เมื่อ "ท่านขุนพันธ์" ลูบคม "เสือฝ้าย" ผลสุดท้าย ช่วยปราบโจรด้วยกัน แต่มีข้อแม้อย่างเดียว "ไม่ต้องการพบขุนพันธ์"!!

เปิดประวัติ "ขุนพันธ์" และ "เสือฝ้าย" ครั้งหนึ่งที่ทั้งสองต้องร่วมมือกันปราบโจร แต่มีข้อแม้ว่า เสือฝ้ายไม่ขอพบหน้าขุนพันธ์

ขุนพันธ์

            ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) อดีตนายตำรวจชื่อดังของวงการตำรวจไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอันมากในการปราบโจรร้ายในภูมิภาคต่างๆ ของไทย ในภาคกลางเช่น เสือฝ้าย เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร ที่พัทลุง ปราบ เสือสังหรือเสือพุ่ม ที่นราธิวาส ปราบผู้ร้ายทางการเมือง ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ หัวหน้าโจรชื่อ "อะเวสะดอตาเละ" จนท่านได้ฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ" ซึ่งแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู" และยกเว้นคนเดียวที่ขุนพันธรักษ์ราชเดช ไม่ได้ทำการจับกุม แต่แลกกับอิสรภาพนั้นคือ เสือดำ โดยใช้ศพลูกน้องของเสือดำเองเสียสละชีพว่าเสือดำถูกฆ่าแล้ว ภายหลังจึงทราบว่า ตัวตนเสือดำยังมีชีวิตอยู่ โดย เสือใบ เสือมเหศวร ได้พบเจอกันช่วงอายุมากแล้ว และเสือดำได้ออกรายการในที่สุด คือบุคคลเดียวที่ ขุนพันธรักษ์ราชเดช ยอมเสี่ยงทำผิดกฎหมาย แต่คดีไม่มีใครทราบความจริงสุดท้ายจึงหมดอายุความลง และจากผลงานที่ท่านสามารถปราบโจร เสือร้ายต่างๆ ได้มากมาย

ขุนพันธ์

          ในปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ เป็นช่วงปลายสงครามหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาตั้งรกรากฐานทัพก็ออกอาการอ่อนเเรงลงและช่วงเวลานี้เองที่เสือปล้นโจรร้ายในพื้นที่ภาคกลางประกาศศักดาออกอาละวาดอย่างหนัก พวกมันคุมกำลังเข้าปล้น ฆ่าอย่างสนุกมือ มีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากคหบดี เจ้าของโรงสี เจ้าของเรือเมล์รับส่งสินค้า และผู้โดยสารขึ้นล่องตามลำแม่น้ำ ตลอดจนจับคนไปเรียกค่าไถ่ พื้นที่ที่ตกอยู่ภายใต้เงื่อมเงาทมิฬของพวกโจรกินอาณาเขตกว้างหลายจังหวัด เช่นสุพรรณ ชัยนาท อุทัยธานี อ่างทอง สิงห์บุรี นครสวรรค์ สุจริตชนผู้ซึ่งทำมาหากินโดยชอบ ต่างอกสั่นขวัญผวาตลอดเวลา เพราะไม่รู้เมื่อไรไอ้เสือร้ายจะมาเยือน

           ในปีเดียวกันนี้ท่านขุนพันธ์ ได้รับตำแหน่ง พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตร ได้รับคำสั่งจากรมตำรวจด่วน ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาทในวันที่ ๒๓ มิถุนายน เหตุผลสำคัญที่ทางการส่ง ''มือปราบพระกาฬ'' เข้าไปยังจังหวัดชัยนาทก็เพราะ เมืองชัยนาทไม่ผิดกับแผ่นดินโจรพร้อมพรั่งด้วยอาวุธ ร้ายเเรง และบริวารมายถึงกับรวมตัวเป็นชุมโจรอย่างเปิดเผย ในเขตอำเภอสรรคบุรีเพียงอำเภอเดียว มีชุมโจรถึง 5 ชุมได้แก่ชุมโจร เสือครึ้ม ชุมโจรเสือย่อม ชุมโจรเสือเห้ย ชุมโจรเสืออ้วน ชุมโจรเสือสม เสือศักดิ์ สองเสือพี่น้อง

