"จะหวั่นอะไรกับผู้ไม่ละอาย"? "หลวงปู่ฯ"ให้คติธรรมปม3เจ้าคุณเอี่ยวโกง-เผชิญหน้า"พงศ์พร"วานนี้ บอกตอนตนมีปัญหา-ให้สงฆ์ลงอธิกรณ์ทันที-ไม่มียื้อ

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

"จะหวั่นอะไรกับผู้ไม่ละอาย"?! "หลวงปู่ฯ"ให้คติธรรมปม 3 เจ้าคุณเอี่ยวโกง-เผชิญหน้า"พงศ์พร"วานนี้ บอกตอนตนมีปัญหา-ให้สงฆ์ลงอธิกรณ์ทันที เพราะเห็นแก่ธรรมวินัย ไม่มียื้อแบบนี้

 

หลัง พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผอ.พศ.) เปิดเผยหลังการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) วานนี้ โดยกล่าวแกนักข่าวเพียงว่า ตนได้รับมอบหมายให้มาชี้แจงทำความเข้าใจกับสื่อมวลชนเพียงว่า ในที่ประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดคุยหรือสอบถามประเด็นการทุจริตเงินทอนวัดล็อตที่ 3 แต่อย่างใด ส่วนคดีที่เกิดขึ้นอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฏหมาย หากต้องการทราบข้อมูลให้ไปถามกับ ปปป.หรือ ป.ป.ช.

 

ขณะที่ทางพระเถรชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกกล่าวหาทั้ง 3 รูปก็ไม่ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเช่นกัน และมีรายงานข่าวว่า บางรูปได้พูดคุยกับ "พ.ต.ท.พงศ์พร" ในช่วงสั้น ๆ ก่อนที่ต่างกันต่างเลี่ยงนักข่าวไป

ต่อกรณีนี้ ล่าสุด "หลวงปู่พุทธะอิสระ" อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้ออกมาโพสต์เรื่องนี้อีกครั้ง หลังเคยโพสต์ใหญ่ ๆ ไปแล้วถึง 3 ครั้งก่อนหน้า และพยายามต่อสู้ และบอกกล่าวแก่สังคมในความฟอนเฟะของวงการดงขมิ้นนี้...อย่างโดดเดี่ยวมาพักใหญ่


โดย "หลวงปู่ฯ" หยิบยกพระธรรมวินัยมาอธิบายถึงแนวทางปฏิบัติ ที่สามารถใช้จัดการในคดีนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ทั้งยังบอกด้วยว่า ตอนตนมีปัญหาบางรูปร่วมมือฆราวาสกล่าวหา ใส่ร้ายพุทธะอิสระว่า โกงอายุพรรษา พอถึงวันประชุมพระสังฆาธิการทั้งจังหวัด พุทธะอิสระหยิบไมโครโฟนประกาศลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบลในทันที และขอร้องพระสงฆ์ในอาวาสโปรดประชุมพิจารณาอธิกรณ์ทันที

โดยรายละเอียดที่ "หลวงปู่ฯ" ระบุไว้ คือ

จะหวั่นอะไรกับผู้ไม่ละอาย

๒๑ เมษายน ๒๕๖๑

ข่าวการเข้าร่วมประชุมของกรรมการมหาเถรสมาคมที่มีผู้ถูก ผอ.สำนักพุทธ โจทด้วยอาบัติปาราชิกถึง ๓ คน จากภาพข่าวดูพวกเขาไม่รู้สึกสะทกสะท้านกับสายตาและความรู้สึกของพุทธบริษัทใดๆ เลย

จึงทำให้มีผู้ถามเข้ามาว่า ในครั้งพุทธกาลมีการดำเนินการกับพระที่ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิกอย่างไรบ้าง

เอาเป็นว่าขออธิบายให้ท่านได้ทำความเข้าใจแต่เบื้องต้นก่อนว่า หลักคิดของพระธรรมวินัยนี้ แม้ในสมัยพุทธกาลท่านรังเกียจความทุจริตผิดศีล

