ประชาธิปัตย์ จะจับมือเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล ดีลนี้ถามประชาชนหรือยังว่า เอาด้วยไหม???

ออกมาเป็นระยะๆ สำหรับกระแสข่าวการจับมือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจากฝั่งพรรคเพื่อไทยเองก็ดี หรือจากฝั่งพรรประชาธิปัตย์ โดยล่าสุดกับการพูดของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในงานเสวนา "ปรองดองแบบ คสช. เมื่อไรจะเจออุโมงค์”  แม้ภายหลังจะออกมาบ่ายเบี่ยงคำพูดของตัวเอง ก็ตาม

ประชาธิปัตย์  จะจับมือเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล ดีลนี้ถามประชาชนหรือยังว่า เอาด้วยไหม??? 26 พ.ย. ในงานเสวนา "ปรองดองแบบ คสช. เมื่อไรจะเจออุโมงค์” ที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตัวแทนกลุ่ม นปช.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวในเวทีเสวนาว่า คสช.อ้างความขัดแย้งมาเป็นสาเหตุของการยึดอำนาจ จึงควรเร่งสร้างความปรองดองตั้งแต่วินาทีแรก แต่ คสช.กลับมาทำในช่วงสุดท้าย ทำให้สังคมไทยอยู่ในอุโมงค์ที่ไม่เห็นแสงสว่าง และเห็นว่าเป็นเรื่องยากที่จะหวังให้คสช.เป็นผู้นำทางไปสู่แสงสว่าง สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด แต่รัฐบาลกลับพยายามอยู่ให้นานที่สุด โดยไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์แต่กลับเดินซ้ำรอยประวัติศาสตร์อยู่ และเปลี่ยนสภาพจากกรรมการมาไล่นักมวยลงจากเวทีแล้วเอาถ้วยรางวัลมาเป็นของตัวเอง ทำให้ความปรองดองเกิดขึ้นยาก

"อีกทั้งเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญก็ไม่เอื้อต่อความปรองดอง เพราะไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้ หาก ส.ว.250 คนไม่เอาด้วย เมื่อตั้งรัฐบาลไม่ได้ คสช.ก็อาจใช้เป็นเหตุผลอยู่ต่อ จึงอาจเกิดสภาพที่นักมวยหันมาจับมือกันไล่ถลุงกรรมการ เพื่อเปลี่ยนกติกาที่ไม่เป็นธรรม และเอาระบบที่ไม่พึงปรารถนาออกไป เซ็ตซีโร่ระบบคสช. ด้วยการที่พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล แทนที่จะสู้กันจนตายไปข้างหนึ่ง แม้ว่าโอกาสจะน้อยก็ตาม โดยเห็นว่าเราคุยกันด้วยเลือดและชีวิตพอแล้ว ต้องหันมาใช้สันติวิธี"

ด้านนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ ตัวแทนกลุ่ม นปช.ระบุว่า ไม่ตั้งความหวังว่าคสช.จะสร้างความปรองดอง แม้แต่ในร่างสัญญาประชาคมก็เป็นเหมือนคำขวัญไม่มีรูปธรรมในการแก้ปัญหา ในทางกลับกันผู้มีอำนาจก็ยังมีทัศนะเหมือนเดิม และเห็นว่าคำว่าปรองดองกลายเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจเข้ามาต้องพูดแต่ไม่มีความชัดเจนว่าจะทำ ขณะเดียวกันกติกาใหม่ก็ไม่เอื้อให้เกิดการปรองดองแต่จะสร้างความขัดแย้งใหม่ โดยเฉพาะความไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จึงขอเสนอว่าต้องให้ประชาชนเลือก สสร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และลงประชามติ และต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาคำสั่ง คสช.เพื่อยกเลิกหรือแปรสภาพให้เป็นกฎหมายปกติ

ท้ายที่สุดนายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ กล่าวแก้ตัวว่า พรรคการเมืองทุกพรรคจับมือกันตั้งรัฐบาล เพื่อขจัดกลไกของ คสช.ว่า ที่ตนพูดนั้น เป็นเรื่องของคณิตศาสตร์การเมือง เพราะต้องมีเสียงจากสมาชิกรัฐสภา 375 คน คือ ทั้งจาก ส.ส.และ ส.ว.แต่ในสภาผู้แทนราษฎรต้องมี 250 คนขึ้นไป หากไม่พึ่งเสียง ส.ว.250 คน พรรคใหญ่ก็ต้องรวมตัวกัน จึงจะทำให้นายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามาไม่ได้ ซึ่งในวงเสวนา นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ระบุว่าไม่ปิดกั้นประเด็นนี้ แต่ตนก็เห็นว่าแนวทางนี้เกิดขึ้นยาก เพราะจุดยืนของสองพรรคนั้นแตกต่างกันมาก

27 พ.ย. 60 ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพูดของนายนิพิฏฐ์ก็ไม่ได้ทำให้มีปัญหาอะไรในพรรค เพราะคนในพรรคมีความคิดหลากหลายมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่เห็นตรงกันคือปัญหาปากท้องประชาชนต้องมาก่อนปัญหาการเมือง ความเป็นไปได้หรือไม่ ไม่สามารถพูดได้ในตอนนี้ เพราะยังไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทย จะมีนโยบายอย่างไร ยังกอดคนเผาบ้านเผาเมืองไว้หรือไม่ จะเคารพกฎหมายหรือไม่ และจะมีใครเป็นหัวหน้าพรรค ถ้าเป็นนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ก็คงรับไม่ได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ ก็ได้ส่งข้อความผ่านไลน์ "@mark_abhisit" ถึงกรณีที่นายนิพิฏฐ์ที่ออกมาเปิดประเด็นการจับมือกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย เพื่อสกัดการสืบต่ออำนาจของ คสช. ว่า“แสดงความเห็นความห่วงใยกันมาเยอะกรณีการเข้าร่วมเสวนาของคุณนิพิษฐ์” “ทุกคนในพรรครวมทั้งคุณนิพิษฐ์ยืนยันตรงกันว่าอุดมการณ์ไม่ตรงกันก็ร่วมกันไม่ได้ สิ่งที่พูดเป็นการตอบคำถามสมมติ ซึ่งทางคณิตศาสตร์ก็เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ขอบคุณทุกท่านที่สะท้อนความรู้สึกมาครับ”

ประชาธิปัตย์  จะจับมือเพื่อไทย ตั้งรัฐบาล ดีลนี้ถามประชาชนหรือยังว่า เอาด้วยไหม???

ความหลังเหตุการณ์ระหว่างคนเสื้อแดง นปช. พรรคเพื่อไทย ที่ได้ทำไว้กับนายอภิสิทธิ์

ย้อนกลับไปถึงความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทยในเดือน เมษายน พ.ศ. 2552 เป็นเหตุการณ์การเดินขบวนทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง และเกิดความไม่สงบตามมา ในกทม.และพัทยาเพื่อขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยเหตุการณ์ที่นายอภิสิทธิ์ เกือบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงรุมกระหน่าทุบตีรถยนต์คันที่นายอภิสิทธิ์นั่งอยู่ คือเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 เมื่อเวลา 08.00 น. นายอภิสิทธิ์ เดินทางถึงเมืองพัทยา เพื่อเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่ ที่อาคารศูนย์ประชุมพีช พัทยาโรงแรมรอยัล คลิป บีช พัทยาใต้ จ.ชลบุรี โดยมีมาตรการดูแลความปลอดภัยอย่างเข็มงวด และตั้งด่านเพื่อสกัดกลุ่มเสื้อแดงหลายจุด ระหว่างทางมีคนเสื้อแดงพัทยา 2 คน ปราศรัยและมีป้ายผ้าโจมตีรัฐบาล

กระทั่งเวลา 10.00 น. กลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 300 คน ระบุตนว่าเป็นกลุ่ม นปช. ฝ่าด่านตำรวจมาถึงประตูโรงแรม แล้วปราศรัยโจมตีรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมากลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้าปิดล้อมรถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ  ขณะเคลื่อนขบวนผ่านถนนภายในเมืองพัทยา โดยนำรถมอเตอร์ไซต์จอดขวาง แล้วเข้าไปตะโกนด่าทอ พร้อมทั้งขว้างหมวกกันน็อค ใส่กระจกด้านหลังรถจนแตกเสียหาย และใช้ท่อนไม้ทุบกระจกหน้ารถต่อมาตำรวจตั้งข้อหาแก่ผู้ก่อเหตุว่า พยายามฆ่าบุคคลทั้งสอง

