ติดตามข่าวสารได้ที่ www.tnews.co.th

     วันนี้จะได้บรรยายธรรมในหัวข้อเรื่อง “บังสุกุลเป็น” คำว่า “บังสุกุล” แปลว่า ผ้าคลุกฝุ่น หรือผ้าเปื้อนฝุ่น หรือผ้าปฏิกูลด้วยสิ่งไม่สะอาด ผ้าเช่นนี้มีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุเก็บเอามาซักฟอกให้สะอาดดีแล้ว ตัดเย็บย้อมให้ได้สีแล้ว บริโภคใช้สอยเป็นผ้าสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ได้ตามปรารถนา ภิกษุผู้ใช้เฉพาะผ้าบังสุกุลเช่นนี้ เรียกว่า “ถือหรือสมาทานธุดงควัตรอย่างหนึ่ง” เรียกว่า “สมาทานผ้าบังสุกุลจีวร”

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

ดังนั้น การบังสุกุลจึงใช้ผ้าเล็กหรือใหญ่ชนิดไหนก็ได้ เช่น ผ้าสบง จีวร สังฆาฏิ ผ้าอาบน้ำฝน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ที่สำเร็จแล้ว หรือถ้าให้ดีก็ควรใช้ผ้าขาวทั้งพับ หรือตัดแบ่งเท่าที่ต้องการ มาถวายทอดเป็นผ้าบังสุกุล ไม่ควรให้พระภิกษุหรือสามเณรถือจับเพียงสายสิญจน์หรือผ้าภูษาโยงเฉยๆชักบังสุกุล เพราะไม่สำเร็จเป็นผ้าบังสุกุลจีวรตามพระพุทธานุญาต

 

 

ก็บังสุกุลนั้นมี ๒ อย่าง คือ บังสุกุลเป็น อย่างหนึ่ง บังสุกุลตาย อย่างหนึ่ง บังสุกุลคนตายไปแล้วนั้น เราทั้งหลายเคยเห็นเคยรู้กันมามากแล้ว ส่วนบังสุกุลเป็น หรือคนยังไม่ทันตายนั้น ท่านนิยมทำกันอย่างไร

บังสุกุลเป็นนั้น คือเอาผ้าขาวไปวางไว้ หรือเอาคลุมไว้ที่คนเป็นที่ยังไม่ตาย เช่น ในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มีความไม่สบายกายใจ หรือคราวครบอายุวันเกิดรอบเดือนหรือรอบปี แล้วไปนิมนต์พระภิกษุที่ตนรู้จักเคารพนับถือ หรือไปแจ้งแก่ทางวัด ขอให้สั่งพระภิกษุโดยไม่เจาะจง ให้ไปที่บ้านหรือไปทำที่วัดก็ได้ จะมีของอย่างอื่นที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคด้วยก็ได้ สุดแท้แต่ศรัทธาของผู้ทำ พระที่นิมนต์ไปท่านก็จะพิจารณาผ้าเช่นนั้น แล้วท่านจะจับผ้านั้นบังสุกุลเป็น บังสุกุลเป็นท่านนิยมใช้คาถาว่า

 

 

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ

ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ

เมื่อพระดึงผ้าออกจากตัวคนเป็นแล้ว ผู้นั้นก็ถวายสิ่งของอื่นที่เป็นบริวารผ้าบังสุกุล พระภิกษุอนุโมทนา เจ้าตัวหรือเจ้าการก็ตรวจน้ำรับอนุโมทนา การทำอย่างนี้เรียกว่า “บังสุกุลเป็น” หมายความว่า ตัวเรายังไม่ตายก็ทำบุญบังสุกุลได้ ไม่ต้องรอให้ตายเสียก่อนจึงบังสุกุล

 

 

