กลัวไม่ได้เลือกตั้ง?! "เพื่อไทย" ตีปลาหน้าไซ อ้างคำสั่ง คสช.53/2560 ไม่กระทบโรดแมป เหตุกำหนดใน รธน. แล้ว-จะขยับอะไรคงทำลำบาก? 

ติดตามข่าวสารที่ www.tnews.co.th

ยังมีแรงกระเพื่อมไม่หยุด สำหรับคำสั่ง คสช. 53/2560 กรณีกำหนดขยายเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมตามกรอบเวลา ใน พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในเรื่องสมาชิก พ.ศ.2560 ซึ่งอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษา เมื่อเย็นวานนี้ (22 ธ.ค.) นั้น หลังฟากฝั่งพรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์ ทั้งอดีต ส.ส. และฝ่ายกฎหมายของพรรคต่างมองว่า เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับการ "เซ็ตซีโร่พรรคฯ" และจะสร้างความยุ่งยากให้ประชาชน ในการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองนั้น ล่าสุดต่อกรณีทางฟากฝั่งพรรคเพื่อไทยออกมาขยับบ้างแล้ว โดยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาพูดดักคอทำนอง คำสั่ง คสช. ไม่น่าจะกระทบกับโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะโรดแมปมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว คงเคลื่อนอะไรลำบาก และการขยายเวลาในคำสั่งดังกล่าว เป็นแค่รายละเอียดปลีกย่อย ฯลฯ
 

 

โดยรายละเอียดทั้งหมดที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทย ระบุในวันนี้ คือ การขยายกรอบเวลาการทำกิจกรรมของพรรคการเมืองดูแล้วไม่กระทบกับโรดแมปการเลือกตั้ง เพราะโรดแมปเลือกตั้งมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว คงเคลื่อนอะไรลำบาก แต่ที่มีการขยายเวลาในคำสั่งดังกล่าวเป็นรายละเอียดปลีกย่อย เมื่อมีการขยายเวลาเช่นนี้ ก็ต้องไปศึกษารายละเอียดว่า พรรคการเมืองจะทำอะไรได้ในช่วงไหน กระทบกับพรรคเก่า พรรคใหม่อย่างไรบ้าง รวมถึงต้องติดตามดูข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่มีประเด็นเกี่ยวกับไพรมารี่โหวตจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรด้วย 


สำหรับข้อเสนอของนายไพบูลย์ ที่ให้ คสช.คงอำนาจไว้จนกว่า กกต.จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งนั้น นายสามารถ กล่าวว่า  ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดให้ คสช.และอำนาจตามมาตรา 44 คงอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่อยู่แล้ว


 

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทยด้วยกัน ยังออกมาแสดงความเห็นในประเด็นข้างเคียง เกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่มีข้อเสนอตัดสิทธิทางการเมืองผู้ไม่ไปเลือกตั้งไม่สามารถสมัครกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้านได้ รวมถึงอาจตัดสิทธิไม่ให้รับราชการได้ว่า ตนไม่เห็นด้วยที่จะตัดสิทธิประชาชนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งถึงขั้น ไม่ให้สมัครเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้านหรือเป็นข้าราชการ เพราะมองแล้วเป็นโทษที่มากเกินไป สำหรับประชาชน 


ทั้งนี้ นายอำนวย ยังระบุว่า  ในทางกลับกัน ก่อนหน้านี้เคยมีพรรคการเมืองบางพรรค ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งต้องล้มไป โดยคนร่างกฎหมายตอนนี้กลับไม่พูดถึง ทั้งที่เป็นการสร้างความเสียหายมากกว่า การไม่ไปใช่สิทธิของประชาชน 

 

"ผมขอเสนอให้เขียนกำหนดโทษถึงขั้นยุบพรรค สำหรับพรรคการเมืองใดที่ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแม้แต่เขตเดียวในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆไว้ด้วย" นายอำนวย ทิ้งท้าย