียน วันนี้พวกสภาวิชาชีพยังไม่รู้เลยว่าใครเป็นสื่อบ้าง ทำตรงไหนบ้าง ใครเป็นสื่อปลอม ใครเป็นสื่อเทียม ใครไปรีดไถ ไม่รู้เมื่อไม่รู้ คุณจะต้องเปิดกว้างสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ ต้องจดทะเบียน เหมือนทุกวิชาชีพคุณจะจดประเภทไหนก็จดเลย ใครเป็นผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลสมัยผมยังเป็นผู้สื่อข่าวอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลฝ่ายการเมืองมีคนอยู่ 30 คนจะรู้จักกันหมดทุกวันนี้ 500 คน ผมไม่ได้ชี้ทางให้กระรอกหากมีใครจู่ๆปลอมตัวไปยิงผู้บริหารประเทศเสียชีวิต องค์กรสื่อจะรับผิดชอบอย่างไร เมื่อไม่ขึ้นทะเบียนไม่ตีทะเบียน คุณอาจจะบอกว่าเข้าทำเนียบต้องมีบัตรก็ถูกต้องครับ แต่ต้นสังกัดใครรับผิดชอบอะไรอย่างไร ถ้ามีใครลงทุนบอกว่ามาทำงาน เพราะผมจะบอกว่าในบรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลายมีทั้งตำรวจสันติบาล มีทั้งสนพ. มีทั้งเจ้าหน้าที่การข่าวมาแฝงตัวเป็นสื่อเยอะแยะไปหมด นี่คือสิ่งที่พวกวิชาชีพสื่อต้องรู้ สื่อปลอมของพรรคการเมืองที่ออกมาสร้างเชียร์ แต่พรรคการเมืองตัวเองประเทศอื่นไม่มีครับ ถ่ายทอดสดการชุมนุมคุณต้องทำอย่างไร ผมย้ำว่าจะต้องจดทะเบียน เมื่อจดทะเบียนว่าเป็นประเภทไหนก็ต้องมานั่งปรึกษาหารือกัน เมื่อจดทะเบียนเสร็จแล้วถึงจะได้มีการเลือกตั้งสภาวิชาชีพแต่ละแขนงตามแต่ละสาย การจดทะเบียนจะทำให้ของปลอมถูกขจัดออกไป การจดทะเบียนจึงทำให้มาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพมาใช้คุ้มครองได้ เพราะถ้าใครไม่จดทะเบียนเข้ามาทำอาชีพนี้ไม่ได้ เลือกตั้งคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะได้เลือกตั้งในสภาวิชาชีพตั้งขึ้นมา คุณจะมีการเก็บเงินจากองค์กรทำให้จ่ายเงินก็หมายความว่ามีปัญหาเรื่องการต่อใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคนที่จะเลือกตั้งที่จะออกใบอนุญาตก็จะต้องผ่านการเลือกตั้งผ่านกระบวนการที่ตรวจสอบใช้ดุลพินิจต่างๆ ก็ต้องมานั่งหารือกัน แต่ข้อสรุปรัฐไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว ตรงนี้ให้ชัด มาร่างพ.ร.บ.บอกว่ามีอยู่ 2 คนโหวตก็ชนะผมถามเหมือนกันว่า สปท. ผมขอไปนั่งใน คณะกรรมการ กตร. ได้หรือไม่ ตำรวจถูกด่าจะไป ผมจะได้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงระหว่างตำรวจกับประชาชน สร้างความสัมพันธ์เข้าใจอันดี เหมือนกับที่คุณอยากให้มาสร้างความเข้าใจอันดีกับรัฐก็ไม่ได้ครับ คุณเข้ามาไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่สื่อเองก็ที่เขาด่าอยู่นี้เพราะคุณไม่ทำอะไรคุณวนเวียนอยู่ใน 30-40 คนของคุณ คุณไม่ได้สร้างมาตรฐานของวิชาชีพนี้ขึ้นมาคุณไม่มีการว่าใครเป็นสื่อต้องมาจดทะเบียน จะต้องมีเงินบำรุง รักษาเหมือนกับที่พรรคการเมืองจะเก็บสมาชิกพรรค ตรงที่มีเงินมาเป็นกองกลางมาเป็นสวัสดิการ หากเกิดวิกฤตเกิดปัญหาจะช่วยเหลือกันอย่างไร คุณจะทำอย่างไรให้เกิดสถาบันการฝึกอบรมสื่ออย่างมีคุณภาพศักยภาพ ใครที่จะได้ใบอนุญาตต้องผ่านการฝึกอบรมของสภาวิชาชีพอย่างเข้มแข็งอย่างจริงจัง เพื่อจะได้เข้าใจไม่ใช่ว่าใครเดินมาเป็นสื่อก็ได้ นึกอยากจะด่าใครก็ด่า ที่ทีนิวส์ขนาดอบรมมานะครับก็ยังเหนื่อย ต้องลงโทษกันทุกวันเพราะหลงผิดในตัวเอง เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องมีการจดทะเบียน และสร้างสภาวิชาชีพสื่อที่มีศักยภาพเป็นจริง ลงโทษได้มีอำนาจได้ แต่รัฐอย่าเข้ามาแทรกแซง นี่ผมเรียนด้วยความเคารพ อย่ามาประจบผู้มีอำนาจ สื่อเองก็ไปคิดใคร่ครวญถือโอกาสในตอนนี้ทำให้เกิดขึ้นเสียในช่วงการปฏิรูปคุณสามารถดูได้ในโลกโซเชียลมีแต่คนอยากแย่งอาชีพคุณระหว่างคุณไปยืนกัน 30-40 คนคุณจะพบ คุณจะพาดหัว คุณจะพูดด้วยความโอหังอะไรแต่คนเป็นแสนเป็นล้านในโลกโซเชียลด่าประณามอาชีพคุณ
 
