เป็นคนไทยต้องเรียนรู้ รำลึกวันภาษาไทยแห่งชาติ ย้อนดูศัพท์วัยรุ่นสมัยยุค 90-ปัจจุบัน ผิดเพี้ยน ทันโลก แยกให้ออก?!?

เป็นคนไทยต้องเรียนรู้ รำลึกวันภาษาไทยแห่งชาติ ย้อนดูศัพท์วัยรุ่นสมัยยุค 90-ปัจจุบัน ผิดเพี้ยน ทันโลก แยกให้ออก?!?

29 กรกฎาคม ของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งได้กำหนดให้เป็นวันสำคัญ ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ร.9 เสด็จราชดำเนินไปทรงอภิปรายเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า...
"เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้… สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก"


 

โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ด้านภาษของไทยปรากฏบนศิลาจารึก หลักที่ 1 ด้านที่ 1 เขียนไว้ว่า... "พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบาลเมือง กูพี่น้องท้องเดียวห้าคน ผู้ชายสาม ผู้หญิงสอง พี่เผือผู้อ้ายตายจากเผือเตียมแต่ยังเล็กเมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดมาท่เมืองตาก พ่อกูไปรบขุนสามชน หัวซ้ายขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเคลื่อนเข้าไพร่ฟ้าหน้าใสพ่อกูหนีญญ่ายพ่ายจะแจ กูบ่หนี กูขี่ช้างเนกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูต่อตั้งด้วยขุนสามชน ตนกูพุ่งช้างขุนสามชนตัวชื่อมาสเมืองแพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึงขึ้นชื่อกู พระรามคำแหง เพื่อกูพุ่งช้างขุนสามชน"


พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สลักบนแท่งหินชนวน ศิลาจารึกดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งที่ปรากฏบนศิลาจารึกด้านที่ 4 ของศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า "เมื่อก่อนลายสือไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ สกปีมแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในใจแล่ใศ่ลายสือไทนี้ลายสือไทนี้จึ่งมีเพื่อขุนผู้นั้นใศ่ไว้" นับได้ว่าเป็นศิลาจารึกหลักแรกที่ใช้ตัวอักษรไทย และภาษาไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการทางภาษาเรื่อยมาจนเป็นภาษาไทยในยุคปัจจุบัน

 

หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีลักษณะเป็นแท่งหินรูปสี่เหลี่ยม ยอดกลมมน สูง 1 เมตร 11 เซนติเมตร กว้าง 35 เซนติเมตร หนา 35 เซนติเมตร เป็นหินชนวนสีเขียว มีจารึกทั้งสี่ด้าน ด้านที่ 1 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 2 มี 35 บรรทัด ด้านที่ 3 มี 27 บรรทัด และด้านที่ 4 มี 27 บรรทัด ปัจจุบันแท่งศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงดังกล่าว เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร


ภาษาไทยถูกใช้เป็นภาษาหลักในการสื่อสารของคนไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งการสื่อสารในยุคปัจจุบันมีหลากหลายวิธีมาก ทั้งการสื่อสารผ่านการพูดคุย ใช้เสียง สำเนียง การสื่อสารผ่านตัวหนังสือทางช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ โดยในวันภาษาไทยแห่งชาติ ปี 2561 กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนต่อ "วันภาษาไทยแห่งชาติ" จากกลุ่มตัวอย่าง 2,607 คนทั่วประเทศ โดยผลสำรวจพบว่า

 

ร้อยละ 70.16 เด็ก เยาวชนและประชาชน ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคมของ ทุกปี
ร้อยละ 78.14 ทราบว่า วธ.จัดกิจกรรมในวัน "ภาษาไทยแห่งชาติ" เป็นประจำทุกปี 

 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุด พบว่า

อันดับ 1 การพูด เพราะเป็นการสื่อสารที่ง่ายที่สุด วัยรุ่นปัจจุบันใช้ภาษาพูดแบบสั้นๆ ห้วนๆ มีศัพท์แสลงมากเกินไปและหากพูดในเรื่องสำคัญแต่ผิดเพี้ยนหรือสื่อความหมายผิด อาจส่งผลกระทบตามมาภายหลังได้

