บินไทย. หงษ์ปีกหัก.. ขาดทุนจนไม่เหลืออะไรแล้ว

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

อึ้ง...จนพูดไม่ออก มองไม่เห็นทางออก สายการบินแห่งชาติจะฟื้นตัวได้อย่างไร   ปี60 ขาดทุนหนักมาก จากปีก่อนที่ยังมีกำไร 

บินไทย. หงษ์ปีกหัก.. ขาดทุนจนไม่เหลืออะไรแล้ว

  บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI  แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงผลประกอบการงวดปี 2560 ว่าขาดทุน 2,107.34 ล้านบาท หรือ -0.97 บาท/หุ้น ขณะที่ปี 2559 ที่มีกำไร 15.14 ล้านบาท หรือ 0.01 บาท/หุ้น หลังค่าใช้จ่ายน้ำมัน - ที่ไม่ใช่น้ำมันพุ่ง ขาดทุนเงินลงทุนหลังลดสัดส่วนใน NOK - ขาดทุนด้อยค่าเครื่องบิน 3.19 พันล้านบาท และขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 1.58 พันล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,107 ล้านบาท จากปี 2559 ที่มีกำไร 15 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวม 191,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท (6.3%) จากรายได้ค่าโดยสาร และค่าบริการอื่น ๆ และมีค่าใช้จ่าย รวม 189,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.2% เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มขึ้น

อีกทั้งในปี 2560 มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ประกอบด้วย ประมาณการค่าซ่อมแซม เพื่อเตรียมสภาพเครื่องบินเช่าดำเนินงานก่อนการส่งมอบคืน 550 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงส่วนได้เสียในเงินลงทุน 429 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน จำนวน 3,191 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,581 ล้านบาท

บินไทย. หงษ์ปีกหัก.. ขาดทุนจนไม่เหลืออะไรแล้ว

เรืออากาศเอก กนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายบริหารงานกฎหมายและบริหารทั่วไป ปฏิบัติงานในหน้าที่รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กร คือ "การเติบโตอย่างยั่งยืน" โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) พัฒนาเครือข่ายการบินที่แข่งขันได้ ทำกำไรและลดความซับซ้อนของฝูงบิน 2) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเสริมสร้างรายได้ 3) สร้างความเป็นเลิศในการให้บริการ (Service Ring) 4) มีต้นทุนที่แข่งขันได้ และการดำเนินงานมีประสิทธิภาพ 5) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืนและพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพดีเยี่ยม 6) บริหารบริษัทในเครือและกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน โดยได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น การเปิดเส้นทางบินตรงสู่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในจุดบินที่มีศักยภาพและขยายเส้นทางบินในภูมิภาคอาเซียนโดยใช้สายการบินไทยสมายล์


นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เพิ่มศักยภาพฝูงบินโดยรับมอบเครื่องบินใหม่ จำนวน 7 ลำ และปลดระวางเครื่องบินเช่าดำเนินงาน A330-300 จำนวน 2 ลำ ทำให้ฝูงบิน ณ 31 ธันวาคม 2560 มีจำนวน 100 ลำ สูงกว่า ณ สิ้นปีก่อน 5 ลำ โดยมีอัตราการใช้ประโยชน์ของเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 11.5 ชั่วโมง เป็น 12.0 ชั่วโมง มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้น 6.4% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 14.7% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 79.2% สูงกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 73.4% และสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3%
 

 

บินไทย. หงษ์ปีกหัก.. ขาดทุนจนไม่เหลืออะไรแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 บริษัทฯ ต้องเผชิญความท้าทายจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน และการแข่งขันที่รุนแรงจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและทั่วโลก ประกอบกับจากเหตุการณ์เครื่องยนต์โรลส์รอยซ์รุ่น TRENT1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 ที่บริษัทฯ มีอยู่ในฝูงบิน จำนวน 6 ลำ ที่ประสบปัญหาจากตัวใบพัดในเครื่องยนต์ (Turbine Blade) ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องยนต์รุ่นดังกล่าว ทำให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบกับการให้บริการและกระทบต่อตารางการบิน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ตลอดจนสูญเสียโอกาสในการหารายได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาเรียกค่าชดเชยจากผลกระทบดังกล่าว

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยประจำปี 2560 มีรายได้ รวมจำนวน 191,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท (6.3%) โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้จากการบริการอื่นๆ ค่าใช้จ่าย รวมจำนวน 189,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,604 ล้านบาท (7.1%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 4,879 ล้านบาท (10.8%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24.2% ประกอบกับปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิต ถึงแม้ว่าจะมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 8,313 ล้านบาท (6.6%) สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิ ลดลง 588 ล้านบาท (11.5%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน เป็นผลให้มีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 2,856 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,215 ล้านบาท

นอกจากนี้มีแผนขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ขายหุ้นบริษัท โรงแรมรอยัลออคิดฯ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 922.5 ล้านบาท  คณะกรรมการมีมติ งดจ่ายปันผลงวดดำเนินงานวันที่ 01 ม.ค. 2560 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2560