โอ้โห! กม.พิจารณาคดีลับหลังอย่างโหด ย้อนหลังถึง ‘แม้ว’ หรือ ‘ปู’ หนีก็ไม่รอด

โอ้โห! กม.พิจารณาคดีลับหลังอย่างโหด ย้อนหลังถึง ‘แม้ว’ หรือ ‘ปู’ หนีก็ไม่รอด

ออกมาเพื่อนักการเมืองโดยเฉพาะ! สำหรับร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาขององผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบ 176 เสียง 
ใจความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาไต่สวนคดีลับหลังจำเลย กล่าวคือ ต่อให้จำเลยหลบหนีระหว่างการพิจารณาคดี ศาลสามารถตัดสินลับหลังได้
ที่สำคัญอีกจุดคือ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 67 กำหนดว่า “ให้คดีที่ได้ยื่นฟ้องและได้ดำเนินการไว้ก่อนที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.นี้ทั้งหมด”
 


นั่นเท่ากับว่า คดีนักการเมืองก่อนหน้านี้ที่มีการหลบหนีก่อนศาลฎีกาฯ ตัดสินสามารถดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุนี้คดีของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกจำหน่ายออกมาเป็นชั่วคราว เฉพาะในส่วนของ “ทักษิณ” ไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ, คดีปล่อยกู้ของเอ็กซิมแบงก์ หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, คดีแปลงสัญญาสัมปทานโทรคมนาคม เอื้อประโยชน์ธุรกิจของตัวเองและครอบครัว และคดีหวยบนดิน สามารถนำกลับมาพิจารณาลับหลังได้
ลำพังโทษจากคดีเก่าๆ ก็หนักหนาพอที่จะทำให้ “ทักษิณ” ไม่กล้าที่จะกลับประเทศแล้ว เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมา คงต้องบอกว่า ยาว!   
นอกจากนี้ ยังมีคนที่ต้องหนักใจอีกไม่น้อย โดยเฉพาะคดีหลังจากนี้ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ กับพวกเป็นจำเลย คดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ที่มีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย และคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น. เป็นจำเลย
โดยคดีพันธมิตรฯ จะตัดสินในเดือนสิงหาคม จากนั้นจะเป็นคดีทุจริตจีทูจี ก่อนในเดือนกันยายนจะจบด้วยคดีของยิ่งลักษณ์ ซึ่งตอนนี้กฎหมายผ่านสนช.แล้ว ขั้นตอนจากนี้คือ ทูลเกล้าฯ จึงคาดการณ์กันว่า กฎหมายน่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงที่คดีความต่างๆ ใกล้จะตัดสินทั้งสิ้น


ดังนั้น ถ้าจำเลยมีการหลบหนีระหว่างนั้น ไม่ว่าขั้นตอนใด ถ้าจำเลยเผ่นออกจากประเทศ ศาลสามารถพิจารณาลับหลังได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะกรณีของ “ยิ่งลักษณ์” ที่มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ที่สุดเธออาจเลือกเจริญรอยตามพี่ชายคือ ออกไปตั้งหลักต่างประเทศ
แต่การหนีของเธอก็ไม่สามารถทำให้คดีสะดุดลงไปได้ เพราะต่อให้ไม่มีเธอในช่วงใดก็ตามหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว ศาลสามารถตัดสินได้ตลอด!
ขณะที่เรื่องหลักนิติธรรม ที่อาจจะมีการต่อสู้จากฝ่ายจำเลยว่า กฎหมายไม่สามารถย้อนหลังในสิ่งที่เป็นโทษได้นั้น เรื่องนี้ไปฟังจากทัศนะของ “เข็มชัย ชุติวงศ์” รองอัยการสูงสุด ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเกี่ยวกับกฎหมายเอาไว้ว่า “กฎหมายฉบับนี้คือ วิธีพิจารณา ดังนั้น ทำให้มีผลทันที และมีผลไปถึงคดีที่เกิดก่อนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้ด้วย ส่วนที่ระบุว่าไม่ให้มีผลย้อนหลังนั้นคือ บทบัญญัติเกี่ยวกับโทษทางอาญา”
กล่าวคือ วิธีพิจารณาไม่ใช่โทษ ดังนั้น ย้อนหลังได้!
นี่จึงเป็นกฎหมายปราบนักการเมืองโดยเฉพาะ โดยเฉพาะพวกชอบหนี ที่ตอนนี้ถ้าคิดหนี หรือต่อให้หนีได้ แต่ก็ไม่รอดคำตัดสินอยู่ดี.
เรียบเรียงโดย อุปนิกขิต