ชาวสวนยางว่าไง!? "ครม." เห็นชอบออก 4 มาตรการ แก้วิกฤติราคายางพาราตกฮวบผิดปกติ !?!

ติดตามรายละเอียด http:www.tnews.co.th

จากปัญหาวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งชาวสวนยางต้องประสบกับปัญหานี้ทุกปี  โดยปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบและความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางอย่างแสนสาหัส เนื่องจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ภาวะหนี้สินในครัวเรือนของเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มสูงขึ้น คุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางก็ตกต่ำลง อีกทั้งการดำเนินงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ผ่านมายังไร้ประสิทธิภาพ ตามที่ได้มีการเสนอข่าวไปก่อนหน้าแล้วนั้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไม่ไหวแล้ว!! เครือข่ายเกษตรกรยางพารานัดรวมตัวใหญ่ขอพึ่ง "นายกฯตู่" กู้ชีวิตชาวสวนใช้ม.44 ฟันนายทุนทุบราคาร่วงรูด??

ล่าสุดที่ประชุมครม.ได้หารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (13 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบ 4 มาตราการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่21 เม.ย.60 ภายหลังราคายางพาราลดต่ำลง ดังนี้ 

1. ขยายเวลาโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวมยางพาราภายใต้แนวทางยางพาราทั้งระบบ ซึ่งได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ 1 ก.ย.57-31 มี.ค.60 และมีการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) มาประมาณ 6 พันล้านบาท สามารถรวบรวมรับซื้อยางพาราได้ 1.15 ล้านตัน จึงขออนุมัติขยายเวลาการดำเนินโครงการต่อไปอีก 3 ปี ภายในกรอบวงเงินสินเชื่อ10,000 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 31 มี.ค.60-31 มี.ค.63

 

2. ขยายระยะเวลาโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง (เพิ่มเติม) ออกไปอีก 90 วันเพื่อรองรับเกษตรกรตกค้างจากคราวที่แล้วยังไม่ได้แจ้งรับสิทธิ์ประมาณ 11,460 ครัวเรือน เนื่องจากรอบที่แล้วมีการจ่ายเงินให้เจ้าของสวนยางและคนกรีดยางจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เป็นเจ้าของสวนยาง 7 แสนครัวเรือน และคนกรีดยางอีกประมาณเกือบ 7 แสนครัวเรือน

 

3. ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ซึ่งหมดอายุไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 60 ออกไปอีก 1 ปี เนื่องจากโครงการเดิมดำเนินการมาตั้งแต่ 9 พ.ค.55-31 มี.ค.56 องค์การสวนยางรับซื้อยางจากสถาบันเกษตรกรแล้วประมาณ 2 แสนตัน และระบายออกไปแล้ว 73%

 


4. สนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง คราวนี้การยางแห่งประเทศไทยขออนุมัติอีก 10,000 ล้านบาท ระยะเวลา พ.ค.60-เม.ย.62 ใช้แหล่งสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่ผู้ประกอบการใช้บริการอยู่แล้ว และรัฐจะยังสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปีจำนวนไม่เกิน 300 ล้านบาท คาดว่าจะดูดซับยางจากระบบประมาณร้อยละ 20 ของผลผลิตน้ำยางข้น 2 แสนตัน และเพื่อให้เป้าหมายราคายางอยู่ที่ 70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งผู้ที่จะร่วมโครงการนี้ได้ต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น จดทะเบียนในประเทศไทยและมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งของทุนจดทะเบียน

 


นอกจากนี้ นายณัฐพร ยังกล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้(14 มิ.ย.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์จะประชุมร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และอาจมีมาตรการเรื่องการแก้ปัญหาราคายางเพิ่มเติม