ถึงขนาดที่ทรงตรัสเอาไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระธรรมวินัยนี้เปรียบดังคลื่นลมในท้องมหาสมุทร จักทำหน้าที่พัดพา เอาสิ่งปฏิกูลพึงรังเกียจเข้าหาฝั่งอยู่เสมออันใด พระธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น จักทำการคัดกรองทุรชนและภิกษุผู้ทุศีลอยู่ตลอดเวลาฉันนั้น”

ด้วยพุทธพจน์นี้จึงทำให้พุทธบริษัททั้งหลายได้เข้าใจว่า พระธรรมวินัยนี้ต้องไม่มีผู้ทุศีลละเมิดศีล และปฎิบัติตามพระธรรมคำสอนขององค์พระบรมศาสดาอย่างเคร่งครัด

ในขณะเดียวกันพระธรรมวินัยนี้จักเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงนิสัย แก้ไขพฤติกรรมของผู้ปฎิบัติให้ถูกตรง สุจริต มีสติปัญญา มีสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ รู้เหตุ รู้ผล และรู้กฎของกรรม รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง

สรุปรวมความว่า พระธรรมวินัยนี้สอนให้ภิกษุบริษัททั้ง ๔ มีศีล สมาธิ ปัญญาและละอายชั่วกลัวบาป เมื่อใดที่มีใครมากล่าวร้าย โพทะนา โจทด้วยอาบัติใดแก่ภิกษุรูปใด

พระพุทธเจ้าก็มิได้ทรงนิ่งเฉยปล่อยให้ลืมหายไป

แต่จักทรงตรัสสั่งให้เรียกประชุมสงฆ์ เพื่อทำการระงับอาบัติที่มีผู้โจทหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นทันที นี่คือวินัยกรรมในการระงับปัญหา เรียกว่า ระงับอธิกรณ์ซึ่งก็ทรงวางหลักการในการระงับอธิกรณ์นั้นเอาไว้ถึง ๗ วิธี เรียกว่า อธิกรณสมถะทั้ง ๗ คือ

๑. สัมมุขาวินัย ตัดสินในที่พร้อมหน้าทั้ง โจทย์และจำเลยพร้อมพยาน ตามพยานหลักฐาน

๒. สติวินัย ถือสติเป็นหลัก การยกเลิกความผิดเพราะเป็นพระอรหันต์หรืออริยบุคคลที่จะไม่ทำผิดวินัยในข้อนั้นได้ และภิกษุผู้เป็นบ้า

๓. อมูฬหวินัย ใช้กับภิกษุผู้หายจากเป็นบ้า การประกาศยกเลิกความผิดเพราะผู้กระทำผิดนั้นวิกลจริตหรือเป็นบ้า

๔. ปฏิญญาตกรณะ ทำตามที่รับ การตัดสินตามการยอมรับผิด คำสารภาพของผู้กระทำผิด

๕. ตัสสปาปิยสิกา ลงโทษแก่ผู้ผิดที่ไม่รับ การลงโทษพยานผู้ที่ไม่ยอมพูดในการสอบสวนของคณะสงฆ์

๖. เยภุยยสิกา การตัดสินตามมติเสียงข้างมาก

๗. ติณวัตถารกะ ดุจกลบไว้ด้วยหญ้า วิธีประนีประนอม การตัดสินยกฟ้อง เลิกแล้วต่อกัน(ในกรณีทะเลาะกัน)

แต่หลักคิดของผู้ปกครองสงฆ์และสังคมโลกปัจจุบัน เขาให้เชื่อเอาไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ถูกโจทเป็นผู้บริสุทธิ์ เรียกว่าเอาวิธีคิดทางโลกมาใช้กำหนดถูกผิดของพระธรรมวินัย แทนวินัยกรรมของพระบรมศาสดา

“เช่นนี้แหละที่พุทธะอิสระเรียกร้องว่า ให้มีการแก้ พรบ.ปกครองคณะสงฆ์ให้สอดคล้องกับพระธรรมวินัยที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติ”

