"วันพระ" วันพิเศษที่ “ท้าวจตุมหาราช” ลงมาตรวจโลกมนุษย์ ใครทำความดี ถูกบันทึกชื่อในแผ่นทอง!

ความเชื่อ "วันพระ" เป็นวันพิเศษที่ “ท้าวจตุมหาราช” และ "เทวดาบริวาร" จะลงมาจากสวรรค์เพื่อตรวจโลกมนุษย์ หากใครทำความดีในวันพระ ก็จะถูกบันทึกชื่อในแผ่นทอง

วันพระ”  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ  เป็นวันแห่งการถือศีล ฟังธรรม ประกอบคุณงามความดีในคติพุทธ โดยในเดือนหนึ่งจะมีวันพระอยู่ทั้งหมด ๔ วันได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ หรือแรม ๑๔ ค่ำในเดือนขาด

วันพระจึงเป็นวันพิเศษในทางพระพุทธศาสนา ในสมัยก่อนหากถึงวันพระ พุทธศาสนิกชนก็มักจะเดินทางไปที่วัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา จวบจนในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนก็ยังคงให้ความสำคัญกับวันพระ หลายคนถือเอาวันพระเป็นวันของการถือศีล เป็นวันทำบุญใส่บาตร และอื่นๆอีกมาก

 

 

 

 

จตุโลกบาล ทั้ง 4

โดยอีกหนึ่งความสำคัญของวันพระ ซึ่งปรากฏใน พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๑  http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3717&Z=3740 คือเป็นวันที่ท้าวจตุมหาราชและเทวดาบริวาร ลงมาตรวจโลกมนุษย์ เพื่อดูว่ามนุษย์ผู้ใดได้ทำความดี  แล้วก็จะจดชื่อ สกุล ในแผ่นทองคำ นำไปถวายแด่คณะเทวดาในชั้นดาวดึงส์ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงเรื่องดังกล่าวไว้ ใน “ราชสูตรที่ ๑”  ดังนี้

 

[๔๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๘ ของปักษ์ เทวดาผู้เป็น บริวารของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๑๔ ของปักษ์ พวกโอรสของท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น ท้าวจาตุมหาราชย่อมเที่ยวตรวจดูโลกนี้ด้วยตนเองทีเดียวว่า ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดาเกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแลหรือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญมีอยู่น้อย ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกันอยู่ ณ สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ปฏิบัติ ทำบุญ มีน้อย  ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันเสียใจว่า ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเสื่อมหาย อสุรกายจักเต็มบริบูรณ์ ดังนี้

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา ... ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มาก ท้าวจาตุมหาราชย่อมบอกถึงเหตุที่กล่าวมานั้น แก่พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภาว่า ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ มนุษย์ที่เกื้อกูลแก่มารดา เกื้อกูลแก่บิดา เกื้อกูลแก่สมณะ เกื้อกูลแก่พราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ปฏิบัติ ทำบุญ มีอยู่มากแล เพราะเหตุนั้น พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมพากันดีใจว่า ดูกรผู้เจริญทั้งหลาย กายทิพย์จักเต็มบริบูรณ์ อสุรกายจักเสื่อมสูญ ฯ

 

 ในอรรถกา อรรถกถาปฐมราชสูตรที่ ๗     http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=476 ได้อธิบายเพิ่มเติม โดยขอสรุปใจความสำคัญดังนี้ คือ

ในวัน  ๘ ค่ำ ท้าวสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์ ทรงบัญชาให้ท้าวจตุมหาราชทั้งสี่ ท่องเที่ยวไปยังโลกมนุษย์ แล้วจดชื่อ สกุล ของมนุษย์ที่ทำบุญประกอบคุณงามความดี  ท้าวมหาราชทั้งสี่ได้รับบัญชาแล้ว จึงทรงใช้บริวารของท่าน คือ เหล่าอำมาตย์ของพระองค์ไปแทน อำมาตย์เหล่านี้ก็จะ เขียนชื่อ สกุลของมนุษย์ ที่ได้ประกอบคุณงามความดีลงในแผ่นทองคำ จากนั้นจึงนำมาถวาย แก่ท้าวจตุมหาราช 

ต่อมาคือ ในวัน ๑๔ ค่ำ บุตรของท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ ก็จะลงมาตรวจโลกมนุษย์โดยถือแผ่นทองคำ จดชื่อและสกุลของผู้ประกอบคุณงามความดีเช่นเดิม

