ครม.ดอดซุ่มเงียบ !!! มีมติลับไม่แคร์คตง. ส่งเรื่องให้อสส.ยื่นศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยปตท.ไม่คืนท่อก๊าซอีกรอบ

ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีมติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 59 ให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งคืนท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลัง เนื่องจากยังมีการส่งคืนไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ล่าสุด ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 60 มอบหมายให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำขอตามมาตรา 75/3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2559 โดยให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เข้ามามีส่วนร่วมในคดีดังกล่าว และให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 50 ให้ครบถ้วนเพื่อประกอบการยื่นคำขอของพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อเสนอของ สตง.ที่ให้บริษัท ปตท.คืนท่อก๊าซที่ขาดไปให้กับกระทรวงการคลัง ด้วยการปรับเปลี่ยนบัญชีงบดุลจากทรัพย์สินเป็นสิทธิการเช่า โดยจะไม่เกิดความเสียหายกับบริษัท ปตท. ซึ่งหากยินยอมส่งคืนก็เพียงแต่แจ้งให้ศาลปกครองสูงสุดทราบเท่านั้น ข้อขัดแย้งก็จะยุติลง อย่างไรก็ตาม มติ ครม.ดังกล่าวได้ถูกทักท้วงจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งมีการประชุมในวันที่ 2 มี.ค. 60 เห็นว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง และให้ สตง.ส่งเรื่องให้ ครม.ทบทวนมติดังกล่าว เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่ได้รายงานผลการประชุม 4 ฝ่าย คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานอัยการสูงสุด และ สตง. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 59 อย่างถูกต้อง เพราะมติที่ประชุมครั้งนั้นให้ปฏิบัติตามข้อเสนอของ สตง.โดยให้ ครม.ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 โดยให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ดำเนินการให้ ปตท.ส่งคืนท่อก๊าซดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังตามหลักการบังคับบัญชา โดยไม่ต้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีบังคับ

แต่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กลับมีหนังสือแจ้งคณะรัฐมนตรีให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้วินิจฉัยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งมอบท่อก๊าซครบถ้วนหรือไม่ โดยไม่ได้ขอให้ ครม.ใช้หลักการบังคับบัญชาสั่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซให้ครบถ้วน ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องเสร็จที่ 1320/2559 ประกอบมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 10 พ.ค. 59 เป็นเหตุให้ ครม.สำคัญผิดจนมีมติเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 60 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดให้พิจารณาวินิจฉัยว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งมอบท่อก๊าซครบถ้วนหรือไม่ ซึ่ง คตง.เห็นว่ามติดังกล่าวไม่ถูกต้อง ขอให้ทบทวนและดำเนินการให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสี่ฝ่ายเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 59 คือให้คณะรัฐมนตรีใช้หลักการบังคับบัญชาส่งให้มีการส่งมอบท่อก๊าซตามข้อเสนอของ สตง. เป็นที่น่าสังเกตว่าเอกสารราชการที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากรณีการแบ่งแยกท่อก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ล้วนตีตราหัวเอกสารว่าเป็นเรื่องลับมาก แม้แต่มติ ครม.วันที่ 21 ก.พ.60 ที่ให้อัยการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยกรณีนี้อีกครั้ง ก็ไม่มีการแถลง หรือเปิดเผยต่อสาธารณชนแต่อย่างใด โดยหลังจากที่ คตง.มีมติให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งคืนท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเลมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลังไป เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 59 และ ครม.มีมติในวันที่ 27 ก.ย. 59 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาและรายงานผลการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามความเห็นของ สตง. ซึ่งมีการประชุมหลายครั้ง อาทิ การประชุมระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กรมธนารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 21 ต.ค. 59 และการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมธนารักษ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 59 อันเป็นที่มาของการนำมติที่ประชุมวันดังกล่าว เป็นเหตุผลที่ คตง.ใช้ในการทักท้วงมติ ครม. ที่ให้ส่งศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยเรื่องความถูกต้องในการคืนท่อก๊าซอีกครั้งว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง
          สำหรับมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 59 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) มี 2 ประเด็นคือ 1. เห็นพ้องให้ดำเนินการตามแนวทางความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงการคลังนำเสนอแนวทางดำเนินการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ประกอบกับมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ระบุให้คณะรัฐมนตรีสามารถสั่งการให้มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดได้ตามหลักการบังคับบัญชา ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีได้สั่งการและมีการส่งมอบแล้ว คณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็สามารถแจ้งต่อศาลปกครองสูงสุดว่า มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว และ 2. ในการนำเสนอแนวทางการดำเนินการตามข้อ 1 ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วยว่า การดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะมีสภาพบังคับตามกฎหมายในการให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนทรัพย์สินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่ายังขาดไปหรือไม่ เพียงใด หากไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายก็ขอให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ในศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าวเพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

ในขณะที่ นายอภิศักดิ์ ทำหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 16 ธ.ค. 59 ให้ความเห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โอนทรัพย์สินตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น ก็อาจเป็นการโต้แย้งสิทธิต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียที่จะใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีได้ และแม้กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แต่ก็ไม่อาจจะดำเนินการใดๆ เพื่อให้มีการโอนทรัพย์สินของบริษัท ปตท.ฯ ไปเป็นของตนได้ เพราะถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว อันมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงเสนอให้คณะรัฐมนมตรีมีมติให้คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.ฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ในคดีศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อมีคำสั่งว่าทรัพย์สินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่ายังขาดไปนั้น เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องโอนให้แก่กระทรวงการคลังหรือไม่อย่างไร โดยให้มีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินและกระทรวงการคลังเข้าเป็นคู่กรณีเพื่อให้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีนี้ด้วย