คาถาบังสุกุลเป็นนี้มีเล่าไว้ในอรรถกถาธรรมบทว่า มีชายผู้หนึ่งชื่อติสสะ เป็นชาวเมืองสาวัตถี ได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว มีความเลื่อมใสมอบกายถวายชีวิตบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จนมีพรรษายุกาลมาก จึงได้นามว่า “ติสสเถระ” ภายหลังเกิดโรคพุพองขึ้นทั่วตัว ขั้นแรกก็เป็นเม็ดเล็กๆ แล้วใหญ่โตขึ้นจนเป็นแผลเน่าเปื่อยไปทั้งตัว มีกลิ่นเหม็นปฏิกูล จึงมีนามเรียกขานกันว่า “ปูติคัตตติสสเถระ” ขึ้นอีกชื่อหนึ่ง แปลว่า พระเถระชื่อติสสะผู้มีตัวเน่า

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

พระภิกษุสามเณรผู้เคยปฏิบัติพยาบาลอยู่ ก็พากันอิดหนาระอาใจทอดทิ้งท่านไปเสีย ไม่มีใครรักษาพยาบาลเอาเป็นภารธุระ ความนั้นทราบไปถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์เสด็จมาทรงพยาบาลเอง ทรงต้มน้ำให้อาบ ชำระมลทินกาย ทรงเปลื้องจีวรไปซักตากให้แห้ง แล้วเปลี่ยนเอาสบงไปซักตากให้แห้ง มานุ่งห่มให้ใหม่ ทรงชำระที่นั่งที่นอนให้สะอาดดีแล้ว จัดให้นอนสบาย

 

 

ในระหว่างที่ทรงพยาบาลอยู่นั้น ได้ทรงโอวาทสอนภิกษุสามเณรทั้งหลายว่า

“ท่านทั้งหลาย เป็นผู้มาจากสกุลต่างๆกัน บวชในศาสนานี้ร่วมกัน ใครเจ็บไข้ไม่สบาย ถ้าไม่เอาธุระรักษาพยาบาลกัน จะได้ใครที่ไหนเล่ามารักษาพยาบาลกัน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใครผู้ใดใคร่เพื่อปฏิบัติบำรุงเราผู้ตถาคต ผู้นั้นจงปฏิบัติบำรุงภิกษุไข้เถิด ผู้ใดปฏิบัติบำรุงภิกษุไข้ ผู้นั้นชื่อว่าปฏิบัติบำรุงเราผู้ตถาคต”

 

 

ต่อแต่นั้นภิกษุสามเณรทั้งหลาย ก็พากันขะมักเขม้นช่วยกันเป็นธุระแทนพระองค์ เมื่ออินทรีย์ของท่านปูติคัตตติสสเถระนั้น สมควรที่จะรับพระธรรมเทศนาได้แล้ว พระองค์ก็ตรัสพระคาถาว่า

“อจิรํ วตยํ กาโย” เป็นต้น แปลความว่า กายนี้ไม่นานเลยจักนอนทับถมแผ่นดิน ในเมื่อปราศจากวิญญาณแล้ว เขาก็เอาไปทิ้ง เป็นของหาสาระแก่นสารประโยชน์อะไรไม่ได้ เหมือนขอนไม้ หรือท่อนกล้วยที่ไม่มีแก่นไม่มีสารนั้น

 

 

เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้ว พระปูติคัตตติสสเถระก็ถึงมรณภาพ พร้อมกับสำเร็จพระอรหัตตมรรคอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์พุทธสาวกองค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลถึงคติภพของพระเถระ พระพุทธเจ้าก็ตรัสพยากรณ์ว่า เธอบรรลุพระนิพพานมีอันไม่เกิดในภพไหนๆอีกแล้ว

 

 

ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า “ท่านมีนิสัยพระอรหัตตมรรคอรหัตตผลเช่นนี้ ไฉนจึงมีเนื้อตัวเน่าเปื่อย?”

