ดึงสติคนไทย 11 เขื่อนใหญ่น้ำเพิ่มสูงอย่าวิตก เปรียบเทียบชัดอุทกภัยปี 54 สาเหตุท่วมใหญ่

ดึงสติคนไทย 11 เขื่อนใหญ่น้ำเพิ่มสูงอย่าวิตก เปรียบเทียบชัดอุทกภัยปี 54 สาเหตุท่วมใหญ่

จากสถานการณ์ฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักในบางแห่งของประเทศไทย ทำให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าประเทศไทยในปี 2561 จะเกิดอุทกภัยน้ำท่วมเหมือนดังปี 2554 หรือไม่ ในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ ได้รวบรวมสถานการณ์ปริมาณน้ำฝน น้ำในเขื่อนต่างๆ ของประเทศไทยในปี 2554 และ ปี 2561 มาให้ได้ชมกันเพื่อเป็นข้อเปรียบเทียบว่าความกังวลดังกล่าวจะซ้ำรอยอีกหรือไม่

 

31  กรกฏาคม  2561 นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 51,677 ล้านลบ.ม.หรือ 68 % ของความจุ เป็นน้ำใช้การได้รวม 27,757 ล้าน ลบ.ม. หรือ% 53 ยังรับน้ำได้อีก 24,331 ล้าน ลบ.ม.  ทั้งนี้สำหรับ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีน้ำรวม 14,253 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57 % เป็นน้ำใช้การ 7,557 ล้าน ลบ.ม. ยังรับน้ำได้อีก 10,618 ล้าน ลบ.ม.

 

แม้ว่าสถานการณ์ฝนตกชุกในช่วงที่ผ่านมาจะส่งผลให้เขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำสูงขึ้น 11 แห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล, น้ำอูน, น้ำพุง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, ลำพระเพลิง, ป่าสักชลสิทธิ์,วชิราลงกรณ, แก่งกระจาน และปราณบุรี แต่ได้ทำการจำลองปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนจากเครื่องมือ ROS จำนวน 3 สถานการณ์ เทียบปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างปี 2554, 2557และปีเฉลี่ย นำมาบริหารจัดการเพื่อใช้เป็นการระบายน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ สูงกว่าเกณฑ์ควบคุม เพื่อเป็นการพร่องน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีระดับน้ำเก็บกักมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จะรักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 70 - 80 และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำไหลเข้ามากกว่าความจุอ่างฯ สองเท่า ให้รักษาปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ร้อยละ 60 – 70 เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน

 

ดึงสติคนไทย 11 เขื่อนใหญ่น้ำเพิ่มสูงอย่าวิตก เปรียบเทียบชัดอุทกภัยปี 54 สาเหตุท่วมใหญ่
 

สำหรับสถานการณน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ์ จ.กาญจนบุรี หลังจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบน ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณ์ ปริมาณน้ำในเขื่อนได้เพิ่มขึ้น ล่าสุดมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 123 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำในอ่างฯอยู่ที่ 7,146 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ มีการระบายน้ำออกจากอ่างฯ วันละ 28 ล้าน ลบ.ม

 

จากการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ์ เป็นวันละ 36 ล้านลบ.ม.ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และรักษาเสถียรภาพของเขื่อนให้สามารถรองรับปริมาณน้ำจากฝนที่จะตกลงมาในพื้นที่ได้อีกในระยะต่อไป 

 

สำหรับสถานการณ์ ปี 2554 ที่เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วม วัดปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-22 ตุลาคม 2554 มีปริมาณทั้งสิ้น 1,798 มม. สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,542 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ปี 2554 น้ำไหลผ่าน 3,254 ลบ.ม.ต่อวินาที สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในปี 2554 ล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 1-31 ตุลาคม 2554 มีพื้นที่น้ำท่วมรวมทั่วประเทศ 19.2 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 5.9 ล้านไร่ และภาคกลาง 6.7 ล้านไร่ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำรวมอยู่ด้วย

 

ในปี 2554 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลทั้งโดยตรงและโดยอ้อมจากพายุที่เคลื่อนตัวมาจากทะเลจีนใต้ ทั้งหมด 5 ลูก ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก โดยพื้นที่ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยช่วงปลายเดือนมิถุนายน มีพายุโซนร้อน "ไหหม่า" พัดถล่มพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

 

ถัดมาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม น้ำในพื้นที่ภาคเหนือยังไม่ทันระบายได้หมด พายุ “นกเตน” ได้พัดถล่มซ้ำพื้นที่เดิมอีก ทำให้ปริมาณน้ำยิ่งเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนี้ได้มีพายุที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องอีกคือ พายุ “ไห่ถาง” ที่ส่งผลกระทบต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำโขง ในช่วงวันที่ 27-29 กันยายน 2554 ต่อมาคือ พายุ “เนสาด” ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยต่อเนื่องจากพายุ “ไห่ถาง” บริเวณที่ได้รับผลกระทบยังคงเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ ส่วนพายุลูกสุดท้ายคือ พายุนาลแก ที่อิทธิพลของพายุส่งผลให้ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้นและทำให้มีฝนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม 2554

 

ดึงสติคนไทย 11 เขื่อนใหญ่น้ำเพิ่มสูงอย่าวิตก เปรียบเทียบชัดอุทกภัยปี 54 สาเหตุท่วมใหญ่

โดยในช่วง เดือนกรกฎาคม 2554 มีรายงานด้านความเสียหายจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า พื้นที่ประสบภัยทั้งสิ้นมี 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงราย ตาก พิจิตร พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และจังหวัดสุโขทัย รวม 46 อำเภอ 270 ตำบล 1,918 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ได้แก่ จังหวัดตาก (อ.แม่สอด 1 ราย) และจังหวัดน่าน 2 ราย (อ.เวียงสา 1 ราย และ อ.ปัว 1 ราย)

 

โดยสรุปข้อเท็จจริงจากเหตุการณ์อุทกภัยปี 2554 ปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมที่ไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี 2554 มีมากถึง 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำจำนวนมากที่ระบายจากเขื่อนป่าสักที่ไหลมายังเขื่อนพระรามหก ไม่มีการผันน้ำเข้าสู่คลองระพีพัฒน์แยกใต้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่อำเภอพระนครศรีอยุธยา มีการปลูกสิ่งก่อสร้าง รุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำ ลำคลอง การขาดการดูแลรักษาแม่น้ำ ลำคลอง ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่คลองระบายน้ำสำคัญอย่างเช่น คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว มีการรุกล้ำลำน้ำจนคลองเหลือขนาดเพียงครึ่งเดียวจากเดิม ประชาชน และองค์กรในส่วนย่อย มีการสร้างพนังและคันกั้นน้ำของตัวเอง ทำให้การระบายน้ำในภาพรวมไม่สามารถดำเนินการได้ประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังจากที่ประชาชนมีความวิตกกังวล ว่าจะเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 เพราะปริมาณน้ำเขื่อนใหญ่แต่ละแห่งมีน้ำมากหรือไม่นั้น  นายกฤษฏา กล่าวว่าเมื่อดูจากข้อมูลเปรียบเทียบไม่น่าท่วมหนักเหมือนปี 2554 ซึ่งสถานการณ์น้ำปีนี้ไม่น่าท่วมมากผิดปกติ ส่วนเขื่อนใหญ่ต่างๆ ยังไม่เกินขีดความสามารถกักเก็บน้ำได้

 

ขอบคุณ : คลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