อันดับ 2 การเขียน เพราะปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้นประกอบกับลายมือวัยรุ่นในปัจจุบันเขียนอ่านยากและตัวหนังสือเล็กมาก การเขียนคำและตัวสะกดมักเขียนผิดพลาดบ่อยๆ จึงควรให้เด็กฝึกคัดลายมือ ฝึกเขียนตัวบรรจง เพราะการเขียนเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง และเป็นการบันทึกช่วยจำได้อย่างดี

อันดับ 3 การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กภาษาไทยมีการผสมคำ มีทั้งวรรณยุกต์ ตัวสะกด อักษรควบกล้ำ เวลาเด็กอ่านจะสับสนและเกิดปัญหาอย่างมาก คนไทยอ่านหนังสือน้อยและให้เวลาในการอ่านหนังสือน้อย

 

เป็นคนไทยต้องเรียนรู้ รำลึกวันภาษาไทยแห่งชาติ ย้อนดูศัพท์วัยรุ่นสมัยยุค 90-ปัจจุบัน ผิดเพี้ยน ทันโลก แยกให้ออก?!?

และอย่างที่กล่าวมาข้างต้นจากผลสำรวจที่พบว่าวัยรุ่นมีการใช้ภาษาพูดแบบสั้นๆ ซ้ำยังมีศัพท์แสลงที่มากเกินไป บัญญัติคำเพิ่มมาใหม่ตามยุคตามสมัยซึ่งคำเหล่านั้นอาจจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลาเมื่อยุคเปลี่ยนสถานการณ์เปลี่ยน คำศัพท์ต่างๆ ก็จะเปลี่ยนตามไปด้วยจนทำให้คนต้องเรียนรู้กันตลอดเวลา ในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ จึงได้หยิบยกคำศัพท์ยอดนิยมในสมัยยุค 90 (1990-1999) ที่วัยรุ่นยุคนั้นนิยมใช้กัน สับเปลี่ยนกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังนี้

 

1. เริ่ดสะแมนแตน ให้ความหมายว่า เด็ด เจ๋ง ดีมาก ปังมาก คำนี้เมื่อมีการใช้กลายเป็นคำยอดนิยมในกลุ่มวัยรุ่นยุคนั้นได้ทันที  

2. เด๊ดสะมอเร่ แปลว่า "ตาย" ที่มาของคำนี้ จริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่องกับคำแปลเพราะนำมาจากเพลง That's amore ของ Dean Martin ที่ถูกนำมาแผลงเนื้อเป็นภาษาไทย แล้วร้องคำว่า That's amore เป็น เด๊ดสะมอเร่ ซึ่งความเป็นจริง  That's amore แปลว่า รัก แต่ถึงจะผิดความหมายคำนี้ก็กลายเป็นคำฮิตติดปากวัยรุ่นยุค 80-90 เรื่อยมา

3. ประเทือง เป็นคำที่กล่าวถึงสาวประเภทสองมาจากเพลง ประเทือง ของไท ธนาวุฒิ ที่มีท่อนฮุคว่า "ว้าย ว้าย ว้าย!! นี่ไอ้ประเทืองนี่หว่า" ด้วยจังหวะดนตรีที่โดนใจเลยกลายเป็นคำนิยมในยุคนั้น 

4. จ๊าบ เพียงหนึ่งคำ แต่แทนได้หลายความหมายมาก คำว่า จ๊าบ คือ ดีงาม เท่ เก๋ แซ่บ มันคือที่สุดของคำว่าดีงาม

5. คิกขุอาโนเนะ ถึงสำเนียงจะฟังดูคล้ายภาษาญี่ปุ่น แต่คำนี้ไม่มีความหมายในภาษาญี่ปุ่นเลย แต่วัยรุ่นฮิตติดปากนิยมใช้คำนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเอาไว้ชมสาวๆ น่ารักสไตล์ญี่ปุ่น แต่ถ้าหากเป็นในยุคนี้ ก็จะมีความหมายคล้ายกับคำว่า แบ๊ว นั่นเอง

6. ป๊อด คำนี้เมื่อใช้ต้องออกเสียงสูงและสั้นๆ แบบเยาะเย้ยถากถางในทำนองว่า "ป๊อดอะ" หรือ ง่ายๆ ก็คือปอดแหก ขี้ขลาดมาก 

7. ป้าด คือคำอุทาน "ป้าด" หรือ "ปั้ดโธ่!" ที่นิยมใช้กันมากในวัยรุ่นยุค 90 คำนี้เอาไว้ใช้กับเรื่องที่คุณต้องทึ่ง รู้แล้วต้องอึ้ง ตกตะลึงที่สุด