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เม.ย.52 ที่กระทรวงมหาดไทย กลุ่มคนเสื้อแดงเข้าไปภายในกระทรวงมหาดไทย เพื่อตามหาตัวอภิสิทธิ์ โดยพยายามปิดกั้นรถยนต์ซึ่งอภิสิทธิ์โดยสาร จนเกิดความวุ่นวายขึ้น กระทั่งเจ้าหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี ต้องยิงปืนเพื่อปรามให้เหตุการณ์ยุติ ผู้ชุมนุมเข้าไปแย่งปืนจากเจ้าหน้าที่นายหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ชุมนุมใช้ท่อนไม้และของแข็งรุมเข้าทุบไปยัง รถยนต์คันที่ผู้ชุมนุมเชื่อว่าอภิสิทธิ์นั่งอยู่ภายใน จนต้องวิ่งไปโดยรอบ ภายในบริเวณกระทรวงมหาดไทย ขณะที่ผู้ชุมนุมติดตามรุมทุบรถอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ยังมีการทุบรถยนต์ซึ่งนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการของนายอภิสิทธิ์โดยสารอยู่ด้วย กระทั่งนิพนธ์ก็บาดเจ็บ ต้องมีผู้นำส่งโรงพยาบาล ในขณะที่รถยนต์ซึ่งเชื่อว่าอภิสิทธิ์โดยสาร พยายามวิ่งหาทางออก ซึ่งในที่สุดก็ออกมา จากประตูของกระทรวงได้สำเร็จ

ในการชุมนมครั้งนั้นก็ได้ทหารข้ามาคลี่คลายสถานการณ์สลายการชุมนุม อีกทั้งกรณีที่คนเสื้อแดง และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่พยายามกล่าวหา นายอภิสิทธิ์ รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ สั่งฆ่าประชาชน จากกรณีออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งที่มาของเรื่องราวเกิดที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ฟ้องนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

โดยเกิดจากการตายของ"นายพัน คำกอง" คนขับแท็กซี่เสื้อแดง ช่วงระหว่างเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เมื่อการเกิดการตายเกิดขึ้น แน่นอนว่าทางเจ้าหน้าผู้เกี่ยวข้องต้องทำการชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง ซึ่งศาลได้ชี้ว่า การตายเกิดจากทางฝั่งของเจ้าหน้าที่

17 ก.ย.55 ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งในคดีที่ นายพัน คำกอง อายุ 43 ปี  ว่า  นายพัน  ตายที่หน้าสำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อ ไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 53 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้ หมายเลขทะเบียน ฮค 8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหม เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน

สำหรับการเหตุการณ์สูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้น "ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ" ฉะนั้นหากพิจารณาจากคำสั่งของศอฉ. การใช้กระสุนจริงนั้นเกิดขึ้น เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันตอนเอง และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ใช้อาวุธทำการยิงเมื่อปรากฏภัยคุกคาม หรือกลุ่มติดอาวุธที่มีท่าทีคุกคามต่อชีวิต และไม่สามารถปล่อยให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใกล้เกินกว่า 30-40 หลาได้

จึงเป็นเหตุให้ร.ต.อ.เฉลิม รองนายกฯให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า คำสั่งศาลเรื่องการตายของนายพัน ศอฉ.ต้องรับผิดชอบและกล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการไปยังนายธาริต จำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ได้เร่งทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.
ทั้งนี้เมื่อวันที่13 ธ.ค.55 ร.ต.อ.เฉลิม ได้กล่าวถึงเรื่องการสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ โดย ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ถามหน่อยว่า ใครกล้าแกล้ง ไม่มีหรอก และหากนายธาริต ทำไมถูกต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว

ซึ่งต่อมา วันที่ 31 ส.ค 60 ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้อัยการโจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 53 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่คนเสื้อแดง นปช. พรรคเพื่อไทยได้ ทำไว้กลับนายอภิสิทธิ์ ยังไม่นับรวมกับคำดูหมิ่นที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้ก็ต้องฝากเป็นคำถามไปถึงหัวหน้าพรรค และบรรดาส.ส.ในสังกัด การที่นายอภิสิทธิ์ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีต่างๆ บางสถานการณ์ถึงเกือบตาย ท้ายแล้วเป็นทหารที่ออกมาช่วยไว้ ใครจะเป็นมิตรกับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่า

หากสองพรรคการเมืองหันหน้ามาจับมือกัน จัดตั้งรัฐบาลในสมัยหน้านั้น ประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่??  เพราะทั้งสองพรรคต่างมีปูมหลังความแค้นที่ชนิดไม่เผาผีกัน อีกทั้งอุดมการณ์จุดยืนและแนวทางการเมืองของทั้งสองพรรคต่างกันอย่างสิ้นเชิง