"วิบากกรรมคดีที่ 5" ทักษิณ ติดบ่วง "ทีพีไอ" แทรกแซง-ฮุบกิจการอาณาจักรแสนล้าน

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

   ผ่านไปเกือบ 8 ปี ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่สำนักงานป.ป.ช. ส่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีฟื้นฟูกิจการทีพีไอ

   คดีนี้บอร์ดป.ป.ช.ชุดเดิม ชี้มูลความผิดแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2553 กรณีนายทักษิณ เมื่อครั้งเป็นนายกฯ ใช้อำนาจกำกับควบคุมหน่วยงานของรัฐในฝ่ายบริหารทั้งหมด ให้ความเห็นชอบและยินยอมให้กระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท อุตสาหกรรม ปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) ตามที่รัฐมนตรีคลังหารือ โดยรายชื่อคณะกรรมการบริหารแผนฟื้นฟูเป็นไปตามที่นายกฯเสนอ เข้าไปดำเนินการ

จึงเป็นการกระทำทั้งที่รู้อยู่ว่ากระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นส่วนราชการ ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนกิจการหรือจัดการทรัพย์สินให้กับบริษัทเอกชน เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่กระทรวงการคลังและเสียหายต่อระบบราชการ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และได้ส่งอัยการสูงสุดดำเนินคดี

กรณีนี้มีผู้กระทำผิด 2 ราย อีกรายคือ นายสุชาติ เชาว์วิศิษฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขณะนั้น แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อน จึงดำเนินการต่อเฉพาะนายทักษิณ

แต่ทางฝ่ายอัยการสูงสุดเห็นแย้ง จึงแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนฝ่ายอัยการสูงสุดและฝ่ายคณะกรรมการ ป.ป.ช.ขึ้น เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกัน  ปรากฏว่าคณะทำงานดังกล่าว ไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีได้นับแต่นั้น

ป.ป.ช.จึงฟ้องคดีนี้เพิ่มบ่วงคล้องคอ นายทักษิณ อีก 1 คดี ซึ่งต้องลุ้นระทึกว่า ที่สุดศาลจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างไร แล้วอาจปลุก “ศึกชิงทีพีไอ” ภาค 2 ขึ้นมาอีกครั้ง

ย้อนอดีตทีพีไอ
ชื่อทีพีไอในส่วนกิจการปิโตรเคมีถูกลบหายจากสารบบไปแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ในชื่อ บมจ.ไออาร์พีซีนั้น ก่อตั้งโดย นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เมื่อปี 2521 ด้วยทุนเริ่มต้น 300 ล้านบาท และเติบโตควบคู่กับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์น ซีบอร์ด

ทีพีไอเติบใหญ่จนเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตปิโตรเคมีครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน มีสายการผลิตมากที่สุดในประ เทศไทย ครอบคลุมอุตสาหกรรม ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ตั้งแต่กลุ่มโรงกลั่นนํ้ามัน ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ปูนซีเมนต์ และท่าเทียบเรือนํ้าลึกในจังหวัดระยอง ควบ คู่กับแปรสภาพจากธุรกิจของครอบครัวเลี่ยวไพรัตน์ เป็นบริษัทมหาชน เพื่อระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน จนมีทรัพย์สินรวม 1.3 แสนล้านบาท จ้างงานกว่า 8 พันคน

กระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ทีพีไอซึ่งมีหนี้เงินกู้ต่างประเทศมหาศาล ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนทันทีกว่า 6.9 หมื่นล้านบาท ภาระหนี้กระโดดพรวดเป็น 1.33 แสนล้านบาท หรือราว 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อัตราแลกเปลี่ยนที่ไหลไปถึง 48 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

อาณาจักรธุรกิจที่กำลังสุกใส พลิกผันกลายเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ตกหล่มวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย และอาเซียน

มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินทั้งไทยและเทศรวมกันกว่า 150 ราย แบ่งเป็นเจ้าหนี้ในประเทศ 1,200 ล้านดอลลาร์  มากสุดคือแบงก์กรุงเทพ และเจ้าหนี้ต่างประเทศ 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รายใหญ่ อาทิ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (ไอเอฟซี)ธนาคารส่งออกและนำเข้าสหรัฐฯ แบงก์ออฟอเมริกา และซิตี้แบงก์

การต่อสู้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้เป็นไปอย่างเข้มข้น นายประชัย ขอให้แบงก์ “แฮร์คัต” ตัดลดหนี้ เช่นเดียวกับกิจการเอกชนอื่นที่เผชิญวิกฤติ เจ้าหนี้ต้องการแปลงหนี้เป็นหุ้น เพราะเห็นว่ากิจการยังมีศักยภาพทำรายได้มาชดใช้หนี้เดิม แต่จะมีผลให้เจ้าของเดิมกลายเป็นหุ้นข้างน้อย นายประชัย โวยถูกจ้องฮุบกิจการ ต่างฝ่ายต่างตั้งป้อมต่อสู้ มีคดีฟ้องร้องกันไปมานับร้อยคดี บริษัทไม่สามารถบริหารไปได้ ที่สุดศาลล้มละลายสั่งอีพี หรือเอฟเฟกทีฟ แพลนเนอร์ ตัวแทนฝ่ายเจ้าหนี้ พ้นการบริหารแผน

รัฐบาลทักษิณเข้าแทรก
ยุครัฐบาลทักษิณยื่นมือเข้ามาแทรก เป็นที่มาของหนังสือกระทรวงการคลังขอความเห็นชอบยินยอมดังกล่าวข้างต้น โดยศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้บริหารแผนคนใหม่

คณะผู้บริหารแผนประกอบด้วย พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผบ.สส. นายพละ สุขเวช นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายทนง พิทยะ และนายอารีย์ วงศ์อารยะ (ต่อมาตั้ง นายวีรพงษ์ รามางกูร ทำหน้าที่แทนนายทนง)

ภายใต้คณะผู้บริหารแผนชุดใหม่ เจ้าหนี้ยอมตัดลดหนี้ดอกเบี้ยลง 250 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนี้เงินต้น 2,700 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นก้อนแรก 1,800 ล้านดอลลาร์ ยืดการชำระให้ 12 ปี อีกก้อน 900 ล้านดอลลาร์ ชำระด้วยหุ้นของ บมจ.ทีพีไอโพลีน กิจการในเครือที่ทีพีไอถืออยู่ และเงินที่ได้จากการขายหุ้นเพิ่มทุน

ทีพีไอลดทุนเพื่อล้างผลการขาดทุนสะสม และเพิ่มทุนใส่เม็ดเงินใหม่เข้ามา มี 4 พันธมิตรหลัก ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท คือ บมจ.ปตท. เข้าถือหุ้น 30% ธนาคารออมสิน 10% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) 10% และกองทุนวายุภักษ์ 10% รวมถึงขายหุ้นให้พนักงาน ได้เงินเพิ่มทุน 58,000 ล้านบาท หรือ 1,450 ล้านดอลลาร์ เพื่อไปชำระคืนเจ้าหนี้

 

“ประชัย” ต้านไม่เป็นผล
ขณะที่ประชัยก็ขัดขวางเต็มที่ ชี้ว่าผู้บริหารแผนชุดใหม่สร้างความเสียหายให้ทีพีไอ และไปจับมือกลุ่มซิติก กรุ๊ป จากจีนมาเป็นพันธมิตร ทำข้อเสนอแข่งจะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทันที 2,700 ล้านดอลลาร์ และขอซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 5.50 บาท ชี้ว่าการขายหุ้นให้ 4 พันธมิตรข้างต้นทำให้ทีพีไอเสียหายกว่า 2 แสนล้านบาท

แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกาตัด สินว่า นายประชัย ไม่มีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อนกลุ่มปตท. คณะผู้บริหารแผนชุด พล.อ.มงคล เดินหน้าต่อ

26 เมษายน 2549 ศาลล้มละลายกลางสั่งให้ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟู วันรุ่งขึ้นมีการเรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นทีพีไอ ประจำปี 2549 ทันที และมีมติตั้งกรรมการใหม่เพิ่มอีก 15 คน ประกอบด้วย 5 คนจากคณะผู้บริหารแผนชุด พล.อ.มงคลและกรรมการใหม่จากตัวแทน4 พันธมิตรร่วมทุนใหม่อีก 10 คน คือ

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ นายปิติ ยิ้มประเสริฐ นายวิสิฐตันติสุนทร นายเสงี่ยม สันทัด นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส พล.อ.พรชัยกรานเลิศ นายพชร ยุติธรรมดำรง และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา

ขณะที่นายประชัย ผู้บริหารเดิมนั้นถูกเตะโด่งพ้นตำแหน่งกรรมการบริษัท พร้อมกับที่ความเป็นเจ้าของทีพีไอปิโตรเคมี หลุดจากมือครอบครัว “เลี่ยวไพรัตน์” ไปในที่สุด โดยนายประชัย ยังคงตอกยํ้าทุกเวทีว่า ถูกผู้มีอำนาจฮุบอาณาจักรแสนล้านของตน

ป.ป.ช.พบทำผิดหลายกรณี
นายวิชัย วิวิตเสวี อดีตกรรมการป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน เคยกล่าว ว่า คดีนี้มีการกระทำผิดฝ่าฝืนหลายกรณี ส่วนกรณีการขาย หุ้นเพิ่มทุนของทีพีไอนั้นทางป.ป.ช.ไม่เกี่ยวข้อง ป.ป.ช.เพียงแต่พิจารณาว่ามีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูหรือไม่เท่านั้น อย่างอื่นไม่เกี่ยว

แม้จะยืดเยื้อมานาน แต่ท้ายที่สุดป.ป.ช.ก็มีมติฟ้องนายทักษิณว่า ปฏิบัติหน้าที่มิชอบยิน ยอมให้กระทรวงการคลังเข้าไปฟื้นฟูกิจการของเอกชนทั้งที่ไม่มีอำนาจ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญา ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้พิพากษาตัดสินชี้ขาดอีก 1 คดี

หาก “กระทรวงการคลัง” ไม่มีอำนาจมาแต่ต้น นี่อาจเป็นชนวนของศึกชิงทีพีไอรอบใหม่

วิบากกรรม‘ทักษิณ’

1. คดีทุจริตธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานครกว่า 9,000 ล้านบาท (คดีกรุงไทย) คดีนี้อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ฐานผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฎีกาฯ) นัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 20 มิถุนายน 2561

2. คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า 4,000 ล้านบาทเพื่อซื้ออุปกรณ์กิจการโทรคมนาคมจากบริษัทเครือชินคอร์ป (คดีเอ็กซิมแบงก์) โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นโจทก์ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาฯนัดพิจารณาครั้งแรกในวันที่ 4 กรกฎาคม 2561

3. คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่น ล้านบาท อัยการสูงสุดโจทก์ ศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 10 กรกฎาคม 256

4. คดีโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ขัดต่อพ.ร.บ. สลากกินแบ่งรัฐบาล และ พ.ร.บ.เงินคงคลัง ทำให้รัฐ เสียหาย 14,862 ล้านบาท (คดีหวยบนดิน) ซึ่งคตส.เป็นโจทก์ ป.ป.ช. เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2561

5. คดีเห็นชอบให้กระ ทรวงการคลังเข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (คดีฟื้นฟูกิจการ TPI) ศาลฎีกาฯ ยังไม่ได้กำหนดแต่อย่างใด
 

 

 

http://www.thansettakij.com