กรมอุทยานฯ นำร่องฟื้นฟู "ปะการัง" คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ ฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่ทางทะเล!!!

ติดตามข่าวเพิ่มเติม http://www.tnews.co.th

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จังหวัดภูเก็ต นายเฉลิมชัย ปาปะทา  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการฟื้นฟูปะการังในโครงการ  “การจัดทำแปลงอนุบาลปะการัง เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศแนวปะการังอุทยานแห่งชาติสิรินาถ” รวม 3 พื้นที่ คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ที่จะผลิตตัวอ่อนจำนวนไม่น้อยกว่า 480 โคโลนี นับเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมในเขตในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งอื่นๆ ต่อไป

 

กรมอุทยานฯ นำร่องฟื้นฟู "ปะการัง" คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ ฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่ทางทะเล!!!

นายเฉลิมชัย ปาปะทา  รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า สภาวะปัจจุบันแนวปะการังในประเทศไทย และทั่วโลกหลายบริเวณตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การเกิดพายุ การเกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นผิดปกติ การระบาดของสิ่งมีชีวิตบางชนิด เช่น ดาวมงกุฎหนาม การผุกร่อนจากการกระทำของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ร่วมกับปะการัง จากการเจาะ การปล่อยสารเคมี นอกจากนี้การกระทำที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์โดยตรงจากทรัพยากรที่มีในแนวปะการัง จากการทำประมงโดยวิธีการที่ไม่เหมาะสม การทำประมงเกินขีดการรองรับของธรรมชาติ กิจกรรมการท่องเที่ยวในแนวปะการัง การพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่ง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมภายในระบบนิเวศปะการัง ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด

 

นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กรมอุทยานฯ จึงต้องเร่งดำเนินการฟื้นฟูแนวปะการัง ทั้งวิธีที่ช่วยให้ระบบนิเวศแนวปะการังค่อยๆ ฟื้นฟูด้วยตัวเองแต่อาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน กรมอุทยานฯ จึงต้องหาวิธีช่วยเร่งการเพิ่มขึ้นของประชากรปะการัง โดยเฉพาะปะการังเขากวางที่โดนผลกระทบจากการฟอกขาวเมื่อปี 2553 อีกทั้งจำนวนพ่อแม่พันธุ์ลดลงอย่างมาก ทั้งในบริเวณสิรินาถเองและบริเวณแนวปะการังในเขตใกล้เคียงที่อาจเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ด้วย  ดังนั้นการฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง จึงมีความสำคัญและน่าจะช่วยส่งเสริมขบวนการฟื้นตัวของแนวปะการังตามธรรมชาติ ให้เป็นไปได้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับพื้นที่ที่จะทำการฟื้นฟูปะการังจะดำเนินการในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จำนวน 3 พื้นที่ โดยเลือกจากบริเวณที่มีปะการังฟื้นตัวได้ดีและอยู่ใกล้ตำแหน่งที่ฟื้นฟู ได้แก่ บริเวณหน้าศูนย์ประชารัฐ โดยเลือกบริเวณที่ฟื้นฟูคือ บริเวณทิศตะวันตกเกาะปลิง และทิศตะวันตกเกาะแวว และบริเวณศูนย์ประชารัฐพิทักษ์ทะเลเยื้องไปทางที่ทำการในการจัดทำแปลงอนุบาลปะการังทั้งสามบริเวณนั้น เลือกจัดทำในบริเวณพื้นทรายนอกแนวปะการัง หรือบริเวณแอ่งทรายในแนวปะการัง ความลึกประมาณ 6 – 8 เมตร

 

กรมอุทยานฯ นำร่องฟื้นฟู "ปะการัง" คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ ฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่ทางทะเล!!!


 
“อย่างไรก็ตาม การดูแลและการจัดการทรัพยากรแนวปะการัง ที่มีประสิทธิภาพนั้น ย่อมเกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การแสวงหาความร่วมมือ  การปลูกฝังจิตสำนึก การถ่ายทอดความรู้ การฝึกปฏิบัติให้แก่ชุมชน และรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรจึงเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่มีความสำคัญ ดังนั้นในการดำเนินงานครั้งนี้ จึงได้เพิ่มกระบวนการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปปฏิบัติจริงต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมอุทยาน กล่าว

 

กรมอุทยานฯ นำร่องฟื้นฟู "ปะการัง" คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ ฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่ทางทะเล!!!