8. ส.บ.ม.ย.ห. คำนี้อ่านว่า สอ-บอ-มอ-ยอ-หอ ย่อมาจากคำว่า สบายมากอย่าห่วง 

9. สะแด่ว คำเดียวแปลว่า สุดๆไปเลย คือดีงาม ต่อมานิยมเติมคำว่า แห้ว เข้าไปให้คำดูสนุกมากขึ้นคำนี้ฮิตมาจาก ภาพยนตร์เรื่อง สะแด่วแห้ว ที่โด่งดังมากในยุคนั้น 

10. กิ๊บเก๋ยูเรก้า คำนี้เป็นคำฮิตที่มีคำสร้อยโดยเป็นการเติมคำสร้อยให้ดูคล้องจองและฟังดูรื่นหูมากขึ้น ความหมายว่า เก๋ โดดเด่น สวยแบบชิคๆ 

 

จนมาถึงยุคปัจจุบันในปี 2561 คำนิยมบางคำในอดีตก็ยังนำมาใช้อยู่ แต่ก็มีการดัดแปลงคำอีกมากมายซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะของวัยรุ่นที่คนรุ่นก่อนๆ ฟังแล้วอาจจะงงๆ ในความหมาย โดยคำต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อทีวี ละคร ภาพยนตร์ และบุคคลเพศที่ 3 ที่มักจะคิดคำแปลกๆ แปลงความหมายออกไป ยกตัวอย่างเช่น

 

1. มองบน เป็นการกรอกตามมองบน ซึ่งหมายถึง ไม่พอใจ หรือเบื่อ

2. งานดี งานละเอียด หมายถึง ดีมาก ส่วนมากมักใช้กับการชมผู้ชาย ซึ่งหมายถึง หล่อมาก โปรไฟล์ดี รูปร่างดี 

3. ยิ้มอ่อน หมายถึง ยิ้มน้อย ยิ้มอ่อนๆ ยิ้มโดยไม่เห็นฟัน แค่ยกยิ้มเบาๆ

4. ยิ้มแรง หมายถึง ยิ้มกว้างเต็มที่จนปากติดกับใบหู ยิ้มแบบดีใจมากไม่ปกปิด

5. อิจ เป็นคำย่อของ อิจฉา

6. ลำไย คือความรู้สึกรำคาญในความความเยอะของอีกฝ่าย หรือรู้สึกรำคาญหูรำคาญตา ก็จะจิกคนเหล่านั้นด้วยคำนี้

7. เผือก ส้ม หมายถึง คนที่ชอบยุ่งเรื่องของคนอื่น

8. ละมุด หมายถึง ตีเนียน เช่น ตีสนิทไปจีบเขา 

9. อ้อย หมายถึง อ่อย มีความหมายในทางว่าให้ท่าอีกฝ่าย

10. นก หมายถึงพลาด ส่วนมากแล้วจะใช้ในกรณีในการจีบแต่แล้วพลาด อด เขาไม่สนใจ หรือไม่ก็มีเจ้าของแล้ว

11. เท หมายถึง โดนทิ้ง โดนเททิ้งให้อยู่คนเดียวหรือถูกแฟนทิ้ง

12. มะนาว : หมายถึงการมโน จินตนาการอยู่คนเดียว ทั้งที่ควมจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย

13.แมก็คือแม่ หมายถึง ตัวท็อป ถึงจะเคยดรอปลงอย่างไรก็สามารถผงาดขึ้นมาใหม่ได้ย่างสง่างาม


อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยเป็นภาษาที่สละสลวย เป็นภาษาที่มีความสนุกในการรวมคำ สามารถผสมผสานดัดแปลงเป็นความหมายอื่นๆ ได้ แต่การใช้คำต่างๆ ทั้งคำพูด ภาษาเขียนก็ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม กาละเทศะที่จะนำไปใช้ด้วย หากใช้ภาษาให้ถูกที่ ถูกเวลา จะสามารถสร้างเสน่ห์ในตัวเองได้ไม่น้อย และในทางกลับกันการเรียนรู้ภาษาไทยทั้งคำพูและภาษาเขียนให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนควรให้ความสำคัญและศึกษาเพื่อรักษาไว้ซึ่ง ภาษาไทย