ติดตามรายละเอียด http:www.tnews.co.th

เกาะติดกันต่อเนื่องสำหรับอนาคตการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในขณะนี้  เนื่องจากเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินงบประมาณประเทศเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันทางด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงว่าจะล่าช้าเพราะอุปสรรคด้านกฎหมาย จึงได้ลงนามใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อคเพื่อทำให้สามารถเดินหน้าโครงการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งก็มีข้อทักท้วงว่าถ้าเปรียบเทียบในเชิงรายละเอียดแล้ว โครงการรถไฟรางคู่ (ความเร็วปานกลาง)   ถือว่ามีความคุ้มค่ามากกว่าในหลายมิติ ทั้งความคุ้มทุนการดำเนินโครงการ และโอกาสทำให้สำเร็จในระยะเวลาที่เหมาะสมกับจังหวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

 

ไม่พ้น“บิ๊กตู่”แน่ๆ!! ผช.ปลัดคมนาคมแจงยิบจำเป็นใช้ม.44 ดันโครงการรถไฟเร็วสูง โดน“ไพศาล พืชมงคล”สวนปัง ฟังแล้วหนักกว่าเก่าอาจถึงขั้น“วงแตก”??

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขอหนึ่งเสียงคนไทย!! “ไพศาล พืชมงคล” ย้ำชัด"รถไฟทางคู่"เหมาะสุดเมืองไทย AIIB พร้อมหนุนเงินทุน ใช้งบประมาณถูกกว่า เชื่อมปท.เพื่อนบ้านได้ทันที?

 

 

 

ด้านนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงคมนาคม ชี้แจงถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านคำสั่งมาตรา 44 เรื่องรถไฟไทย-จีนรวม 4 ประเด็นว่า 


1.จากกรณีที่นายศรีสุวรรณระบุว่า คำสั่งมาตรา 44 ที่กำหนดให้บุคคลธรรมดา นิติบุคคลวิศวกรและสถาปนิกของจีนได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพ.ร.บ.วิศวกร 2542 และ พ.ร.บ.สถาปนิก 2543 ซึ่งหากบุคคลต่างๆ ดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับโครงการฯ หรือกับสภาพแวดล้อมและคนไทย จะไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายไทยได้  นายสรพงศ์ ชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าวมิได้ยกเว้น พระราชบัญญัติวิศวกรพ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 ทั้งฉบับ โดยยกเว้นเพียงมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาต จึงมิได้เกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในภายหลัง และในกรณีที่เกิดความเสียหายสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่สัญญาให้รับผิดชอบทางแพ่งได้ ซึ่งได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว รวมทั้ง National Development and Reform Commission ในนามรัฐบาลจีน ยังคงมีความรับผิดชอบในฐานะที่มอบหมายรัฐวิสาหกิจจีนมาเป็นคู่สัญญากับไทยตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558–2565(MOU)


2.ข้อคัดค้านที่ว่า การยกเว้นกฎหมายของไทยมาใช้ปฏิบัติบังคับกับโครงการฯ อีกกว่า 7 ฉบับ จะทำให้โครงการฯ และบุคคลธรรมดา นิติบุคคล วิศวกรและสถาปนิกของจีน มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของคนไทยโดยชัดแจ้ง   นายสรพงศ์ ชี้แจงว่า   การยกเว้นกฎหมายดังกล่าวเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่บุคลากรของจีน ซึ่งเป็นงานในส่วนของการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อนโดยวิศวกรจีนและสถาปนิกจีนหากเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทยยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นของไทยทุกประการ และหากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการพื้นฐานด้านงานโยธาที่มิได้เกี่ยวข้องกับงานการออกแบบ ควบคุมงานและระบบรถไฟความเร็วสูง วิศวกรและสถาปนิกจีนยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งมิได้ยกเว้นในคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับดังกล่าว   


3. ข้อคัดค้านที่ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักธรรมาภิบาล (ม.75 ) ขัดต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ (ม.62, 76) และเป็นการเลือกปฏิบัติ (ม.7) ที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจการกำหนดราคากลางได้ตามอำเภอใจโดยการใช้อำนาจการยกเว้นไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมาตรา 107/3 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2554



4. หากโครงการดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติและลงนามในสัญญากันระหว่างไทย-จีน รัฐบาลจะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนไม่เช่นนั้นก็จะเข้าข่ายขัดต่อ ม.178 แห่ง รธน. 2560 

นายสรพงศ์  ชี้แจงว่าสัญญาในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน หากเข้าข่ายมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะรัฐสภาก่อนการลงนามในสัญญาต่อไป ซึ่งขณะนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนส่ง สนช. พิจารณาตามรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ล่าสุดนายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)  ซึ่งแสดงความเห็นในเชิงแตกต่างไปจากแนวทางที่กระทรวงคมนาคมกำลังผลักดันอยู่ในขณะนี้  ได้โพสต์แสดงความเห็นเพิ่มเติมดังปรากฎรายละเอียดดังต่อไปนี้


