ความเดือดร้อนของพี่น้องต้องมาก่อน!! นายกฯรุกเพื่อประชาชนฟังเสียง"ม็อบเทพา" ชะลอสร้างไฟฟ้าถ่านหิน 3 ปี (คลิป)

ในวันนี้การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมือง สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ยังไม่ปกติ รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
 โครงการต่างๆที่ผ่านมาหลายรัฐบาลที่ยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ อีกทั้งส่งผลโดยตรงกับความเป็นอยู่ของประชาชน จะเห็นได้ว่ามีปัญหาและความขัดแย้งต่างๆเพิ่มมากขึ้น
 ในขณะที่รัฐบาลเองก็มุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาให้ได้โดยยึดหลัก ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ได้นำความเดือดร้อนของประชาชนมาพิจารณาก่อน นั่นยิ่งสะท้อนว่าความจริงใจในการรุกแก้ไขปัญหาอย่างจริงใจและจริงจัง
หนึ่งปัญหาที่ถูกขยายความ ทั้งทางด้านการเมือง และผลกระทบต่อประชาชน คือปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นประเด็นคู่ขนานที่สังคมให้ความสนใจ
 เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนสูง หากมีมากจนเกินไปย่อมมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน ดังนั้น การวางแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้ง 2 แห่ง 
จึงได้พิจารณาปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ทั้งในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม และเทคโนโลยีการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัย
ซึ่งตามมาด้วยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในพื้นที่ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่นที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา  เป็นพื้นที่เป้าหมายของโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยซึ่งมีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่าน ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กลับมาเป็นที่สนใจได้ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง หลังการลงไปประชุม ครม.สัญจร 
เมื่อวันที่ 27-28 พ.ย.60 ซึ่งในครั้งนั้นได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ กับชาวบ้านผู้ชุมนุมต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


 เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 27 พ.ย.บริเวณสี่แยกสำโรง อ.เมือง จ.สงขลา กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา หรือ เครือข่ายคนสงขลา- ปัตตานี ได้รวมตัวกันบริเวณดังกล่าว ซึ่งทั้งหมดไม่ยอมบอกว่าใครเป็นแกนนำ 
แต่บอกว่าทุกคนที่มาคือแกนนำทั้งหมด เพราะมีการตกลงกันแล้ว ทั้งนี้แกนนำรายหนึ่งเปิดเผยว่าได้เดินเท้าออกมาจากหมู่บ้านที่ อ.เทพา ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 24 พ.ย.ผ่านมา โดยเดินวันละประมาณ 20 กิโลเมตร
และมีผู้ร่วมขบวนการสมทบมาเรื่อยๆ  เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 
กลุ่มคัดค้านได้ประท้วงโดยดารลงนอนที่บริเวณผิวการจราจร โดยแกนนำได้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง โดยได้รับการยืนยันว่าจะมีตัวแทนของรัฐบาลหรือเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมารับหนังสือคัดค้านดังกล่าว 
แต่ปรากฏว่าถึงเวลา 14.40 น. ยังไม่มีผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลมารับหนังสือทำให้แกนนำและชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ เนื่องจากยังไม่มีใครได้รับประทานอาหารกลางวัน จึงเกิดการปะทะกันเล็กน้อยระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ 
เพราะชาวบ้านต้องการที่จะฝ่าด่านดังกล่าวไปรับประทานอาหารกลางวัน แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมจึงเกิดการผลักดันกันจนทำให้ชาวบ้านได้รับการบาดเจ็บประมาณ 4-5 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้รีบนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลทันที
ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวนายเอกชัย อิสระทะ แกนนำ พร้อมกลุ่มผู้ชุมนุมรวม 16 คน ถูกนำตัวส่ง สภ.เมืองสงขลา โดยแจ้งข้อกล่าวหา  4 ข้อหา คือ 
1. ร่วมกันเดินหรือเดินแห่อันเป็นการกีด ขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำด้วยประการใดๆ บนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคลอื่น 
2.ปิดกั้นทางหลวงหรือกระทำการด้วยประการใดๆ บนถนนหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล 
3. ร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย และร่วมกันทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ 
4. พกพาอาวุธ (ไม้คันธงปลายแหลม) ไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร แต่ผู้ต้องหาทั้ง 16 คน ให้การปฏิเสธ
สิ่งที่พี่น้องชาวใต้กังวลใจ คือการใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ไม่ได้ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แต่อย่างใด เพราะกังวลว่าถ่านหิน หรือ COAL นั้นเป็นหินตะกอนที่มีส่วนประกอบหลัก 5 ธาตุ คือ กำมะถันซึ่งเป็นอันตรายแล้วก็มีคาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน และออกซิเจน ถ่านหินนั้นมี 5 ประเภท คือ พีท ลิกไนต์ ซับบิทูมินัสบิทูมินัส และแอนทราไซต์ ถ่านหินที่เหมาะทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าคือ ลิกไนต์ ซับบิทูมินัส และบิทูมินัส ทั่วโลกมีแหล่ง
ถ่านหินทุกชนิดอยู่กว่า 1 ล้านล้านตัน ไทยเองก็มีแหล่งถ่านหินอยู่ 1.24 ล้านตัน แต่การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจะมีปัญหาเรื่องกำมะถัน หรือซัลเฟอร์ที่ก่ออันตราย ต่อสุขภาพร่างกาย และสิ่งแวดล้อมได้ หากการจัดการด้านความปลอดภัยไม่เพียงพอ
จนกระทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่าน   พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงปัญหาข้อเรียกร้องของกลุ่มเคลื่อนไหวให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลาอีกครั้ง 
 

