ติดตามรายละเอียด deeps.tnews.co.th

ดัชนี World Giving Index มุ่งวัดพฤติกรรมที่สะท้อนความใจบุญสุนทานของพลเมืองใน 139 ประเทศทั่วโลก โดยอาศัยข้อมูลจากแกลลัปโพลซึ่งสอบถามประชาชน 146,000 คน และใช้เกณฑ์ทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ การบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิ การเป็นอาสาสมัคร และการให้ความช่วยเหลือคนแปลกหน้า

รายงานประจำปี 2017 พบว่า สัดส่วนประชากรโลกที่มีการบริจาคเงินในปี 2016 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางมูลนิธิเก็บข้อมูลสำหรับจัดทำรายงานของปีนี้ ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี

ประเทศตะวันตกซึ่งมีดัชนีความใจบุญติด 20 อันดับแรกของโพล ได้แก่ นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา,ออสเตรเลีย, แคนาดา, ไอร์แลนด์, เนเธอร์แลนด์, สหราชอาณาจักร, มอลตา, ไอซ์แลนด์, เยอรมนี และนอร์เวย์ ล้วนมีคะแนนลดลงระหว่าง 1-5 จุดในปีนี้ ส่วนคะแนนรวมของทวีปยุโรป เอเชีย และโอเชียเนีย ก็นับว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ผลสำรวจพบว่า แอฟริกาเป็นทวีปเดียวที่มีคะแนนความใจบุญสุนทานเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปี

“แม้ทวีปของเราจะเผชิญวิกฤตท้าทายมากมาย แต่ก็น่าปลื้มใจที่ผู้คนมีน้ำใจไมตรีต่อกันมากขึ้น” จิลล์ เบตส์ ผู้บริหาร CAF ประจำภูมิภาคแอฟริกา ระบุ

พม่ายังคงรั้งแชมป์ประเทศที่ใจบุญที่สุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่ง CAF ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะชาวพม่านิยมบริจาคทรัพย์และสิ่งของทำบุญให้แก่พระสงฆ์ แม้จะครั้งละไม่มากแต่ก็ทำอยู่เป็นเนืองนิจ อย่างไรก็ตาม คะแนนความใจบุญของชาวพม่ายังลดลงราวๆ 5 จุด จากที่เคยทำสถิติสูงเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว

ผลสำรวจทั่วโลกพบว่า การบริจาคเงินและช่วยเหลือคนแปลกหน้าลดลงราวๆ 2% ขณะที่การเป็นอาสาสมัครลดลง 1%

กลุ่มประเทศร่ำรวยซึ่งมีค่าจีดีพีต่อหัว 10 อันดับแรกของโลก ตั้งแต่สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เรื่อยไปยังเดนมาร์ก ล้วนมีคะแนนความใจบุญลดลง

ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9 ใน 10 คนเคยบริจาคเงินช่วยเหลือผู้อื่นในช่วง 1 เดือนก่อนการสำรวจ โดยอินโดนีเซียกลายเป็นประเทศที่มีดัชนีความใจบุญสูงอันดับที่ 2 ของโลกเมื่อวัดจากเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ แซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งรั้งตำแหน่งนี้ในปี 2016 ขณะที่ไทยขยับจากอันดับที่ 37 ขึ้นมาอยู่ที่ 16 ของโลก และติดอันดับ 5 ในกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนผู้บริจาคเงินมากที่สุด

เยเมนซึ่งเป็นรัฐยากจนที่สุดในตะวันออกกลาง และได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามกลางเมือง ถูกจัดไว้ในอันดับท้ายตารางของ World Giving Index ปี 2017