"อ่านคำแถลงของผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการรถไฟในปัญหาข้อกฎหมายหลายข้อในการออกคำสั่งตามม.44 ซึ่งแสดงว่ามีสารพัดกลุ่ม มีข้อกังขาในเรื่องนี้ จนต้องแถลงชี้แจง ผมเห็นว่าประเด็นที่แถลงนั้นไม่ใช่ข้อสำคัญเท่าใดนัก ชี้แจงดีๆ ก็เข้าใจได้ง่าย แต่ที่ชี้แจงนั้นนักกฎหมายอย่างผมก็ยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ผมเห็นว่าประเด็นที่น่าห่วงใยมากที่สุดคือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในครั้งนี้โดยเฉพาะ ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี มีข่าวปรากฏว่า ยังไม่มีการลงมติในเรื่องนี้ และจะเสนอคสช.พิจารณาเรื่องนี้ในสัปดาห์หน้า ครั้นเวลา 4 ทุ่มก็มีข่าวประกาศราชกิจจานุเบกษาว่ามีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 จึงน่าห่วงว่าได้มีการ ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 265 ประกอบรัฐธรรมนูญ 57 มาตรา 44 หรือไม่ ถ้ามิได้ปฏิบัติ ก็จะเป็นโมฆะ  และประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นก็คือการออกคำสั่งตามมาตรา 44 ในปัจจุบันนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญมาตรา 265 และรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 44 ด้วย หากไม่เข้าเงื่อนไขนี้ก็จะเป็นโมฆะประเด็นกฎหมายตรงนี้ต่างหากที่น่าห่วงดังนั้นจึงต้องตรวจตรากันให้ดีต้องระวังแผนเตะขาม้าด้วยนะคร้าบ ทางที่ดีควรทำตามข้อตกลงเดิมที่ครม.รวมถึงสนช.เห็นชอบตามรัฐธรรมนูญแล้ว และให้คนที่รักชาติบ้านเมืองมาทำก็จักสำเร็จเป็นประโยชน์บ้านเมืองและไม่ต้องอับอายขายหน้าชาวโลกด้วย


ประเด็นสำคัญคือถ้ายอมรับว่าอาจจำเป็นต้องเสนอสภานิติบัญญัติให้ความเห็นชอบข้อตกลง รถไฟไทยจีนอันไหม่ ก็เท่ากับยอมรับว่าที่กำลังทำอยู่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงครั้งแรกระหว่างทั้งสองประเทศตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติและสภานิติบัญญัติได้ให้ความเห็นชอบ และถ้าหากจะเสนอสภานิติบัญญัติในฐานะที่เป็นข้อตกลงใหม่ก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย  นั่นคือต้องแสดงอย่างชัดเจน ว่าการดำเนินโครงการนี้จะนำเงินที่ใด จำนวนเท่าใดไปลงทุน โครงการนี้จะมีรายได้มีรายจ่ายมีผลกำไรและขาดทุนอย่างไร และรายละเอียดของการดำเนินโครงการจะเป็นอย่างไร และเมื่อถึงตอนนั้น ผมเชื่อว่าวงแตก เพราะคงยากที่จะแสดงที่มาของเงินและผลกำไรของโครงการลงทุนสร้างรถไฟความเร็ว 120 กิโลเมตรระยะทาง 200 กม. วงเงินแสนเจ็ดหมื่นล้านบาท สู้การใช้รถยนต์วิ่งตามมอเตอร์เวย์ไม่ได้ทั้งคนโดยสารก็ไม่มาก ย่อมมีผลขาดทุนยับเยินและส่อว่าจะเป็นรถไฟเน่า ประชาชนคงไม่ยอมแน่ ท้ายสุดโครงการนี้คงจะล้ม สมประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์รถยนต์ และไทยจะตกรถไฟอย่างสมบูรณ์ จึงต้องใคร่ครวญให้จงดีว่าจะทำรถไฟทางคู่เชื่อมโยงประเทศไทยกับเส้นทางรถไฟหลักของโลกตามข้อตกลงเดิมที่สภานิติบัญญัติเห็นชอบแล้วหรือจะสร้างรถไฟในประเทศที่จะเป็นรถไฟเน่าซ้ำรอยเครื่องบินเน่า หรือสนามบินเน่า หรือแอร์พอร์ตลิงค์เน่า หรือ CTX เน่า อันเป็นผลงานในอดีต"

 


ทั้งนี้มีรายงานว่านายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบเรื่องหัวหน้า คสช.มีมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2560  โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า ที่มาวันนี้อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการใช้อำนาจของคสช. 4 ประเด็น


1.คสช. มีมาตรการเร่งรัดและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา ทำให้มีผลกระทบต่อเอกราช อธิปไตย และทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินบริเวณสองข้างทางข้างละ 150 เมตร เพื่อให้ประเทศจีนหรือรัฐวิสากิจจีนนำไปพัฒนาเป็นแหล่งการค้า หรืออื่นๆ  


2.ในคำสั่งดังกล่าว ยังยกเว้นกฎหมายของไทยหลายฉบับ อย่างน้อย 7 ฉบับ ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง 


3.การใช้อำนาจออกคำสั่ง 30/2560  เป็นการใช้อำนาจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 265 ปะกอบมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการใช้อำนาใดๆ ของคสช. ควรใช้อำนาจเท่าที่จำเป็น หรือที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเท่านั้น และต้องไม่ขัดต่อบทบัญญัติอื่นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 


4.โครงการดังกล่าว ก่อนที่รัฐบาลไทยดำเนินการลงนามในสัญญาระหว่างตัวแทนราชอาณาจักร ไทย-จีน   รัฐบาลจะต้องขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) หรือรัฐสภาเสียก่อน  เพราะหนังสือสัญญาดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็น หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาตามกฏหมายระหว่างประเทศ  อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้าง ถ้าหากเรื่องนี้มีความผิดจริงอยากผู้ตรวจการแผ่นดินให้ส่งเรื่องนี้ไปยังปปช. เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ออกคำสั่ง