ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2561 ชาวสะเอียบจำนวน 1,000 คน ร่วมฉลองรางวัล “นวัตกรรมประชาร่วมใจ” จากรัฐสภา ในการประกวดผลงานโครงการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วม “สะเอียบโมเดล” แผนจัดการน้ำแบบยั่งยืนทั่วถึงและจุน้ำได้มากกว่าโครงการแก่งเสือเต้น เป็นการแก้ปัญหาภัยแล้วและอุทกภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีนายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้แทนฝ่ายทหาร เดินทางมาร่วมในกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นรองอธิบดีกรมชลประทานได้เป็นประธานมอบโล่และประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณสำหรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง และได้ร่วมลงนามในข้อตกลง ร่วมกันบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยมตอนบนอย่างบูรณาการ ภายใต้ประชาชนมีส่วนร่วม

นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวยกย่องชาวสะเอียบที่ร่วมกับภาคีหลากหลายพัฒนาโครงการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมถือเป็นแนวทางพัฒนาใหม่ที่มีฐานการพัฒนามาจากประชาชน มหาวิทยาลัยนเรศวรถือว่าเป็นตัวเชื่อมที่ดีในการทำให้ฝ่ายหนุนเขื่อนและต้านเขื่อนได้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่เพียงจังหวัดแพร่แต่เป็นจังหวัดเพื่อนบ้านที่เกี่ยวข้องจากลุ่มน้ำได้มาร่วมกัน ซึ่งต่อไปจะมีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำที่มีส่วนร่วม จากนี้ไปจะสามารถคิดต่อได้ว่าจะช่วยเหลือคนทางท้ายน้ำได้อย่างไร ถือเป็นความร่วมมือที่มีความแข็งแรงและมีศักยภาพที่ดี จะเป็นการทำงานแกปัญหามีธงมีทิศทางชัดเจน ในปี 2561 กรมชลประทานได้เร่งศึกษาผลกระทบในโครงการย่อยๆ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก้าวแรกผ่านไปก้าว 2 ก้าว 3 ก็จะเดินหน้าไปด้วยดี

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ช่วงนี้ทุกปีปัญหาภัยแล้งกำลังทวีความรุนแรงด้วยปัญหาน้ำททางกรมชลประทานพยายามอย่างยิ่งที่จะจัดสรรน้ำและบริหารน้ำที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ที่สุด ชาวสะเอียบที่ร่วมกันทำโครงการถือเป็นนวัตกรรมที่ดีในการมีส่วนร่วม ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมมือในการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำที่เหมาะสม การมาในวันนี้ต้องขอชื่นชมที่ชาวสะเอียบ สามารถพัฒนาโครงการจนประสบความสำเร็จและทุกฝ่ายให้ความเห็นขอบโดยเฉพาะรางวัลเกียรติยศประเภทชุมชน องค์กร ที่มีการทำงานร่วมกันจนได้รับรางวัลจากรัฐสภาฯ ต้องขอชื่นชม และจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในการพัฒนาลุ่มน้ำของประเทศไทยสืบต่อไป นายสมมิ่ง เหมืองร้อง แกนนำต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวสะเอียบ กล่าวว่า การต่อสู้ที่ยาวนานของชาวสะเอียบได้จบลงแล้ว แผนการบริหารจัดการน้ำที่ชาวสะเอียบนำเสนอต่อกรมชลประทานนั้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยล่าสุดได้รับรางวัลนวัตกรรมประชาร่วมใจ ของรัฐสภา และได้รับการขานรับจากทุกลุ่มน้ำว่าเป็นโครงการที่ดี สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้ที่ยาวนานของชาวสะเอียบในการต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และวันนี้ชาวสะเอียบได้ทำสำเร็จแล้ว จากนี้ไปจะมีมีคำว่า “เขื่อนแก่งเสือเต้น” อีกต่อไป จึงถือโอกาสนี้ประกาศหยุดเขื่อนแก่งเสือเต้นสำเร็จและขอเอาความสำเร็จไปร่วมฉลองที่งานวันหยุดเขื่อนโลกที่จะจัดที่แม่น้ำสาละวินในวันที่ 14 มีนาคมนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจังหวัดแพร่ เริ่มเกิดสภาวะแห้งแล้งตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา หลายหมู่บ้านขาดน้ำใช้แล้ว โดยเฉพาะ อ.สอง อ.เด่นชัย อ.วังชิ้น อ.ลอง และ อ.ร้องกวาง การจัดสรรน้ำในช่วงนี้ รองอธิบดีกรมชลประทานได้ประชุมร่วมกับชลประทานจังหวัดแพร่ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่บริเวณฝายแม่ยมเพื่อกำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งอย่าให้ประชาชนเดือดร้อนและหาทางออกแบบมีส่วนร่วมในจุดที่มีปัญหาการจัดการน้ำต่อไป

ภาพ/ข่าว ธีรพงษ์ ธงออน ผู้สื่อข่าวภูมิภาค สำนักข่าวทีนิวส์ จังหวัดแพร่