เข้าพรวดไปหน่อยนะ!! ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง "แก๊งอยากเลือกตั้ง" อยากได้คุ้มครองชั่วคราวดันทำผิดขั้นตอนก่อนมายื่น-ไม่ได้รับความเดือดร้อน?

ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

    จากกรณีที่นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.61 น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้เดินทางไปยื่นคำร้องที่ศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้งในการเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ โดยร้องขอให้ศาลคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายมั่นคงทำการขัดขวางตั้งแต่เวลา 06.00น.-18.00 น. วันนี้
      ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งสองไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดยศาลพิเคราะห์เห็นว่าคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่สอง ได้มีหนังสือที่ ตช 0015. (บก.น.1) 10/2612 ลงวันที่ 20 พ.ค. 2561 กำหนดเงื่อนไขการชุมนุมและสั่งห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งสองชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขและคำสั่งห้ามการชุมนุมดังกล่าว พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ. 2542 อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือที่ ตช.ตช 0015. (บก.น.1) 10/2612 ลงวันที่ 20 พ.ค. 2561 กำหนดเงื่อนไขและมีคำสั่ง ดังนี้ (1) ห้ามมิให้จัดการชุมนุมการชุมนุมทางการเมือง อันเป็นการขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เมษายน 2558 เว้นแต่จะนำหนังสืออนุญาตจากหัวหน้าคสช.หรือผู้ได้รับมอบหมายมาแสดงก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง (2) ห้ามมิให้เคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมในลักษณะที่ขัดต่อมาตรา 7 และ มาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 (3) การโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ตามพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 วรรคสี่ (5) แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กรณีจึงมิใช่คำสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขการชุมนุมในกรณีที่ผู้ได้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา 7 และ มาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และมิใช่คำสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา 11 วรรคสาม แห่งพ.ร.บ.เดียวกัน
 

   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 11 วรรคสี่แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีเงื่อนไขหรือคำสั่งห้ามการชุมนุม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม และการโฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 วรรคสี่ (5) แห่งพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 อันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และเมื่อกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตามมาตรา 44 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง พ.ศ.2539 และหากไม่มีการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายระยะเวลาอันสมควร ซึ่งอาจเทียบเคียงระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา 11 วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กล่าวคือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะต้องพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องและถ้อยคำของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในชั้นไต่ส่วนว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งตามหนังสือที่ ตช.0015 (บก.น.1) 10/2612 ลงวันที่ 20 พ.ค. 2561 จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาล ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและขอให้ชดเช่ยค่าเสียหายได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ.2542
 

   สำหรับคำฟ้องในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 2 นั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้แจ้งการชุมนุมสาธารณะตามหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 16 พ.ค. 2561 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมและสั่งห้ามผู้ฟ้องคดีทั้งสองชุมนุมสาธารณะ ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามนัยมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. 2542

 

เข้าพรวดไปหน่อยนะ!! ศาลปกครองไม่รับคำฟ้อง "แก๊งอยากเลือกตั้ง" อยากได้คุ้มครองชั่วคราวดันทำผิดขั้นตอนก่อนมายื่น-ไม่ได้รับความเดือดร้อน?
   ด้านแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง รังสิมันต์ โรม ระบุว่า ศาลปกครองไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่ยืนยันว่า จะเดินหน้าชุมนุมต่อและไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยใช้หลักสันติวิธีและการเจรจา