 

​ด้านนายปรารภ แปลงงาน หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการ อุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับวิธีการดำเนินการสร้างแปลงอนุบาลแปลงต้นไม้ปะการัง (Coral tree) กรมอุทยานฯได้เลือกชนิดปะการังเขากวาง เนื่องจากเป็นปะการังกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการฟอกขาวในปี 2553 มากที่สุดจะต้องเร่งฟื้นฟู โดยเราเริ่มจากการนำเศษปะการังที่แตกหักตามธรรมชาติมาตัดแต่งให้ได้ขนาด หรือใช้วิธีตัดชิ้นส่วนขนาดเล็กออกจากโคโลนีใหญ่ ยาวประมาณ 5 ซม. และสุ่มติดเครื่องหมายบนโคโลนีใหญ่ที่ถูกตัดชิ้นส่วนออกไปเพื่อติดตามผลการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ ซึ่งวิธีนี้เป็นการลดการสูญเสียแหล่งพ่อแม่พันธ์ของแนวปะการัง จากนั้นนำชิ้นส่วนมายึดติดไว้กับต้นไม้ปะการัง โดยจัดทำจากวัสดุท่อพีวีซีขนาด 1/2 นิ้ว การยึดติดใช้วิธีการแขวนห้อยชิ้นส่วนขนาดเล็ก จำนวนชิ้น ในการจัดเตรียมแปลงอนุบาลในแต่ละพื้นที่กำหนดไว้จำนวน 300 โคโลนี ฉะนั้นจำนวนรวมในการจัดทำแปลงอนุบาลครั้งนี้เท่ากับ 900 โคโลนี ต่อจากนั้นปล่อยให้ชิ้นส่วนในแปลงอนุบาลเจริญเติบโตโดยให้มีระยะเวลามากกว่า 6 เดือน ถึง 1 ปี จึงค่อยนำชิ้นส่วนที่เจริญเติบโตย้ายไปยังตำแหน่งที่ต้องการฟื้นฟูต่อไป

นายปรารภ อธิบายต่อว่า การสร้างแปลงอนุบาลแปลงต้นไม้ปะการัง ประกอบด้วยท่อพีวีซีสีขาวสอดสายเชือกไนลอน มีแขนยื่นออกด้านข้างซ้ายและขวา ปลายด้านบนยึดติดกับทุ่นลอยขนาด 6 นิ้วจำนวน 2 ลูก อาจเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักของปะการัง ปลายด้านล่างยึดติดกับฐานอิฐบล็อกคานจำนวน 3 ก้อน เพื่อถ่วงน้ำหนักด้านล่าง ชิ้นส่วนปะการังถูกผูกติดแขนที่ยื่นออกมาด้วยเส้นเอ็นยาวประมาณ 2 – 3 นิ้ว ซึ่งครั้งนี้จัดทำแปลงใน 3 พื้นที่ จำนวนรวม 480โคโลนี   จัดทำแปลงปลูกในลักษณะต้นไม้จำลอง 20 ต้น ในแต่ละต้นปลูกได้ต้นละ 24 ชิ้น​

 

กรมอุทยานฯ นำร่องฟื้นฟู "ปะการัง" คาดเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ ฟื้นฟูทรัพยากรพื้นที่ทางทะเล!!!

 

หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฯ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณดำเนินการการท่าอากาศยานภูเก็ต สนับสนุนอุปกรณ์ทั้งหมด โดยกรมอุทยานฯ คาดว่าการดำเนินการครั้งนี้จะเพิ่มจำนวนประชากรของพ่อแม่พันธุ์ที่จะผลิตตัวอ่อนจำนวนไม่น้อยกว่า 480 โคโลนี นอกจากนั้นยังเป็นโครงการนำร่องในการฟื้นฟูทรัพยากรที่เสื่อมโทรมในเขตในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งอื่นๆ ต่อไปด้วย