พระพุทธเจ้าก็ตรัสอดีตกรรมของปูติคัตตติสสเถระว่า เมื่อครั้งศาสนาของพระกัสสปพุทธะ พระภิกษุรูปนี้เกิดเป็นนายพราน เที่ยวทำปาณาติบาตจับนกขาย เมื่อได้นกมามากตัว บริโภคหรือขายไม่หมด ก็หักปีกขานกทั้งหลายนั้น เพื่อไม่ให้หนีหายไป หรือเพื่อบริโภคและขายในวันต่อไป อยู่มาวันหนึ่ง มีพระอรหันต์ขีณาสพองค์หนึ่งเที่ยวบิณฑบาต นายพรานเห็นเข้าก็มีความเลื่อมใส จึงนำเอาอาหารที่ตนทำไว้บริโภคนั้น มาถวายแก่พระอรหันต์ กรรมเพราะปาณาติบาตหักปีกหักขานก จึงมีผลให้เกิดแผลพุพองเน่าเปื่อยไปทั้งตัว อานิสงส์ที่ได้ถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระอรหันต์ขีณาสพด้วยความเลื่อมใส ก็อำนวยผลให้ได้สำเร็จพระอรหันต์ คือได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

ตามเรื่องที่ได้บรรยายมานี้ คาถาว่า “อจิรํ วตยํ กาโย” เป็นต้นนี้ พระเถระโบราณาจารย์จึงนำมาใช้เป็น คาถาบังสุกุลเป็น สืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเราทั้งหลายจะไม่ค่อยมีการบังสุกุลเป็น คือในเวลายังไม่ตาย จึงไม่ค่อยจะได้เห็นหรือได้ยินได้ฟังคาถานี้นัก บัดนี้จักอธิบายคาถานี้พอสมควรแก่เวลา

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

คำว่า “กาย” นี้ แปลว่า ประชุมหรือเป็นที่รวม ถ้าอยู่ตามลำพังไม่เรียกว่ากาย เรียกว่าธรรมหรือธาตุสภาวะ แปลว่า ทรงไว้หรือมีเองเป็นเอง เช่น ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ หรือช่องว่าง และธาตุวิญญาณ คือธาตุรู้ รวมธาตุ ๔ ธาตุ ๕ หรือธาตุ ๖ จึงเป็นกาย เช่น กายมนุษย์ กายสัตว์ ได้ในคำว่า “ฉ ตุโร ปุริโส” คนมีธาตุ ๖ ก็คนหรือกายของมนุษย์และสัตว์นี้เป็นของไม่เที่ยง ย่อมแปรเปลี่ยนยักย้ายเสมอไป ไม่นานเท่าไรก็แก่เจ็บตายไปเหมือนกันทั้งหมด

 

 

บางคนเกิดมาไม่นานวัน นานเดือน นานปี ก็ตาย เมื่อตายคือปราศจากวิญญาณแล้ว เขาก็เอาไปทิ้ง ทิ้งที่ไหน ที่ป่าช้าหรือเก็บฝังไว้ที่วัด ถ้าไม่เผาก็เน่าผุกร่อนร่อยหรอหายไป ลมหายไปรวมกับลมภายนอก ไฟคือธาตุร้อนหายไปรวมกับธาตุไฟภายนอก แม้น้ำ ดิน อากาศ ก็ไปรวมกับธาตุเดิมนั้นๆหมด หรือหายจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นของของเรา กายนี้จึงไม่มีแก่นสาร หาสารประโยชน์อะไรมิได้

