ติดตามรายละเอียด FB: DEEPS NEWS

เว็บไซต์นิตยสาร GQ นำเสนอเรื่องราวความลับของบุรุษเพศ ที่อยากห่างไกลจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการนำผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมาเสริมเป็นความรู้ให้กับท่านชายที่มีการหลั่งอสุจิอย่างน้อย 21 ครั้งต่อเดือน โดยพบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าผู้ที่หลั่งเพียงแค่เดือนละ 4-7 ครั้ง 

งานวิจัยชิ้นนี้เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1992 ทีมผู้เชี่ยวชาญจากฮาร์วาร์ดจะทำการศึกษาผู้ชายทั้งหมด 31,925 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และมี 3,839 คนที่ตรวจพบว่ามีอาการของมะเร็งต่อมลูกหมากในระหว่างการวิจัย และมีผู้เสียชีวิตระหว่างการทำวิจัยด้วยมะเร็งต่อมลูกหมากจำนวน 384 คน โดยเจ้าหน้าที่จะถามคำถามกับอาสาสมัครทุกคนว่า พวกเขามีความถี่ในการหลั่งน้ำอสุจิเท่าไหร่ ในช่วงอายุ 20-29 ปี และ 40-49 ปี และในปีก่อนหน้าเข้ารับการเก็บข้อมูลด้วย

ผลที่ได้นั้นแสดงให้เห็นว่า ผู้ชายที่มีการหลั่งอสุจิบ่อยครั้งมีความเสี่ยงต่ำที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกที่ร่วมด้วยอย่าง เรื่องของอาหารการกิน, การใช้ชีวิต, และการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก อีกทั้งการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยก็มีส่วนช่วยรักษาสุขภาพของต่อมลูกหมากได้ 

การหลั่งอสุจิที่ว่านี้ รวมการหลั่งระหว่างมีเพศสัมพันธ์, การช่วยตัวเอง และการฝันเปียกก็รวมด้วยเช่นกัน


โดยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักเกิดในกลุ่มผู้ชายที่มีอายุมากขึ้น จะพบน้อยมากในกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งอายุเฉลี่ยส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการตอนอายุ 72 ปี ส่วนใหญ่พบมากในผู้ชายฝั่งผิวสี (Black Afro-Caribbean) ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ จึงได้มีการแนะนำว่า ถึงแม้คุณผู้ชายจะยังอายุไม่ถึงเกณฑ์กลุ่มเสี่ยง ก็สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจเช็คร่างกายได้อยู่เป็นประจำ เพราะถ้าพบตั้งแต่เนิ่นๆก็จะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงที

อาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแรกเริ่มจะไม่มีอาการ แต่หากมีอาการจะเกิดอาการเหล่านี้ ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน, เวลาเริ่มปัสสาวะจะลำบาก, ปัสสาวะไม่พุ่ง, เวลาปัสสาวะจะปวด, อวัยวะเพศแข็งตัวยาก, เวลาหลั่งเมื่อถึงจุดสุดยอดจะปวด, มีเลือดในน้ำเชื้อหรือปัสสาวะ, และปวดหลังปวดข้อ