 

ขุนพันธ์

            เมื่อ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช มารับตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยนาท ก็เริ่มต้นรวบรวมประวัติเสือปล้นตัวเเสบแต่ละคนเอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อเป็นเเนวทางในการปราบปรามต่อไป ท่านขุนพันธ์ มารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วันก็มีรายการเจอดี เพราะมีจดหมายของโจร ''ขอมา'' นับเป็นครั้งเเรกในชีวิตของการเป็นตำรวจ

            วันนั้น ร.ต.ท.วัน ศรีหทัย ผู้บังคับกองตำรวจอำเภอหันคา มาขอเข้าพบเป็นการส่วนตัว พร้อมกับเเจ้งว่า

''เสือฝ้ายจอมโจรแห่งเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งมีเขตติดต่อกันฝากคำขอร้องมาว่า อย่าให้ท่านเข้าไปเขตเมืองสุพรรณฯ''

ผู้กำกับฯ คนใหม่ของเมืองชัยนาทถึงกับหัวเราะในลำคอและคิดในใจว่า

''เสือปล้นสามารถใช้ผู้บังคับกองตำรวจเป็นคนถือสารได้''

แต่ก็ตอบกลับไปว่า...

''ผมเป็นผู้กำกับฯ เมืองชัยนาท ไม่ใช่ผู้กำกับฯ เมืองสุพรรณฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับเมืองสุพรรณฯ ขออย่างเดียวเสือฝ้ายอย่าข้ามแดนมาเมืองชัยนาทก็เเล้วกัน''

ด้วยเหตุนี้ ท่านขุนพันธ์จึงสนใจเรื่องราวของเสือปล้นรายนี้เป็นพิเศษเพื่อเป็นข้อมูลเก็บไว้ เผื่อภายหน้าอาจเป็นประโยชน์กับตน จากข้อมูลของตำรวจทำให้มือปราบหนังเหนียวทราบว่า

 

ขุนพันธ์

          เสือฝ้าย หรือ ฝ้าย เพ็ชนะ เปิดฉากปล้นตั้งแต่อายุ ๓๕ ปี และสามารถยืนยงคงกระพันมาจนถึงขณะนี้อายุ ๕๐ กว่าปี โดยไม่เคยพลาดท่าให้ตำรวจเข้าถึงตัวเเม้เเต่ครั้งเดียวชุมโจรเสือฝ้ายไม่ผิดอะไรกับหมู่บ้านหนึ่ง มีบริวารกว่า ๑๒๐ คน บารมีโจรของเสือฝ้ายยืนยงโดยตลอด ถึงขั้นยกย่องจากบริวารและชาวบ้านเป็น ''พ่อฝ้าย'' บ้าง ''จอมพลฝ้าย'' บ้าง แต่ถ้าเป็นโจรคนละก๊กหรือก๊กเดียวกันก็ตามที ก็จะเรียกเขาว่า ''ครูฝ้าย'' ซึ่งหมายถึงเป้นครูของฝ่ายกระทำผิดกฏหมาย ก๊กโจรเสือฝ้ายออกปล้นสะดมในเขตจังหวัดภาคกลางที่ติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี รายเเล้วรายเล่า สูญเสียทรัพย์สินเงินทองให้กับพวกโจรแทบหมดตัว และบางรายที่หวงแหนสมบัติฮึดสู้จะถูกฆ่าตายอย่างอนาถ