ผลจากการทบทวน โดยเอาผลกระทบและปัญหาของประชาชนเป็นศูนย์กลางของรัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ นั้น ส่งผลทำให้ทิศทางการแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าถ่ายหิน มีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้น และอาจจะเปลี่ยนแปลง 
หันไปใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือแอลเอ็นจีแทน  แต่ทั้งนี้จะต้องมั่นใจต้นทุนค่าไฟฟ้าไม่เพิ่มหรือแพงขึ้น เพราะหากราคาแอลเอ็นจีปรับขึ้น 1 ดอลลาร์ จะกระทบค่าไฟ 20 สตางค์ต่อหน่วย 
จะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในอนาคต ส่วนการาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) โดยอาจจะเปิดให้เอกชนและกฟผ.เข้ามาประมูลแข่งขันกันได้
โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานพลังงานพบสื่อมวลชน เมื่อวันที่9 กพ. 2561 ถึงประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่า ในการจัดทำ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่(PDP) 
ซึ่งจะมาใช้แทนPDP2015 นั้น จะยังคงหลักการ กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง โดยการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพียงแต่โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่จะดำเนินการนั้น อาจจะไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้  
เนื่องจาก การกำหนดค่าไฟฟ้าของประเทศ นั้นคิดเฉลี่ยเท่ากันในทุกภาคอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน ซึ่งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเชื้อเพลิงก๊าซ จึงสามารถที่จะตั้งอยู่ส่วนไหนของประเทศก็ได้
สำหรับกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา จ. สงขลา นั้น กระทรวงพลังงานไม่ได้สั่งให้มีการชะลอโครงการออกไป3ปี  แต่เห็นว่า การแก้ปัญหาความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ ในระยะสั้น 
นั้น สามารถแก้ไขด้วยการขยายระบบสายส่งที่ยังเป็นคอขวด (จาก230เควี เป็น500 เควี ) จากโรงไฟฟ้าขนอม ไปยังจ.สุราษฎร์ธานี ที่เป็นจังหวัดความต้องการใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้นจากการท่องเที่ยว  
และจากโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ข้ามไปยังจังหวัดท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะ ภูเก็ต ได้  จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เข้าสู่ระบบ
 ดังนั้นระยะเวลา3 ปีนับจากนี้ จึงเพียงพอที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)จะดำเนินการศึกษาให้เกิดความชัดเจน ใน2ส่วน คือ ส่วนพื้นที่ตั้งเดิม ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน.เทพา ว่าสามารถเคลียร์ปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะ 
เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด2,000เมกะวัตต์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เป็นกุโบร์  และศึกษาส่วนของพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ คู่ขนานกันไป โดยจะต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่
อย่างไรก็ตามสำหรับพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนที่นอกจากพลังงานหลัก อย่างน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์ ยังมีพลังงานทดแทนที่ทั่วโลกนิยมใช้ปัจจุบันอาทิ พลังงานชีวภาพ ลม พลังงานแสงอาทิตย์ 
เป็นพลังงานทดแทนที่ได้จากแหล่งที่สามารถหมุนเวียนมาใช้โดยไม่มีวันหมด มักเป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ข้อเสียของพลังงานหมุนเวียนนี้มีต้นทุนการผลิตสูง และไม่สม่ำเสมอ 
จึงมีการผลิตไฟฟ้าในปริมาณน้อย แต่พลังงานในสัดส่วนต่างๆ เหล่านั้น ยังสามารถใช้ทดแทนพลังงานหลัก หรือสามารถใช้หมุนเวียนได้ ทำให้ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพ ความมั่งคงทางพลังงานไฟฟ้าระดับประเทศไทย
ทั้งนี้ตามบทสรุป ณ. ขณะนี้ก็เหมือนกับว่าทางฝั่งรัฐบาลชัดเจนแล้วยังไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เกิดขึ้นได้ในเร็วๆ นี้แน่นอน แต่ส่วนในอนาคตการแก้ไขวิกฤตความมั่นคงไฟฟ้าที่อาจจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ต่อจากนี้
 เป็นเรื่องที่กระทรวงพลังงาน และรัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป และจะใช้พลังงานทดแทนอื่น อย่างไร ก็ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว