ฝรั่งตอกหน้าสื่อต่างชาติ! "งานพระราชพิธีฯไม่ฟุ่มเฟือย" การแสดงความอาลัยต่อคนที่เรารักอย่างสุดซึ้งอย่างอลังการ ต่างชาติก็ทำ แถมใช้งบมากกว่า!!

ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://www.tnews.co.th

วันนี้(29 ต.ค.2560) ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กคุณเจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ ได้เผยแพร่ข้อความอันอ้างถึงบทความภาษาอังกฤษชื่อ A King’s funeral, and a chance to show the world the best of Thai culture โดยแดน บลาฮาสสกี้ ที่ได้ตีพิมพ์ในเว็บไซด์ NewsOrg โดยเนื้อหาในบทความดังกล่าวได้อธิบายถึงรายละเอียดของงการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพให้ชาวต่างชาติได้เข้าใจในแง่มุมที่ถูกต้องตามขนบวัฒนธรรมและความเป็นไทย
 

ฝรั่งตอกหน้าสื่อต่างชาติ! "งานพระราชพิธีฯไม่ฟุ่มเฟือย" การแสดงความอาลัยต่อคนที่เรารักอย่างสุดซึ้งอย่างอลังการ ต่างชาติก็ทำ แถมใช้งบมากกว่า!!

ซึ่งต่อมาบทความดังดล่าวได้รับการแปลเป็นภาษาไทยอย่างละเอียดโดยคุณกลอยตา ณ ถลาง ซึ่งได้รับการนำมาเผยแพร่ในเฟซบุ๊กดังต่อไปนี้...

เรารักความอลังการ – การแสดงออกในการเฉลิมฉลองหรือการไว้ทุกข์อย่างอลังการ ทำให้เราในฐานะมนุษย์สามารถเชื่อมโยงกับคนที่เรารักได้ลึกซึ้งขึ้น คนทั่วโลกชื่นชอบที่จะได้เห็นพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และเลดี้ไดอาน่า เมื่อไม่นานมานี้  ชาวโลกก็ชื่นชมกับพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าชายวิลเลี่ยมและเคท มิดเดิลตัน 

 

ประชากรประเทศเราร่วมกันไว้อาลัยกับการสูญเสียประธานาธิบดีจอห์น เคนเนดี้ผู้ยิ่งใหญ่ในปี พ. ศ. 2506  มีคนนับแสนชุมนุมอยู่หน้าทำเนียบขาวเพื่อรอโอกาสที่จะเข้าไปอำลาประธานาธิบดีที่รักเป็นครั้งสุดท้าย    คนทั้งประเทศร้องไห้    ประมุขแห่งรัฐและสมาชิกราชวงศ์จากทั่วโลกบินไปวอชิงตันเพื่อแสดงความเคารพ  ค่าใช้จ่ายในครั้งนั้นทั้งหมดคิดเป็นเงินประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยยังไม่ได้ปรับอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในตอนนั้นไม่ได้เป็นประเด็นปัญหาอะไร และจริงๆ แล้วก็ไม่ควรจะเป็นประเด็นใดๆ ให้นำมากล่าวถึงเลยด้วยซ้ำ

 

ไม่แปลกใจที่มีการใช้จ่ายอย่างเต็มที่เพื่อจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ลำดับที่เก้าในราชวงศ์จักรี ผู้ทรงครองราชย์เป็นเวลา 70 ปี  ในระหว่างพระราชพิธีนี้ เราได้เห็นความยิ่งใหญ่ในสองรูปแบบด้วยกัน รูปแบบแรกคือความยิ่งใหญ่อลังการของงานพระราชพิธี ส่วนความยิ่งใหญ่รูปแบบที่สองคือการที่คนไทยจำนวนมหาศาลเดินทางไปถวายความอาลัยแด่ “พ่อของคนไทยทุกคน” ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

 

พระราชพิธียิ่งใหญ่นี้เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนได้แสดงออกถึงความโศกเศร้าเสียใจของตน     ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะสร้างมิตรภาพระหว่างกันและกัน   มีโอกาสได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเองอย่างลึกซึ่งขึ้น   เพื่อเผยให้โลกได้เห็นถึงความมหัศจรรย์

 

ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ศิลปินหลายพันคนได้ตระเตรียมงานประติมากรรมและฝึกซ้อมศิลปการแสดงแบบไทยๆ ที่สวยงาม   กวีไทยบางส่วน – รวมถึงภรรยาของผม – ทุ่มเทเวลาและพลังงานในการคิดหาถ้อยคำอันคัดกรองสมบูรณ์แบบเพื่อเขียนบทกวีที่เหมาะสมกับโอกาสนี้ ซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่เพียงแต่จะแสดงความเสียใจของการจากไปของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวที่พวกเขารู้จัก แต่เป็นโอกาสที่จะแสดงให้โลกเห็นถึงความงดงามอลังการของวัฒนธรรม ผลงานศิลปะสาขาต่างๆ และศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย

 

การแสดงบนเวทีสามเวทีที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้ๆ กับพระบรมมหาราชวังแสดงให้โลกได้เห็นถึงศิลปะการแสดงอันทรงคุณค่าที่สุดของไทยซึ่งรวมถึงการแสดงโขน ซึ่งผมได้มีโอกาสได้ชมการถ่ายทอดสด นี่ไม่ใช่แค่งานศพเท่านั้น นี่คือการที่คนไทยได้บอกกับคนทั้งโลกว่า "นี่คือตัวตนของเรา"

 

แล้วค่าใช้จ่ายเล่า..

สื่อตะวันตกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบีบีซีได้วิพากษ์วิจารณ์ค่าใช้จ่ายโดยประมาณการไว้ที่ 90 ล้านเหรียญ อาจดูเหมือนจะฟุ่มเฟือยสำหรับคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวใดๆ แต่สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่ใช้ชีวิตใต้ร่มพระบารมีของพระองค์ท่านมาชั่วชีวิต และนับถือพระองค์ว่าเปรียบเสมือนพ่อของคนไทยทั้งชาติคือสิ่งที่เหมาะสมและสมพระเกียรติอย่างยิ่ง   ทำไมเราถึงชมพิธีอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงไดอาน่า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ปรับเงินเฟ้อแล้ว 110 ล้านเหรียญ ก็เพราะสิ่งนี้คือสิ่งที่ชุบชูจิตใจ และเราก็ปรารถนาให้เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์และไดอาน่ามีความสุขในชีวิตสมรส บีบีซีไม่เห็นค่อนแคะเรื่องนี้แม้แต่น้อย    สำหรับคนไทยแล้วพิธีกรรมแบบดั้งเดิมนี้เป็นส่วนหนึ่งของการไว้อาลัยและให้เกียรติผู้ที่จากไป

 

ในฐานะปัจเจกชนและพลเมืองของประเทศ  เราเองอยากได้และต้องการการเฉลิมฉลองเหล่านี้  แต่เรามักวิพากษ์วิจารณ์ประเทศอื่นๆ ที่ทำสิ่งเดียวกัน  ขบวนรถในงานพระบรมศพของสมเด็จพระบรมราชินีฯ (พระมารดาของพระราชินีอลิซาเบธ ) เพียงอย่างเดียว ก็มีค่าใช้จ่าย111,000 ปอนด์  พิธีศพของ Winston Churchill ในปีพ. ศ. 2508 อันถือเป็นงานยิ่งใหญ่    มีผู้ร่วมงานกว่า 300,000 คนไปเคารพศพ  ซึ่งอยู่ในโลงที่ปกคลุมด้วยธง Union Jack ในขณะที่ผู้คนนับล้านมารอแสดงความเคารพตลอดเส้นทาง  พระราชินีอลิซาเบธทรงฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ โดยมีค่าใช้จ่ายที่ไม่น่าเชื่อ   ร่วมด้วยกองเรือ 1,000 ลำและเรือพระที่นั่งบนแม่น้ำเทมส์ โดยค่าใช้จ่ายของวันหยุดพิเศษแห่งชาติวันนี้เพียงวันเดียวก็สูงเกือบหนึ่งพันสองร้อยล้านปอนด์แล้ว

มองจากมุมมองเดียวกันแล้ว 90 ล้านเหรียญดูเหมือนจะไม่ได้ฟุ่มเฟือยอะไรไปเลย

 

แล้วเรื่องที่ว่าเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์เล่า

คำวิจารณ์ในสื่อตะวันตกแสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน     เพราะมีการวางแผนประชาสัมพันธ์    เพื่อให้พระองค์ทรงได้รับความนิยม ซึ่งเป็นวิธีการในการสนับสนุนรัฐบาลทหาร  นี่เป็นคำวิจารณ์ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้ พระองค์ทรงเป็นที่นิยมชมชอบใช่ไหม ... แน่นอน...  ทรงมีผู้ช่วยในการประชาสัมพันธ์ ไม่ต่างไปจากประมุขของทุกประเทศ กษัตริย์ทุกพระองค์ นักธุรกิจใหญ่ๆ ทุกคนและประธานาธิบดีทุกคน      พระราชวงศ์อังกฤษมีคนทำประชาสัมพันธ์ให้     ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็มี  แต่วัตถุประสงค์ของการประชาสัมพันธ์นั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่การบอกว่า "ดูสิว่า ฉันเป็นคนดีขนาดไหน" เป้าหมายของการประชาสัมพันธ์คือการเพิ่มมูลค่าของงานที่ทำอยู่จริงๆ