          เสือฝ้ายได้สร้างกรรมชั่วอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั่งทั้งๆที่อายุของเขาก็เลยวัยกลางคนเเล้ว ซึ่งชาวชนบทในวัยเดียวกันนี้มักจะหันหน้าเข้าวัด ถือศีลฟังธรรม เพื่อสร้างบุญกุศลเป็นที่หมาย แต่เสือฝ้ายกลับจมอยู่ห้วงแห่งบาป มีความชื่นชมยินดีในทรัพย์สมบัติของผู้อื่นที่ยื้อแย่งช่วงชิงเอามา เขาไม่เคยสะดุ้งสะเทือนต่อการล้างผลาญชีวิตผู้อื่นเเม้แต่น้อย เพราะเขาชาชินขาดสำนึกผิดชอบชั่วดีดังเช่นคนทั่วไป

 

ขุนพันธ์

วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๘๘

          หลวงสฤษดิ์สารลักษณ์ ท่านข้าหลวงชัยนาทมาชวนขุนพันธ์ไปเที่ยวสุพรรณบุรี ซึ่งเขาก็ไม่ปฏิเสธรับคำเชิญอย่างยินดี เพราะอยากไปชมโบราณสถานซึ่งมีอยู่มากมายในเมืองเก่าแก่ดังเช่นสุพรรณบุรี การเดินทางไปสุพรรณฯ ต้องไปทางเรือเมล์โดยสารแล่นจากอำเภอหันคา ชัยนาทไปจังหวัดสุพรรณบุรี คณะเดินทางประกอบด้วย ท่านข้าหลวง ท่านขุนพันธ์ เสมียนตราจังหวัด จ.ส.ต.ถนอม นพรัตน์ พลฯ ดี ทุกคนขึ้นเรือเมล์ โดยสารล่องตามลำน้ำสุพรรณฯ

            เรือเมล์ผ่านบ้าน ''เสือดอย'' ซึ่งตั้งบ้านอยู่ปากน้ำสุพรรณฯ จากนั้นก็ผ่านเรือนหลังใหญ่ของเสือฝ้ายซึ่งเปิดอยู่ริมน้ำอย่างเปิดเผย แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลโจรว่ายิ่งใหญ่สักปานใด จ่าถนอมกระซิบบอกให้ขุนพันธ์รับทราบเอาไว้ซึ่งผู้กำกับฯ ก็มิได้สนใจอะไรมากนักเรือเมล์เเล่นผ่านไปโดยไม่มีเหตุการณ์อะไรจนกระทั้งถึงเมืองสุพรรณฯ คณะผู้มาเยื่อนจากจังหวัดชัยนาทเข้าพักอยู่ที่จวนข้าหลวง คือ หลวงจรูญคชภูมิ ๒ คืน ตอนขากลับหลวงสฤษดิ์สารลักษณ์กับเสมียนจังหวัดกลับทางอำเภอสองพี่น้อง โดยไปขึ้นรถไฟที่งิ้วรายเพื่อเข้ากรุงเทพฯ สำหรับ พ.ต.ต.ขุนพันธ์ จ่าถนอม พลฯดี กลับทางเรือเมล์ตามเดิม บนเรือเที่ยวนั้นมีผู้โดยสารประมาณ ๒๐ คน และบรรทุกสินค้ามาด้วย

 

ขุนพันธ์

            เรือเมล์เป็นเรือสองชั้น นายท้ายถือพวงมาลัยอยู่ชั้นบนมีขุนพันธ์ยืนอยู่ใกล้ๆ พร้อมกับจ่าถนอม ส่วนพลฯ ดีฝากปืนลูกซองยี่ห้อเบรานิ่งไว้กับขุนพันธ์ แล้วตนเองไต่บันไดลงไปพูดจาเล่นหัวกับแม่ค้าสาวๆ ที่ชั้นล่างของเรือ ข่าวการมาเยือนเมืองสุพรรณฯ หาได้เป็นความลับ ยิ่งสายของเสือฝ้ายมีอยู่เต็มพื้นที่ในดินแดนแห่งนี้ มีหรือที่เสือฝ้ายจะไม่รู้ เรือเมล์แล่นผ่านด้านหน้าบ้านเสือฝ้าย ริมฝั่งน้ำด้านขวามือ ขุนพันธ์ก็เห็นเหล่าลูกน้องโจร ๗-๘ คนสะพายปืนยาวเดินเตร่อยู่ใกล้ศาลาท่าน้ำเหลียวมองไปทางฝั่งขวามือเห็นบริวารโจรกว่า ๑๐ คน ประทับปืนยาวเล็งมายังเรือเมล์เป็นจุดเดียว มีเสียงตะโกนมาจากเหล่าร้ายให้หยุดเรือแล้วเทียบมาจอดริมตลิ่ง