ในวัน ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันอุโบสถ ท้าวจตุมหาราชทั้ง๔ ท่านจะลงมาตรวจโลกมนุษย์ด้วยตนเอง โดยจดชื่อคนที่ทำบุญลงในแผ่นทองคำ

เมื่อท้าวมหาราชท่านทราบว่า เวลานี้มีมนุษย์ทำบุญมากหรือน้อย ท่านก็จะจดชื่อในแผ่นทอง นำไปถวายแด่คณะเทวดาชั้นดาวดึงส์ซึ่งมาประชุมกัน ณ สุธรรมาสภา หากรายชื่อมนุษย์ที่ทำบุญมีน้อยกว่าทำบาป  เหล่าเทวดาก็จะเสียใจ เนื่องจากเห็นว่า จะไม่มีเทวดาใหม่ๆ มาเกิดบนเทวโลก  แต่ในอบายภูมิ จะมากไปด้วยผู้ที่ประพฤติตนไม่ดี  ขณะเดียวกัน หากดูรายชื่อแล้ว มนุษย์ทำบุญมีมากกว่าทำบาป เหล่าเทวดาจะดีใจ เพราะต่อไปจะมีเทวดาใหม่ๆมาเกิด ส่วนพวกที่เกิดในอบายภูมิก็จะลดลง

ด้วยพระสูตรนี้… จึงเป็นสิ่งเตือนใจ เป็นกำลังใจให้ผู้ทำความดี เชื่อมั่นว่า… การทำความดีนั้น แม้มนุษย์ด้วยกันจะมองไม่เห็น แต่เทวดาเห็นแน่นอน ?!!

 

ท้าวจาตุมหาราช

 

 

สำหรับท้าวจตุมหาราช หรือ ท้าวจตุโลกบาล  คือ เทพผู้เป็นใหญ่ ๔ องค์ คุ้มครองรักษา ทั้ง ๔ ทิศ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งเป็นสวรรค์ชั้นที่ ๑  ส่วนดาวดึงส์ เป็นสวรรค์ชั้นที่ ๒ (สวรรค์มีทั้งหมด ๖ ชั้น)   โดยสวรรค์ชั้นดาวดึงส์จะมีพระอินทร์ปกครองดูแลอยู่

นับได้ว่า สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา หรือสวรรค์ชั้นที่ ๑  เป็นสวรรค์ที่อยู่ใกล้ชิดกับโลกมนุษย์มากที่สุด จึงเป็นเหตุให้ท้าวจตุมหาราช หรือท้าวจตุโลกบาล ต้องปกครองดูแล คอยสอดส่องโลกมนุษย์ด้วยนั่นเอง

ท้าวจตุมหาราช ที่ปกครองรักษาทั้ง ๔ ทิศในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาได้แก่

๑.  ท้าวธตรฐ  เป็นเทวดาผู้ปกครองอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ โดยปกครอง คนธรรพ์ วิทยาธร ภุมภัณฑ์ ในทุกระดับชั้น

๒. ท้าววิรุฬหก  เป็นเทวดาผู้ปกครองอยู่ทางทิศใต้ของเขาสิเนรุ โดยปกครองดูแลครุฑเทวดา  ภุมมเทวา รุกขเทวา อากาสเทวา ในทุกระดับชั้น

๓. ท้าววิรูปักษ์   เป็นเทวดาผู้ปกครองอยู่ทางทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ โดยปกครองดูแลพญานาคในทุกระดับชั้น

๔. ท้าวเวสสุวรรณ    เป็นเทวดาผู้ปกครองอยู่ทางทิศเหนือของเขาสิเนรุ โดยทำหน้าที่ในการปกครองดูแล ยักษ์ในทุกระดับชั้น และยังปกครองเหล่าบรรดาภูตผีปีศาจอีกด้วย

 

 

 

วันพระ

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : พระไตรปิฎก  เล่มที่ ๒๐  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ราชสูตรที่ ๑ http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=20&A=3717&Z=3740

อรรถกถาปฐมราชสูตรที่ ๗    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=20&i=476

และข้อมูลเพิ่มเติมจาก กระทู้ในเว็บไซต์พลังจิต  https://palungjit.org/threads/เทวดาตรวจโลกจริงหรือ.208983/

เครดิตภาพ : phrathong watpanonvivek