เปิดที่มา...การเผาหลอก-การเผาจริง ธรรมเนียมโบราณ ที่เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 5

ติดตามรายละเอียด FB : DEEPS NEWS

เว็บไซต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ได้เปิดเผยข้อมูลที่มาที่ไป และเกร็ดความรู้เกี่ยวกับวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งแต่เดิมจะถวายพระเพลิง หรือพระราชทานเพลิงเสร็จภายในครั้งเดียว ไม่ได้มีพิธีศพ 2 ครั้ง หรืออย่างเรียกที่เรียกกันว่า การเผาหลอก และ การเผาจริง

วิธีการเผาหลอก และ การเผาจริงนั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อราว ๆ ปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในขณะนั้น เรียกวิธีการนี้ว่า เปิดเพลิง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้บันทึกเกี่ยวกับที่มาและความแพร่หลายของพิธีนี้ว่า

"แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวง ในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ 5 เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพ เดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิง จึงปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสีย และคอยระวังถอนธูปเทียนออกเสียจากภายใต้เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้ว จึงเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ ในเวลาที่เผาจริง ๆ เช่นว่านี้ มักมีพวกเจ้าภาพอยู่ที่เมรุบ้าง จึงเกิดนึกเอาผ้าทอดให้พระสดัปกรณบ้างตามศรัทธา ดังนี้จึงเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง ญาติสนิทเผาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเปิดเพลิง กรมนเรศร์เป็นผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเป็นผู้ตั้งศัพท์ เผาพิธี และ เผาจริง ขึ้น เลยเกิดถือกันว่าผู้ที่เป็นญาติและมิตรจริงของผู้ตายถ้าไม่ได้เผาจริงเป็นการเสียไป และการเผาศพจึ่งกลายเป็นเผา 2 ครั้ง"

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 2453 ถือเป็นงานระดับพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ที่ได้รับการถวายพระเพลิงตามธรรมเนียมการเผาหลอกและการเผาจริงนี้ โดยเริ่มจากการอัญเชิญพระบรมศพจากที่ประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง ออกมาถวายพระเพลิงยังพระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง ซึ่งกระทำภายในวันเดียว

ส่วนการเปิดเพลิงนั้น จะกระทำตอนกลางคืน นอกจากนี้แล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมในบางประการเพิ่มเติม อย่างเช่น การงดใช้หยวก มะละกอ และฟักทองแกะสลักประดับแท่นจิตกาธาน แต่ใช้ดอกไม้สดแทน และในระหว่างการถวายพระเพลิง เหล่าทหารได้บรรเลงแตรวง พร้อมกับยิงปืนใหญ่ ปืนเล็ก เสียงกึกก้อง เป็นการถวายพระเกียรติยศ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ได้กลายเป็นระเบียบปฏิบัติต่อการจัดงานพระบรมศพ และพระศพต่อเนื่องกันมานับแต่นั้น

งานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่เกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ถือว่ายังคงธรรมเนียมเดิม เช่นเดียวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะเห็นได้จากงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งพระราชพิธีเริ่มในตอนเย็นของวันที่ 10 มีนาคม 2539 ซึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงประกอบพิธีทางฝ่ายสงฆ์ในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นบนพระเมรุมาศ

ต่อมาในเวลา 17.25 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงรับธูปเทียนดอกไม้จันทน์จากเจ้าพนักงาน ทรงจุดไฟเทียนชนวน แล้วทรงวางไว้ใต้ท่อนไม้จันทน์บนพระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระโกศพระบรมศพ หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ  พระบรมราชินีนาถ ทรงถวายบังคมพระบรมศพ ส่วนการถวายพระเพลิงจริงนั้น เริ่มเวลา 22.43 น. หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมายังพระเมรุมาศ และเสร็จสิ้นพิธีการทางศาสนาในพระที่นั่งทรงธรรมแล้ว

สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช นั้น การเผาหลอกและการเผาจริง ก็ยังคงยึดถือตามธรรมเนียมเดิม โดยหมายกำหนดการระบุว่า พิธีทางสงฆ์จะเริ่มต้นขึ้นในเวลา 16.30 น. โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จฯ มายัง พระที่นั่งทรงธรรม ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยสำหรับพระบรมศพทรงธรรมที่พระเมรุมาศ หลังจากนั้น สมเด็จพระสังฆราชถวายพระธรรมเทศนา

เมื่อจบแล้ว พระราชาคณะ 50 รูป สวดศราทธพรต ถวายไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์ และทรงทอดผ้าไตร ถวายพระเทศน์ และพระสงฆ์ที่สวดศราทธพรต สดับปกรณ์ ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระที่นั่งทรงธรรม เสด็จฯ ไปประทับที่มุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ต่อจากนั้น ตัวแทนจิตอาสาถวายพานดอกไม้จันทน์ 9 พาน

ต่อมาในเวลา 17.30 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ขึ้นพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเสด็จฯไปประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม จากนั้นพระราชทานพระราชานุญาตให้ สมเด็จพระสังฆราช สมด็จพระราชาคณะ พระบรมวงศานุวงศ์ พระประมุข ประมุข พระราชวงศ์ ผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ฯลฯ ขึ้นถวายพระเพลิงพระบรมศพตามลำดับ หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปฎิสันถารกับพระประมุข ประมุข พระราชวงศ์ และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลา 20.30 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ มายังที่นั่งพระทรงธรม เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเมื่อถึงเวลา 22.00 น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปประทับมุขหน้าพระที่นั่งทรงธรรม โดยเจ้าพนักงานปฎิบัติการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จแล้ว ทรงทอดผ้าไตรที่พระจิตกาธาน หลังจากนั้น พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ เสร็จแล้วเสด็จฯ กลับ 

ภาพและข้อมูลจาก
silpa-mag.com, ratchakitcha