            นายท้ายเรือเห็นโจรเล็งปืนมาจากฝั่งก็ตัวสั่นงันงก ชักกระดิ่งให้ช่างเครื่องที่ข้างล่างลดความเร็วลงทันที และจะเบนหัวเรือเข้าฝั่งตามคำสั่งโจร ขุนพันธ์ปราดเข้าประกบนายท้ายสั่งไม่ให้หยุดเรือและเข้าฝั่งเด็ดขาด เพราะขืนทำเช่นนั้น เป็นต้องถูกปล้นทั้งลำเรือแน่นอน

''ถ้าลื้อไม่เชื่ออั๊ว...อั๊วยิงลื้อแน่''

            ท่านขุนพันธ์กำชับนายท้ายเรือเอาไว้ ซึ่งนายท้ายเรือกลัวขุนพันธ์มากกว่าโจร เพียงเบาเครื่องยนต์และเบนหัวเรือให้ลอยอยู่กลางแม่น้ำ ภายในเรือเมล์ ผู้โดยสารส่วนมากเป็นพ่อค้าแม่ค้าต่างอลม่านด้วยกลัวภัยโจร บางคนเข้าไปแอบในห้องน้ำท้ายเรือ พวกที่ใส่เครื่องประดับก็รีบถอดออกซุกซ่อน หรือห่อผ้าขาวม้าเคียนเอวเตรียมกระโดดน้ำหนี จ่าถนอมและพลฯ ดีได้รับคำสั่งจากสิงห์มือปราบให้ควบคุมผู้โดยสารไว้อย่าให้ใครกระโดดน้ำลงไปเด็ดขาด ทั้งสองปฏิบัติอย่างรวดเร็ว

ขุนพันธ์

             ท่านขุนพันธ์ประเมินสถานการณ์ดูเเล้วฝ่ายตนออกจะเสียเปรียบ เพราะอยู่ในเรือโล่งๆ เป็นเป้าเด่น อาวุธที่ติดตัวมามีแครีวอลเวอร์ ๖ นัดของตนเอง จ่าถนอมมีปืนกลแบลคมัน พลฯ ดี มีปืนลูกซอง กระสุนปืนที่ติดตัวก็มีจำนวนจำกัด หากเกิดปะทะกันจริงๆ คงยิงสู้ได้ไม่นาน เรือเมล์ลอยลำอยู่กลางน้ำ มันค่อยๆ แล่นห่างออกไปยังหัวคุ้งเบื้องหน้า บริวารเสือฝ้ายยังอยู่ในท่าเตรียมยิง แต่ไม่มีการลั่นกระสุน อาจจะเป็นเพราะยังไม่ได้รับคำสั่ง

             เรือเมล์แล่นเอื่อยมาถึงหัวคุ้งมีต้นไม้หนาแน่นเป็นทำเลได้เปรียบ เพราะลับตาสายตาโจร ขุนพันธ์สั่งให้นายท้ายเข้าเทียบตลิ่งตรงหัวคุ้งด้านซ้ายฝั่งตรงข้ามกับบ้านเสือฝ้าย และให้หยุดเรือเตรียมไว้ ขุนพันธ์คว้าเบรานิงของพลฯ ดี ส่วนจ่าถนอมก็ใช้แบลคมัน กระโจนขึ้นฝั่งให้พลฯ ดีอยู่เฝ้าเรือ จากนั้นคนทั้งสองก็ลัดเลาะดงไม้เข้าไปตั้งท่ารออยู่อย่างเงียบกริบ เหล่าบริวารเสือฝ้ายที่จับกลุ่มสิบกว่าคนได้เดินลัดเลาะป่าเข้ามาดูว่าเรือไปถึงไหนเเล้ว พวกมันเข้ามาใกล้วิถีกระสุน ขุนพันธ์ไม่รอช้าลั่นไกใส่