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

สู้กายของสัตว์เดียรัจฉานไม่ได้ เนื้อก็กินได้ เขา หนัง หรือขน และอวัยวะอื่นๆก็มีราคา ใช้ทำประโยชน์บางอย่างได้ หรือซื้อขายก็มีราคา ส่วนกายมนุษย์กินไม่ได้ ขายหรือให้ใครก็ไม่มีผู้ใดต้องการ จึงอุปมาเหมือนขอนไม้หรือท่อนกล้วย ขอนไม้บุคคลยังนำมาเป็นประโยชน์ได้ เช่น ทำตั่งที่นั่งได้ ใช้เป็นฟืนหรือเผาเป็นถ่านทำเชื้อไฟก็ได้ ส่วนท่อนกล้วย ใช้ต่อเป็นแพหยวกกล้วย เป็นพาหนะใช้ข้ามฟากได้ ปนกับอาหารอื่นใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ใช้กาบกล้วยนำมาสลักประดับเชิงตะกอนในเวลาเผาศพได้ ดีกว่ากายคนซึ่งตายแล้วใช้ทำอะไรไม่ได้ มีแต่เน่าเหม็นเป็นที่หวาดกลัวของคน

 

 

ข้อว่า ไม่นานเลยจักนอนทับถมแผ่นดินนั้น ก็เห็นได้ง่าย เช่น คนตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย หรือคราวเจ็บไข้ใกล้ต่อความตาย แม้เมื่อคราวสบายเป็นปกติอยู่ ก็ไม่แน่ว่าจักไม่ตาย เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า “อนิมิตฺตมนญฺญาตํมจฺจานํ อิธ ชีวิตํ” ชีวิตความเป็นอยู่ของสัตว์ทั้งหลายไม่มีกำหนดหมายแน่นอนว่า จักตายเมื่อไร ความมีชีวิตเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งหลายอย่างสูงเพียงร้อยปี มักอยู่ไม่ถึงร้อยปีเสียเป็นส่วนมาก ข้อนี้มีบาลีในชราสูตรแสดงไว้ว่า “อปฺปํ วต ชีวิตํ อิทํ” เป็นต้น แปลความว่า ชีวิตนี้น้อยนัก บุคคลย่อมถึงความตายต่ำกว่าร้อยปีโดยมาก แม้ถ้าผู้ใดอยู่ได้เลยร้อยปีไป ผู้นั้นก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

อนึ่ง ถ้าจะเทียบอายุของมนุษย์ร้อยปีเท่ากับวันหนึ่งหรือไม่ถึงวันในสวรรค์ เพียงชั้นดาวดึงส์เท่านั้น เรื่องมีเล่าไว้ใจความว่า

มีนางเทพธิดาองค์หนึ่งชื่อ ปติปูชิกา ของมาลาภารีเทวบุตร วันหนึ่งนางไปเที่ยวในสวนสวรรค์ แล้วนางก็จุติจากเทวโลกมาเกิดเป็นมนุษย์ในเมืองสาวัตถี เป็นหญิงระลึกชาติได้ มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้ทำกุศลต่างๆ แล้วปรารถนาไปเกิดในที่เดิม นางมีอายุพอสมควรก็มีสามี ต่อมามีบุตรรวม ๔ คน เมื่อนางทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็ไปบังเกิดในเทวโลกอย่างเดิม ได้ยินว่า วันหนึ่งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นร้อยปีของมนุษย์ เพราะฉะนั้น มาลาภารีเทวบุตรจึงยังไม่ได้กลับจากการเที่ยวสวนสวรรค์ เมื่อเห็นนางหายไปแล้วกลับมา จึงไต่ถามว่า “เมื่อกี้เจ้าไปไหนมา?” นางเทพธิดานั้นก็เล่าถึงเรื่องที่ตนจุติไปเกิดในเมืองมนุษย์จนโต มีสามี มีบุตร ๔ คน ตายจากมนุษย์กลับมาเกิดในเทวโลกอีกในที่นี่ มาลาภารีเทวบุตรได้ฟังแล้วก็เกิดความสังเวชว่า อายุของมนุษย์น้อยนักหนาเท่ากับนอนหลับแล้วตื่นขึ้น