ทีนี้มาดูว่า เมื่อผู้ปกครองสงฆ์ใช้หลักระงับอาบัติตามวิธีทางโลกแล้ว เมื่อเรื่องอยู่ในกระบวนการสอบสวนของเจ้าพนักงาน แม้จะมีผู้โจทชี้มูลความผิดความเสียหายมากมายเพียงใด ผู้ปกครองสงฆ์โดยมหาเถรสมาคม ก็บอกว่า ปล่อยให้ไปว่ากันในชั้นศาลทางโลกให้จบก่อน

แล้วจึงมาเปิดศาลสงฆ์พิจารณา

นี่แหละจึงกลายเป็นข้ออ้างของพวกอลัชชีปาราชิกทั้งหลายว่า
ตราบใดที่ศาลทางโลกยังไม่ตัดสินพวกตนก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์
จึงลอยหน้าลอยตาไปเข้าร่วมประชุมองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุดได้อย่างที่เห็นนี่ไง

มีคำถามว่า ถ้าเป็นพุทธะอิสระถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิกบ้างจะทำอย่างไร

ตอบไวๆ และทำมาแล้วด้วยคือ

เมื่อทนายประสิทธิ์ เข้ามายื่นหนังสือโจทพุทธะอิสระด้วยอาบัติปาราชิก ข้อหาทำให้ราชการเสียทรัพย์ในการชุมนุม

พุทธะอิสระขอร้องพระสงฆ์ในอาวาสโปรดประชุมพิจารณาอธิกรณ์ทันที

พระสงฆ์ในอาวาสซึ่งมีสมภารเป็นประธาน ได้ทำหนังสือเชิญทนายประสิทธิ์มาให้ปากคำ แต่สิ่งที่คณะสงฆ์ได้รับคือ รอคอย ทนายของธรรมกาย ไม่เข้ามาให้ปากคำประมาณว่า แค่มาร้องเรียนใส่ร้าย ป่วนให้เสียหายเฉยๆ

อีกซักเรื่องมีพระสงฆ์บางรูปร่วมมือฆราวาสกล่าวหา ใส่ร้ายพุทธะอิสระว่า โกงอายุพรรษา พอถึงวันประชุมพระสังฆาธิการทั้งจังหวัด

พุทธะอิสระหยิบไมโครโฟนประกาศลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบลในทันที

ด้วยข้ออ้างที่ตนยกให้คณะสงฆ์ฟังคือ ไม่อยากให้คนแค่คนเดียวทำให้สังฆมณฑลเสียหาย ต้องช่วยกันรักษาความบริสุทธิ์ บริบูรณ์ของพระธรรมวินัยเอาไว้มากกว่ารักษาบุคคล

นี่คือตัวอย่างคร่าวๆ ที่พุทธะอิสระใช้จัดการกับปัญหาที่เกิดกับตนเอง

ถามว่า แล้วกรรมการมหาเถรสมาคมที่ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิกทั้ง ๓ คนกล้าไหม มีความละอายไหม อันนี้ท่านทั้งหลายต้องเก็บไปคิดกันเอาเอง

แต่ขอบอกเอาไว้ตรงนี้เลยว่า หากมหาเถรยังไม่ดำเนินการใดๆ กับภิกษุผู้ถูกโจทด้วยอาบัติปาราชิก แล้วยังปล่อยให้เข้านั่งร่วมประชุมในกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรปกครองสูงสุดของคณะสงฆ์ เมื่อกรรมการชุดนี้มีมติเป็นคำสั่งปกครองใดๆ มา

อย่าหวังว่า พุทธะอิสระจะยอมรับคำสั่งนั้นๆ เลย

เพราะถือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหลักพระธรรมวินัยและกฎหมาย

พุทธะอิสระ

 

"จะหวั่นอะไรกับผู้ไม่ละอาย"? "หลวงปู่ฯ"ให้คติธรรมปม3เจ้าคุณเอี่ยวโกง-เผชิญหน้า"พงศ์พร"วานนี้ บอกตอนตนมีปัญหา-ให้สงฆ์ลงอธิกรณ์ทันที-ไม่มียื้อ