 

ขอยกตัวอย่างหนึ่งให้เห็นชัดเจน    พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นที่รู้กันว่าเป็นผู้รักสัตว์   พระองค์ทรงนำสุนัขจรจัดซึ่งภายหลังทรงพระราชทานชื่อว่า "ทองแดง"  มาเลี้ยง  โดยปกติแล้ว ผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์สามารถจะมีสุนัขพันธุ์แท้กี่ตัวหรือกี่พันธุ์ก็ได้ แต่พระองค์ทรงอุปการะคุณทองแดง สุนัขจรจัดลักษณะดีมาเลี้ยงแทน  การกระทำนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมากมาย และพระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเกี่ยวกับคุณทองแดงซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก

 

มีการวางแผนประชาสัมพันธ์อยู่เบื้องหลังหรือไม่.. มีแน่นอน  แต่จุดประสงค์ของการประชาสัมพันธ์นั้น ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อการเชิดชูพระมหากษัตริย์ – แต่ป็นการกระตุ้นจิตสำนึกให้คนในชาติ    ประเทศไทยโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครมีปัญหาสุนัขจรจัดบนท้องถนน เมื่อประชาชนเห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงรับคุณทองแดงมาเลี้ยง  ประชาชนคนของพระองค์ก็เริ่มนำสุนัขจรจัดมาเลี้ยงกันมากขึ้น เริ่มบริจาคเงินให้กับสถานเลี้ยงสัตว์จรจัด ทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาทางสังคมในเรื่องนี้และมีการเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา

 

คนไทยนับถือพระองค์ท่านเป็นพระเจ้าหรือ

ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยอีกประการหนึ่งของสื่อตะวันตกคือคำกล่าวที่ว่าคนไทยนับถือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นเทพเจ้า การกล่าวว่าพระองค์ทรงเป็นที่นับถือในฐานะพระเจ้านั้นผิดจากความเป็นจริง และ "พระเจ้า" ในความเชื่อทางศาสนาพุทธมีความหมายแตกต่างจากคำนิยามของชาวคริสต์  สำหรับผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศตะวันตก เมื่อเอ่ยถึง  "พระเจ้า"  ฟังดูน่าตกใจและดูเหมือนจะเป็นคำพูดเชิงลบ แต่ลองพิจารณาบริบททางพุทธศาสนาดีกว่า ในศาสนาคริสต์ "พระเจ้า" แยกออกจากมนุษยชาติโดยสิ้นเชิงและสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถใฝ่ฝันจะเป็นได้ ในขณะที่ในศาสนาพุทธนั้น แนวคิดเรื่อง "พระเจ้า" แตกต่างจากเรา    เพราะถูกมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราทุกคน และเป็นสิ่งที่เราสามารถเป็นได้หลังจากการเกิดหลายครั้งหลายหน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไม่ได้ทรงเป็น "พระเจ้า" ในความหมายของตะวันตก แต่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ซึ่งไม่ใช่พระเจ้า แต่เป็นคนธรรมดาสามัญผู้บำเพ็ญบารมีธรรมจนจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ด้วยการที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนของพระองค์จนทรงได้รับการเคารพนับถือเช่นนั้น ไม่ใช่ ‘พระเจ้า’ แบบตะวันตกที่สื่อต่างประเทศมักตีความว่าเป็นเช่นนั้น

 

คำวิจารณ์เกี่ยวกับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้นผิดที่ผิดทางและเกิดขึ้นจากข้อมูลผิดๆ  ในความเป็นจริงแล้ว พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธีที่จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติถวายแด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของคนไทย และเป็นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ชาวไทยต้องจัดขึ้น เพื่อที่จะก้าวต่อไปในชีวิต (หลังจากพระมหากษัติรย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งสวรรคตลง)

 

ที่มาบทความภาษาอังกฤษ

http://newsorg.org/2017/10/a-kings-funeral-and-a-chance-to-show-the-world-the-best-of-thai-culture/

 

ขอขอบคุณ คุณเจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้ และ คุณกลอยตา ณ ถลางผู้แปล