“หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” หลวงปู่มั่นเน้นย้ำกับหลวงพ่อชา เรื่อง ๒นิกายในศาสนาไม่แบ่งแยก

รู้จริง... รู้แจ้ง... ทุกเรื่องราวพระอริยสงฆ์   http://www.tnews.co.th

“หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” หลวงปู่มั่นเน้นย้ำกับหลวงพ่อชา เรื่อง ๒นิกายในศาสนาไม่แบ่งแยก

ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อชา ได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากโยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่สำนักป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เกิดความรู้สึกเลื่อมใส และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางปฏิบัติจากท่าน
เมื่อออกพรรษาแล้ว หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า พระถวัลย์มีความสนใจในการศึกษาตำรับตำรา จึงปรารภเรื่องวิถีชีวิตกันระหว่างเพื่อน พระถวัลย์ตกลงใจจะไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อกับคณะพระภาคกลางรวมกันสี่รูป จึงออกเดินทางย้อนกลับมาที่อุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดก่อนอกระยะหนึ่ง แล้วจาริกธุดงค์มุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนคร
ระหว่างการเดินทางไปสำนักหลวงปู่มั่น ได้แวะสนทนาและศึกษาตามสำนักต่างๆ ที่จาริกผ่านไปเรื่อย เพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนัก
การเดินทางครั้งนั้น ผู้ร่วมทางบางคนในคณะเกิดท้อถอย เพราะมีความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากมาก ประกอบกับเป็นผู้ไม่คุ้นเคยต่อการเดินทางไกลนัก จึงขอแยกทางกลับคืนถิ่นเดิม หลวงพ่อกับพระอีกสองรูปที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ได้ออกเดินทางต่อในที่สุดก็ถึงสำนักของหลวงปู่มั่น
 

“หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” หลวงปู่มั่นเน้นย้ำกับหลวงพ่อชา เรื่อง ๒นิกายในศาสนาไม่แบ่งแยก
ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่สำนักป่าหนองผือนาใน หลวงพ่อรู้สึกประทับใจในบรรยากาศอันสงบ ร่มรื่นของสำนัก มองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิตเป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพึงพอใจยิ่งกว่าสำนักใดๆ ที่เคยสัมผัสมา
ยามเย็นวันแรกที่ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นได้ปฏิสันถารสอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือ ธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยอยู่มาก
หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง"
เมื่อคลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงพ่อได้กราบเรียนถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงพ่อถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า "เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลักในการปฏิบัติเลยครับ"
"มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม
"ผมหาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้ มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ..."
หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า...
"ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้น นะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของคนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและเกรงกลัวต่อความผิด...
เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันก็เกิดขึ้น...
อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...
ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไปละเมิดมัน"
คืนนั้น... หลวงพ่อนั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิดความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...
คืนที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงพ่อคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
ในวันที่สาม... หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทางอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม

“หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง” หลวงปู่มั่นเน้นย้ำกับหลวงพ่อชา เรื่อง ๒นิกายในศาสนาไม่แบ่งแยก
จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของหลวงพ่อเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่างถูกต้องและมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า...
"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก
พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น... ไกลๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรมของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ
บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก
ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดินจงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดินไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..."
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สอนเรื่องนิกายหลวงปู่ชา
คัดลอกจาก หนังสือ "ใต้ร่มโพธิญาณ"
ที่มา FB : เพจวัดป่า@watpah