ยุคล : เอาล่ะครับคุณผู้ชมครับก็ชัดเจนต้องจับตาดูต่อจากนี้ไปวันนี้เรียกว่าเป็นข้อเสนอผ่านรายการไปเลยนะครับสำหรับสิ่งที่คุณสนธิญาณเสนอแนะออกไป
 
สนธิญาณ : ผมเสียงเดียวเล็กๆ สื่อเล็กๆ ทำโทรทัศน์วันนี้ช่วยทำโทรทัศน์อยู่ช่อง 2 ช่องที่สปริงนิวส์ 1 ช่อง มีข่าวในนิวส์มีเดียก็มีคนอ่านประมาณ 5 - 6 ล้านครั้ง ก็มากกว่าหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์อยู่ หรืออาจจะมากกว่าการดูโทรทัศน์และนี่ก็คือการพัฒนาไปของนิวส์มีเดีย แต่ทีนิวส์เป็นสำนักข่าวเล็กๆ เราเตรียมตัวเสมอ สิ่งที่ผมมีเรียกว่าเป็นประสบการณ์ ตั้งแต่เป็นบรรณาธิการข่าวช่อง 3 มา จนออกหนังสือพิมพ์รายวันรายสัปดาห์ ทำวิทยุไม่รู้ตั้งกี่คลื่น วันนี้ก็ทำทีนิวส์ พยายามที่จะทำตัวเองให้รอดภายใต้กระแสของโลกธุรกิจที่เป็นอยู่ของเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่มีอุดมการณ์และจำนวนมากแต่จำนวนมาก ที่มีอุดมการณ์นั้นกลายเป็นจำนวนน้อยแล้ว เพราะมีสื่อที่ปลอมแปลงแฝงเร้น ตั้งแต่วิทยุชุมชนเป็นโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและในโลกออนไลน์ รวมทั้งคนที่ไม่ได้แฝงเร้นเป็นประชาชนที่เขาทำหน้าที่สื่อโดยตรงอย่างกว้างขวางนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นสิ่งที่ควรทำอาชีพสื่อต้องตระหนัก
 
ยุคล : เอาล่ะครับวันนี้ชัดเจนสำหรับรายการยุคลถามตรงสนธิญาณฟันธงตอบเราจะกลับมาพบกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้าวันนี้ขออนุญาตลาไปก่อนสวัสดีครับ