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

เมื่อครั้งนอกพุทธกาล อารกศาสดา ยังสั่งสอนบริษัทว่า “อุปฺปกํ พฺราหฺมณ” ดูก่อนพราหมณ์ อายุของมนุษย์ทั้งหลายน้อย เหมือนหยาดน้ำค้างที่ปลายใบหญ้า ต้องแสงพระอาทิตย์แล้วก็พลันแห้งหายไป และเหมือนต่อมน้ำ ตั้งขึ้นแล้วก็พลันที่จะแตกไป และเหมือนรอยขีดไปด้วยไม้ในน้ำ พลันที่จะกลับเป็นปกติ และเหมือนน้ำตกจากภูเขา พลันที่จะถึงข้างล่าง และเหมือนบุรุษมีกำลังประมวลเขฬะ คือน้ำลาย แล้วถ่มออกด้วยความไม่ยาก

 

 

ฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายหมั่นบังสุกุลตัวเราด้วยคาถา

“อจิรํ วตยํ กาโย” กายนี้ไม่นานเลย

“ปฐวึ อธิเสสฺสติ” จักนอนทับถมแผ่นดิน

“อเปตวิญฺญาโณ” เมื่อปราศจากวิญญาณคือตายแล้ว

“ฉุฑฺโฑ” เขาก็เอาไปทิ้ง

“นิรตฺถวํ กลิงฺครํ” เป็นของหาสาระแก่นสารทำประโยชน์อะไรมิได้ เหมือนขอนไม้หรือท่อนกล้วย ฉะนั้น

 

 

เหมาะสำหรับคนเป็น!! ไม่ต้องรอให้ตาย ทุกๆคนทำได้  "บังสุกุลเป็น"เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทุกข์โศกนานา..ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น หมดเคราะห์หมดภัย..

บังสุกุลเป็น

 

 

เมื่อระลึกได้เสมอๆเช่นนี้ จักไม่ประมาทปล่อยขัยวันคืนเดือนปีให้ล่วงไปเสียเปล่า จะได้ขวนขวายรีบร้อนบำเพ็ญประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม หรือให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท ให้สมกับเกิดมาเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา

อาตมาเคยให้คำขวัญ หรือคำเตือนใจแก่คู่สนทนา หรืออุปสินนกถาอยู่เสมอๆว่า “คนเราเกิดมาทำไม หรือเรามาจากไหน จึงเกิดมาในที่นี้ เมื่อยังมีชีวิตเป็นอยู่ เรามีอะไรเป็นจุดหมายปลายทางที่เราต้องการปรารถนายิ่งนักในชีวิตของเรานี้ หรือเราตายแล้วจะไปไหนกัน” ผู้ใดตอบได้ก็เอาตัวรอดมีที่พึ่งพักพิง ทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ถ้าตอบไม่ได้ก็ชื่อว่าเกิดมาเปล่า มีชีวิตเป็นอยู่เปล่า ตายไปก็ไปเปล่า เป็นคนอนาถาหาที่พึ่งมิได้

 

 

ดังนั้น เราทั้งหลายควรใช้คาถานี้บังสุกุลตนเองเนืองๆ เพื่อเตือนใจให้รีบร้อนทำความดีอันเป็นบุญกุศล ที่เกิดจากทานบ้าง ศีลบ้าง ภาวนาบ้าง ตามโอกาสและสามารถแห่งตนๆ เพราะศีลธรรมความดีที่เรียกว่าบุญกุศลนั้น ย่อมเป็นสาระแก่นสาร เป็นที่พึ่งของตนอย่างแท้จริง ทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า

“ปุญฺญานิ ปรโลกสฺมึปติฏฺฐาโหนฺติ ปาณินํ” บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกหน้า ด้วยประการฉะนี้

(จากการบรรยายธรรมเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๐)

 

 

ขอขอบพระคุณท่านเจ้าของภาพ เจ้าของบทความ และที่มาเนื้อหาข้อมูลมา ณ ที่นี้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 195 มีนาคม 2560 โดย สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินตกาโร) วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กทม.)

http://dhammapiwat.com/

เพื่อเผยแผ่เป็นธรรมทาน