ไม่ไหวแล้ว!! เครือข่ายเกษตรกรยางพารานัดรวมตัวใหญ่ขอพึ่ง "นายกฯตู่"  กู้ชีวิตชาวสวนใช้ม.44 ฟันนายทุนทุบราคาร่วงรูด??

ติดตามรายละเอียด Facebook : Deeps News

ถือเป็นปัญหาคาราคาซังมาตลอดต่อเนื่องหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา  กับสถานการณ์ราคายางตกต่ำ  จนทำให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราต้องออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการแก้ปัญหาให้ตรงจุด  จากระดับาคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3   ณ ตลาดกลางยางพารา อ.หาดใหญ่   เมื่อวันที่  23  พ.ค. 2560   ราคาอยู่ที่ 74.10 บาท  แต่เมื่อวันที่ 9  มิ.ย. ที่ผ่านมา  ราคาลดลงมาเหลือเพียง  58.95 บาท  ต่อกิโลกรัม

ล่าสุด   นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศ (สยยท.)  ระบุว่า  ทางสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง จะได้ร่วมกับตัวแทนอีก   9 องค์กรทั่วประเทศประมาณกว่า 100 คน  ขอยื่นเรื่องและข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขายยางขาดทุนต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  และหัวหน้าคสช.   ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้  เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือเกษตกรสวนยาง 4 มาตรการ ที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรฯจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นมาตรการเดิมๆ ซึ่งไม่สามารถทำให้ราคายางมีการขยับตัวขึ้นแต่อย่างใด  หรือเรียกว่าเป็นมาตรการเหล้าเก่าในขวดใหม่เท่านั้น

 

“จึงขอเรียกร้องให้นายกฯใช้มาตรา  44 เล่นงานพ่อค้ายางรายใหญ่ ที่ทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทุบราคายางในประเทศเราเอง ไม่ใช่จากตลาดโลกผันผวน  พ่อค้ายางพวกนี้มียางในมืออยู่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งสามารถต่อรองตลาดโลกได้ ซึ่งรัฐบาลควรบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ควบคุมยางยึดใบอนุญาตซื้อขายได้ทันที   อีกทั้งผู้ว่าฯกยท.ต้องเร่งประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย โดยในวันที่ 19 มิ.ย. เวลา 14.00 น.ทางกลุ่มฯจะมีการประชุมกันที่สมาคมสื่อเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และจะสรุปประเด็นเรียกร้องทั้งหมดเสนอนายกฯในวันที่ 20 มิ.ย. เวลา 10.00 น.ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล”

ก่อนหน้านั้นตัวแทนจากสมาคมชาวสวนยางพารา 9 สมาคม นำโดย นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย   ได้เคยยื่นข้อเรียกร้องให้การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. เร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำภายใน 10 วัน เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงต้นฤดูเปิดกรีด อีกทั้งมีฝนตกชุก ปริมาณยางออกสู่ตลาดยังไม่มากนัก แต่ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางกลับลดลงอย่างต่อเนื่อง

 


โดยปัญหาที่ทำให้ราคายางตกต่ำ เชื่อว่าเกิดจากการที่นักวิชาการของ กยท.ได้ออกมาเสนอข่าวเกี่ยวกับการใช้กรดซัลฟิวริก (sulfuric acid) และกรดฟอร์มิก (Formic acid) ในการผลิตยางแผ่นดิบและยางก้อนถ้วย ทำให้ยางไม่ได้คุณภาพ ส่งผลให้ราคารับซื้อลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการบริหารงานของ กยท.ที่ผ่านมาไม่มีความโปร่งใส และพยายามกีดกันไม่ให้ผู้แทนชาวสวนยางเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งภายใน 10 วันนี้ หากยังไม่สามารถทำให้ราคายางขยับสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่กิโลกรัมละ 65 บาทได้ จะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เพื่อขอให้ทบทวนการทำงานของ กยท. พร้อมกับเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง

 

ขณะที่นายธีธัช  สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องบริษัทยางล้อต่างประเทศจะไม่ซื้อยางแผ่นของไทย  เพราะคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ว่า ขอให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่าตื่นตระหนกกับข่าวดังกล่าว เบื้องต้นตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่าไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทฯ ยังเปิดรับซื้อยางจากเกษตรกรตามปกติ แต่ยางของเกษตรกรบางส่วนขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเกิดจากกรรมวิธีการผลิตไม่ถูกต้อง เช่น เปิดกรีดขณะยางอ่อน ใช้สารเร่งน้ำยาง ใช้สารจับตัวที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ หรือการเจือจางน้ำมากเกินไป เนื่องจากเมื่อเริ่มฤดูกาลเปิดกรีดใหม่น้ำยางสดจากการเปิดกรีดครั้งแรก อาจจะมีสารที่ไม่ใช่ยางสูงขึ้นบ้างเล็กน้อยขึ้นกับสภาพต้นยางที่แตกต่างกัน และน้ำยางสดช่วงแรกของการเปิดกรีดมีค่าความอ่อนตัวเริ่มแรก แต่ค่าความหนืดเฉลี่ยมากกว่า 65 ซึ่งยังสูงกว่ามาตรฐานยางแท่งเอสทีอาร์ 20


ส่วนราคายางปรับตัวลดลงต่อเนื่องช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดจากตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าทั้งตลาดโตเกียว (TOCOM) และ ตลาดเซี่ยงไฮ้ (SHEF) ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การแข็งค่าของค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ราคาน้ำมันลดลง และการคาดการณ์สตอกยางของประเทศจีนที่ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ราคายางภายในประเทศปีนี้คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 60 – 70 บาทต่อกิโลกรัม และการส่งออกยางพาราครึ่งปีหลังยังมีทิศทางสดใส โดยจะมุ่งเน้นส่งเสริมให้เกษตรกรเพิ่มสัดส่วนการแปรรูปยางพาราเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออก ซึ่งเชื่อมั่นว่าคุณภาพยางพาราไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แม้ว่าจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาดอย่างประเทศกัมพูชาก็ตาม