ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

เผยภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" อีกครั้ง บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปทรงจุดฝักแค พระราชทานเพลิงศพ นางรสสุคนธ์ ภูริเดช มารดาของ พล.อ. จักรภพ ภูริเดช หัวหน้าสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษในพระองค์ฯ รักษาราชการผู้บังคับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และมารดาของ พ.ต.อ. จิรภพ ภูริเดช รองผบก.ป. ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส นับเป็นการจุดฝักแคพระราชทานเพลิงศพคราวแรกในรัชกาลปัจจุบัน

อนึ่ง การจุดฝักแคพระราชทานนั้น เป็นธรรมเนียมสำหรับการจุดไฟพระราชทานเพลิงศพข้าราชการทั่วไป หรือผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นในสมัยใด แต่มีหลักฐานปรากฏในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 15 ว่ามีการจุดฝักแคพระราชทานเพลิงมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในปี พ.ศ. 2395 แล้ว

         โดยก่อนที่จะทำการจุดฝักแคนั้น พระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานผ้าไตรส่วนพระองค์ให้แก่ผู้สืบสกุลหรือทายาทนำไปทอดบนเมรุ ขั้นตอนคือ

         - จะมีเจ้าพนักงานและพนักงานเชิญผ้าไตรไปพร้อมกับทายาท ไปยืนหน้าพลับพลาเฉพาะพระพักตร์ฯ ถวายคำนับพร้อมกันแล้วเจ้าพนักงานกราบบังคมทูลพระกรุณา แล้วจึงถวายคำนับอีกครั้ง

         - จากนั้นพนักงานจะเชิญผ้าไตรนำทายาทขึ้นสู่เมรุ พระสงฆ์จะทอดผ้าไตรและบังสุกุล โดยทายาทถวายคำนับก่อนและหลัง

         - จากนั้นพนักงานพระราชพิธีจะเชิญพานเครื่องขมาศพไปวางเครื่องขมาที่หน้าศพ และจะอัญเชิญไฟสำหรับจุดฝักแค สุดท้าย พระเจ้าอยู่หัวทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิง ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะมิได้เสด็จขึ้นบนเมรุแต่อย่างใด
 
         แต่หากงานพระราชทานเพลิงศพนั้นมีพระราชวงศ์พระองค์อื่นตามเสด็จพระราชดำเนินมาด้วย หลังจากพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไฟจุดฝักแคแล้ว พระราชวงศ์ทุกพระองค์ที่อยู่ในงานจะเสด็จขึ้นบนเมรุเพื่อพระราชทาน / ประทานดอกไม้จันทน์ ตามลำดับ
 
         สำหรับลักษณะของฝักแคนั้น จะเป็นกระดาษชนิดหนึ่งบรรจุด้วยดินปืนและตกแต่งห่อหุ้มให้สวยงามเป็นรูปสัตว์ในวรรรณคดี เมื่อจุดไฟแล้วฝักแคจะวิ่งไปตามลวดที่ขึงทอดยาวไปจนถึงหน้าโกศ / หีบศพ
 
         อนึ่ง ผู้ที่จะทรงจุดฝักแคมีเพียงสองพระองค์เท่านั้น คือ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี โดยผู้ที่เสด็จแทนพระองค์จะไม่สามารถจุดฝักแคพระราชทานได้

เผยภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" อีกครั้ง บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

 

ทั้งนี้จากข้อมูลในหนังสือ "พระพิธีธรรม" ของกรมการศาสนา ได้ระบุเอาไว้ด้วยว่า ผู้ที่พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงจุดฝักแค แต่จะเสด็จขึ้นเมรุเพื่อพระราชทานหรือถวายพระเพลิงด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วย
   
         - พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

         - สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมราชกุมารี

         - สมเด็จเจ้าฟ้า

         - สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ

         - พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระวรวงศ์เธอ

         - พระราชวงศ์ที่เป็นสะใภ้หลวงซึ่งได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า

         - หม่อมเจ้าที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทยขึ้นไป หรือได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ

         - สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราช

         - สมเด็จพระราชาคณะ

         - พระราชาคณะชั้นเจ้า คณะรอง (หิรัญบัฏ)

         - พระราชาคณะชั้นธรรม

         - ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ถึงแก่อสัญกรรมขณะดำรงตำแหน่ง

         - ประธานองคมนตรีและองคมนตรีที่ถึงแก่อนิจกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง

         - นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรต่าง ๆ ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฯ และรัฐมนตรีที่ถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่ง

         - ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า

         - ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตน์ราชวราภรณ์
 
         ส่วนผู้ที่จะได้รับพระราชทานจุดฝักแค โดยหลักแล้วคือผู้ที่ได้รับผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก และผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ แต่ในบางกรณีที่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้น พระมหากษัตริย์อาจพระราชทานเพลิงโดยการเสด็จขึ้นเมรุเป็นพิเศษ อาทิ คุณพุ่ม เจนเซ่น พระโอรสในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี หรือ หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา ที่รับราชการสนองพระเดชพระคุณมายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปบนเมรุเพื่อจุดไฟพระราชทานเพลิงหน้าโกศศพ เป็นต้น

 

เผยภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" อีกครั้ง บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐

 

อย่างไรก็ดี ธรรมเนียมการจุดฝักแคอาจจะเลือนหายไปในระยะหลัง อันเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 มิได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพผู้ใด แต่ภาพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ ทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ในการสืบทอดโบราณราชประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป

 

ขอขอบคุณเนื้อหา  เผยภาพประวัติศาสตร์ "จุดฝักแค" อีกครั้ง บนแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