คุณพ่อคุณแม่อุ่นใจได้ !!! ประกาศ "พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก" เพื่อยกระดับสู่มาตรฐานสากล

วันที่ ๑๐ ก.ค. ๒๕๖๐ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติ ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐ โดยระบุรายละเอียดว่า

 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ให้ไว้ ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคําแนะนําและยินยอมของ
สภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาด อาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ๒๕๖๐”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ทารก” หมายความว่า เด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสิบสองเดือน
“เด็กเล็ก” หมายความว่า เด็กอายุเกินสิบสองเดือนจนถึงสามปี
“อาหารสําหรับทารก” หมายความว่า

(๑) นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีส่วนประกอบของสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอที่จะใช้เลี้ยงทารกตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

(๒) นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้เลี้ยงทารกได้
“อาหารสําหรับเด็กเล็ก” หมายความว่า นมหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้ ที่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าใช้ในการเลี้ยงเด็กเล็กและเฉพาะตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการ

“อาหารเสริมสําหรับทารก” หมายความว่า อาหารที่ใช้เสริมคุณค่าทางโภชนาการและสร้างความคุ้นเคยในการบริโภคอาหารให้แก่ทารกที่มีอายุตั้งแต่หกเดือนขึ้นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

“ผู้ผลิต” หมายความว่า ผู้ทํา ผสม ปรุงแต่ง แบ่งบรรจุ รวมบรรจุ หรือเปลี่ยนภาชนะบรรจุ

“ผู้นําเข้า” หมายความว่า ผู้นําหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

“ผู้จําหน่าย” หมายความว่า ผู้ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ หรือมีไว้เพื่อจําหน่าย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า

“ฉลาก” หมายความว่า ฉลากตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร

“โฆษณา” หมายความว่า การกระทําไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น หรือทราบข้อความทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า

“ข้อความ” หมายความรวมถึง การกระทําให้ปรากฏด้วยตัวอักษร รูป รอยประดิษฐ์ ภาพ ภาพยนตร์ แสง เสียง เครื่องหมาย หรือการกระทําอย่างใด ๆ ที่ทําให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าใจความหมายได้

“ส่งเสริมการตลาด” หมายความว่า การกระทําใดๆ ที่มุ่งหมายเพื่อการจําหน่าย สร้างภาพลักษณ์หรือประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้มีการใช้อาหารสําหรับทารก อาหารสําหรับเด็กเล็กหรืออาหารเสริมสําหรับทารก แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ทางการค้า

“หน่วยบริการสาธารณสุข” หมายความว่า สถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลหรือสถานพยาบาลซึ่งดําเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ หรือสภากาชาดไทย และให้หมายความรวมถึงองค์กรเอกชน ที่มีวัตถุประสงค์ไม่แสวงหากําไรและดําเนินกิจกรรมเกี่ยวกับด้านสุขภาพแม่และเด็ก และองค์กรวิชาชีพ ด้านสาธารณสุข

“องค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข” หมายความว่า คณะกรรมการวิชาชีพในสาขาต่างๆ ตามกฎหมาย ว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ แพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม สภาการพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ทันตแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม
สภาเภสัชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม สภากายภาพบําบัดตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพกายภาพบําบัด สภาเทคนิคการแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ สภาการแพทย์แผนไทย ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย สภาการสาธารณสุขชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ การสาธารณสุขชุมชน หรือสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

“บุคลากรด้านสาธารณสุข” หมายความว่า บุคลากรทุกสาขาอาชีพที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการสาธารณสุข และให้หมายความรวมถึงอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขด้วย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ประกาศนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กยังไม่เหมาะสมและไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ประกอบกับประเทศไทยได้ให้การรับรองหลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (The International
Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ ๓๔ (WHA ๓๔.๒๒) และในการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งที่ ๖๓ (WHA ๖๓.๒๓) ที่ประชุมมีมติให้แต่ละประเทศปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นกฎหมาย ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทย มีมาตรการในการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็กที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ มาตรฐานสากล จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อ่านราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็มคลิก