 

ขุนพันธ์

              ฝ่ายจ่าถนอมก็กราดแบลคมันจนหมดเเม็กฯ สมุนโจรหัวทิ่มฟุบลงไปสองคนที่เหลือแตกตื่นวิ่งกระจัดกระจายไปทางเดิม ฝ่ายขุนพันธ์และจ่าถนอมวิ่งกลับมายังเรือเมล์ สั่งให้นายท้ายเรือพุ่งหัวเรือออกกลางแม่น้ำบ่ายหน้าเข้าเขตอำเภอหันคาทันที เป็นบทเรียนแรกของเสือฝ้ายที่ได้รับจากขุนพันธ์ ไอ้เรื่องที่จะมาข่มขู่คนอย่าง ''มือปราบหนังเหนียว'' เช่นขุนพันธ์ง่ายๆ นั้น เมินเสียเถอะ ถ้าแตะเมื่อไรเป็นได้เรื่องกันเมื่อนั้น

           ต่อมาวันที่ ๙ สิงหาคม ถัดจากเหตุการณ์ไปเยือนสุพรรณฯ ของขุนพันธ์และพวกผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดชัยนาท นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าจับนายซ่งเฮงกับนายเทียบ ลูกน้องเสือฝ้าย จับผู้ใหญ่บ้านปากน้ำชื่อช่วง จับนายคล้ายพี่ชายเสือฝ้าย ในข้อหาร่วมกันปล้นทรัย์ในเขตอำเภอหันคา นายคล้ายและนายช่วงปฏิเสธ แต่นายซ่งเฮงกับนายเทียบ รับสารภาพในชั้นสอบสวนว่ากระทำผิดจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจชัยนาทจึงนำผู้ต้องหาทั้งสองคนไปชี้ที่เกิดเหตุ

           ระหว่างการเดินทาง เสือฝ้ายได้ส่งสมุนมือดีมาดักซุ่มและยิงนายซ่งเฮงกับนายเทียบตายคาที่ เพื่อปิดปากพยานคนสำคัญ ทำให้ผู้ต้องหาที่เหลือหลุดจากคดีหมด เพราะพยานหลักฐานอ่อน หลายสัปดาห์ต่อมา เสือฝ้ายมีจดหมายมาต่อว่าขุนพันธ์ว่า...

''ไม่รักษาสัญญาที่รับรองจะไม่ข้ามเขตเข้าสุพรรณฯ ทั้งๆ ที่ตัวกระผม จ่ายเงินให้มาแล้วถึงสองหมื่นบาท โดยฝากมากับ ร.ต.ท.วัน ศรีหทัย''

           ขุนพันธ์ได้เรียก ร.ต.ท วัน เข้าพบ พร้อมกับสอบถามเรื่องเงินสองหมื่นบาท แต่ผู้หมวดวันปฏิเสธว่า ''ไม่รู้เรื่อง'' ขุนพันธ์ก็ไม่สนใจเรื่องเงินอีก ภายหลัง แม้ พ.ต.ต.ขุนพันธ์ จะได้รับเเต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับการศูนย์ปราบปรามโจรผู้ร้ายภาคกลาง และได้มีการเจรจาให้คนร้ายก๊กต่างๆ มอบตัวมีโจรหลายกลุ่มหันหน้ามาช่วยปราบโจรด้วยกัน รวมทั้งเสือฝ้ายด้วย แต่เสือฝ้ายมีข้อเเม้อยู่อย่างเดียวคือ ไม่ต้องการพบ พ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช จะเป็นด้วยเสือฝ้ายเกลียดหรือกลัวก็ไม่รู้ได้

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจ นักเลง โบราณ ตำนานหนังเหนียว