ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

                วันที่ ๒๐ ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ นับได้ว่าพระองค์ทรงเป็น "ยอดขัตติยนารี" ๓ กษัตริย์ กล่าวคือ เป็นพระพระราชธิดาในรัชกาลที่ ๔ เป็นพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ ๕ และเป็นพระบรมราชชนนีในรัชกาลที่๖และรัชกาลที่๗ กล่าวคือพระองค์ทรงเป็นลูกของกษัตริย์ เมียของกษัตริย์ และเป็นแม่ของกษัตริย์ นั่นเอง

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

              สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ ๖๖ พระประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญศก จ.ศ. ๑๒๒๕ ซึ่งตรงกับเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๗ เป็นพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็ก โดยรับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระเชษภคินีอีก ๒ พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี) และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) พระองค์ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมราชบิดาเมื่อวันอังคาร เดือนยี่ แรม ๑๐ ค่ำ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีกุน เบญศกนั้นว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วรรคบริวารนามเดิมเป็นอาทิและอันตอักษร ขอพรคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครและพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุพรรณสุขพลปฏิภาณสารสิริสมบัติศรีสวัสดิพิพัฒมงคล ศุภผลพิบูลยทุกประการ เทอญ"

       นอกจากนี้ พระองค์ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

"ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่าโสภาสุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุข แลไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใครๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้ทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อเทอญ"

 

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

        เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นรัชกาลที่ ๕ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระฐานันดรศักดิ์ของพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี

         พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น พระองค์ก็มีพระสิริโฉมงดงาม เป็นที่พอพระทัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเข้ารับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ ๕ ขณะที่มีพระชนม์ ๑๕ พรรษา โดยมีพระองค์เจ้าหญิง พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ ๔ ที่รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับพระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรี และพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา โดยครั้งแรกที่พระองค์ได้รับราชการเป็นพระภรรยาเจ้าในรัชกาลที่ ๕ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระองค์ให้เป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และในปีถัดมาก็ได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี

          พระภรรยาเจ้าทั้ง ๔ พระองค์มีพระเกียรติยศเสมอกันทุกพระองค์ พระเกียรติยศที่จะเพิ่มพูนนั้นขึ้นอยู่กับการมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเป็นสำคัญ จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ เกิดเหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์โดยเรือพระประเทียบล่มระหว่างโดยเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระราชวังบางปะอิน จึงทำให้เกิดปัญหาในการจะออกพระนามในประกาศทางราชการ ซึ่งนำมาสู่การจัดระเบียบภายในพระราชสำนักว่าด้วยตำแหน่งพระภรรยาเจ้าให้เป็นที่เรียบร้อย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชเทวี" ซึ่งถือเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์แรก และ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ขึ้นเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ต่อไป เฉลิมพระนามาภิไธยว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี" โดยในวันงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ก็ได้มีประกาศยืนยันฐานะสมเด็จพระอัครมเหสีให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นโดยเพิ่มคำว่า “บรม” เข้าไปในคุณศัพท์ของคำว่าราชเทวีอีกหนึ่งคำ ดังนั้น พระนางเจ้าสว่างวัฒนาจึงได้รับการเฉลิมพระนามาภิไธยเป็น "สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี" ซึ่งเป็นตำแหน่งสมเด็จพระอัครมเหสี เนื่องจากพระองค์เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ ส่วนพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีนั้นได้รับการสถาปนาเป็น พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระอัครมเหสีลำดับที่สาม

 

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

           ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระราชโอรสในพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารพระองค์ต่อไป พร้อมทั้งสถาปนาพระอิสริยยศของพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวีในฐานะเป็นพระชนนีในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระองค์ใหม่ ซึ่งเป็นพระยศพระอัครมเหสีเช่นเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

            ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ.๒๔๔๐ เพื่อตรวจดูแบบแผนราชการแล้วนำมาเปรียบเทียบปรบปรุงการปกครองของราชอาณาจักรสยาม พร้อมกันนั้นก็เพื่อทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับอารยประเทศในยุโรป พระองค์จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแผ่นดินได้เรียบร้อยเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถจรรยนุวัติปฏิบัติ ประกอบด้วยพระราชอัธยาศัยสภาพสมด้วยพระองค์เป็นขัติยนารีนาถ และกอปรด้วยพระกรุณภาพยังสรรพกิจทั้งหลายที่ได้พระราชทานปฏิบัติมาล้วนแต่เป็นเกียรติคุณแก่ประเทศสยามทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระนามาภิไธย จาก สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็น "สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ" นับว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรกแห่งประเทศไทย

           ส่วนคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนตรัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ และเจ้าพระยาอภัยราชาสยามานุกูลกิจ (โรลังยัคมินส์) โดยมีพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม เป็นราชเลขานุการ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

 

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

            หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ทรงพระราชดำริว่า พระราชประเพณีได้เคยมีมาเมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกใหม่ ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศแลเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระพันปีหลวงฉลองพระเดชพระคุณเป็นปฐม เพื่อเป็นศุภมงคลและราชสมบัติ พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี" บางครั้งออกพระนามว่า "สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง" และทูลเชิญพระองค์เสด็จมาประทับที่พระราชวังพญาไท ซึ่งพระองค์ก็เสด็จประทับที่พระราชวังแห่งนี้จนกระทั่งสวรรคต

            สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๑๔ พระองค์ ซึ่งต้องมีพระราชภาระในการเลี้ยงดู ซึ่งพระราชโอรส ๒ พระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดิน อีกทั้งพระราชโอรสองค์อื่นๆ ก็ได้เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท นำพาความเจริญสู่ชาติบ้านเมืองเป็นอันมาก อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งนับว่าพระองค์เป็นพระบิดาผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

 

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

            หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ก็ทรงทุกข์ระทมในพระราชหฤทัย ทำให้พระองค์ทรงประชวรและปฏิบัติพระราชกรณียกิจไม่ได้มากหลังจากนั้น พระองค์ต้องประทับอยู่แต่ที่พระราชวังพญาไท ไม่ให้ผู้ใดรบกวน ห้ามไม่ให้รถยนต์ รถม้าถนนใกล้ขับเคลื่อนเสียงดังโดยเด็ดขาด เหตุที่ห้ามก็เพราะว่า พระองค์จะทรงบรรทมหลับในเวลากลางวัน แม้แต่เสียงนกร้อง ก็ต้องมีข้าราชบริพารในวังเอาไม้ส่องไปเป่าไล่ เพื่อไม่ให้ส่งเสียงรบกวนพระองค์ นายแพทย์สมิธ ซึ่งเป็นแพทย์ชาวอังกฤษที่มีหน้าที่ถวายการรักษาพระอาการของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี เขียนไว้ในหนังสือ "A physician at the court of Siam" ว่า

"พระนางตื่นบรรทมระหว่างหกโมงถึงสองทุ่ม เมื่อทรงเปลี่ยนฉลองพระองค์เสร็จแล้วเจ้าพนักงานก็จะโทรศัพท์มาตามหมอสมิธที่บ้าน เพื่อให้มาตรวจพระอาการ ถ้ามีอาการประชวรก็จะจัดยาให้ แต่ถ้าไม่มีอาการประชวร พระนางก็ทรงโปรดสนทนาเกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป ทรงมีความรู้อย่างดีเลิศเกี่ยวกับพระราชวงศ์ในมหาประเทศต่างๆ ในด้านตะวันตกของโลก ไม่ทรงโปรดอ่านหนังสือเอง แต่จะให้ข้าราชบริพารอ่านให้ฟังเสมอ ก่อนบรรทมจะต้องมีคนอ่านวรรณคดีหรือหนังสือพิมพ์ถวาย"

             

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

             สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงพระประชวรเรื้อรัง มีพระอาการไข้ รวมทั้งมีพระอาการพิษขึ้นในพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) และการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น ได้นำความวิปโยคแสนสาหัส ที่กระทบกระเทือนพระราชหฤทัยและการที่พระองค์ประทับอยู่แต่ประแท่นบรรทม ทรงไม่ออกกำลังพระวรกาย ทำให้มีน้ำหนักพระองค์มาก จึงทำให้กระดูกเปราะ จะเสด็จไปที่ใดก็ลำบากและพระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนืองๆ มีพระโรคาพาธมาประจำพระองค์คือ พระวักกะอักเสบเรื้อรัง ซึ่งแพทย์หลวง ได้ถวายการรักษาอย่างดีตลอดมา แต่พระอาการไม่ดีขึ้นได้ นายแพทย์สมิธ นายแพทย์ประจำพระองค์ เล่าว่า

"คืนหนึ่งพระนางป่วยหนัก มีอาการอาเจียรทั้งคืน พอตีสองพระนางสิ้นสติปลุกไม่ตื่น มีอาการไข้ขึ้นสูงไม่ได้สติ แต่พระวรกายยังอาเจียร เปรียบเสมือนคนหลับแต่ยังอาเจียรตลอด"

             นายแพทย์สมิธระบุว่าเป็นเพราะพระยกนะ (ตับ) วายหรือพระยกนะเสีย ทุกฝ่ายทั้งแพทย์ และข้าราชบริพารช่วยกันเต็มที่ ที่จะรักษาพระองค์ แต่ในเวลา แปดนาฬิกาตอนเช้าวันต่อมา ก็เสด็จสวรรคต มีบันทึกว่า สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถได้ทรงอยู่ดูแลพระมารดาทั้งคืนจนรุ่งเช้า เมื่อข่าวการประชวรหนักของพระองค์ พระโอรส พระประยูรญาติและ ข้าราชบริพารต่างก็มาเฝ้าดูแลพระอาการด้วยความห่วงใย โอรสพระองค์เดียวที่ไม่ได้เสด็จมาเลยก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีทรงประชวรไข้พระวรกาย ทนพิษไม่ได้ จึงเสด็จสวรรคตวันจันทร์ที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ พระชนมายุ ๕๕ พรรษา ณ พระตำหนักพระราชวังพญาไท

 

ยอดขัตติยนารี ๓ กษัตริย์!! น้อมรำลึก วันคล้ายวันสวรรคต "พระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี" สมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ !!

             พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระบรมศพ และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมศพประกอบพระลองทองใหญ่ขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก ภายในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมราชชนนีและทรงโปรดให้มีการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาประดิษฐาน ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ภายในพระอุโบสถ

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ_พระบรมราชชนนีพันปีหลวง