"ดร.สมิทธ"เตือนแรง "เขื่อนเขาแหลม-ศรีนครินทร์" ต้องเร่งระบายน้ำเต็ม อยู่ใกล้รอยเลื่อนสะแกง #ระวังแผ่นดินไหว

"ดร.สมิทธ"เตือนแรง "เขื่อนเขาแหลม-ศรีนครินทร์" ต้องเร่งระบายน้ำเต็ม อยู่ใกล้รอยเลื่อนสะแกง #ระวังแผ่นดินไหว

นายสมิทธ ธรรมสโรช อดีตประธานศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขอเตือนกรมชลประทาน ให้เร่งระบายน้ำจากเขื่อนมีน้ำเกินระดับกักเก็บ 80% อย่าคิดห่วงแต่ว่าจะแล้งไม่มีน้ำในชาวนาทำนา เพราะปีนี้ฝนมากทั่วโลก มีมากผิดปกติ ขนาดประเทศลาว ไม่คิดว่าจะมีฝนตกมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนจนทำให้เขื่อนแตกมาแล้ว ซึ่งประเทศไทยอยู่ใกล้เคียงได้รับอิทธิพลสภาพอากาศผันแปรได้รวดเร็วเช่นกัน และกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกคำประกาศเตือนเรื่องฝนมากมาตลอด กรมชลฯได้ปฏิบัติตามหรือไม่ รวมทั้งสถานการณ์แม่น้ำโขงสูงขึ้นด้วยเพราะมีฝนตกมากในลุ่มน้ำโขง ทำให้ฝนตกในภาคอีสาน ระบายน้ำได้ลำบากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ ห่วงเขื่อนวชิราลงกรณ (เขาแหลม) เขื่อนศรีนครินทร์ มากที่สุดปีนี้น้ำมาก และตั้งอยู่ใกล้รอยเลื่อนสะแกงด้วย รวมทั้งกำลังมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังมาจากมหาสมุทรอินเดีย ผ่านเทือกขาตะนาวศรี เข้ามาเพิ่มน้ำภาคตะวันออก ภาคกลาง ทำให้ฝนมากทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน ตอนกลาง กรุงเทพ ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในภาคกลาง กับฝนตกต่อเนื่องมามาก ๆ พร้อม ๆ กัน เราไม่สามารถระบายสู่ทะเลได้ ส่ผล กทม.อยู่ในภาวะล้นตลิ่ง อาจเท่ากับปี54 ดังนั้นอย่าได้ประมาท อย่าคิดว่าน้ำไม่พอใช้

 

นายสมิท กล่าวอีกว่า ปีนี้เปลี่ยนแปลงทุกทวีป ฝนตกหนัก น้ำท่วม ไม่เคยมากขนาดนี้ ทั้งประเทศฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย เจอฝนมากผิดปกติ ถ้ามรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พายุในทะเลจีนใต้ ถ้าเข้ามาพร้อม กันประเทศไทยจะเดือดร้อนมาก ขอให้ติดตามการพยากรณ์กรมอุตุฯอย่างใกล้ยิด อีกทั้งเป็นห่วงคลื่นลมทะเลอย่าได้ประมาท ผมเคยทำหนังสือผู้ว่าหาดใหญ่ ภูเก็ต ว่าถ้าชายฝั่ง มีคลื่นสูง 2 เมตร ห่างชายฝั่ง 5 กม.ต้องระวังมากมีคลื่นสูง 5-10 เมตร อาจโศกนาถกรรมเหมือนทัวร์จีน ส่วนเขื่อนวชิรากรณ เขื่อนศรีนครินทร น่ากลัวผมไม่อยากเตือนเรื่องไม่ดี 

 

แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต้องเตรียมให้พร้อม หากมีแผ่นดินไหวในพม่าตอนใต้ จะกระทบผนังเขื่อน ต้องระวังให้มาก น้ำในเขื่อนเวลากระฉอกช่วงเกิดแผ่นดินไหว เหมือนขยับอ่างน้ำขึ้นลง มีคลื่นมากระทบขอบอ่าง ตัวคลื่นกระทบสันเขื่อน ทำให้เขื่อนแตกร้าวได้ จากที่ผนังเขื่อนเคยได้รับผลกระทบมาแล้วในอดีตมีแผ่นดินไหวที่กรุงย่างกุ้ง ซึ่งนักธรณีวิทยา เคยพยากรณ์ว่า หากมีแผ่นดินไหวตอนใต้พม่าอีก จะกระทบสองเขื่อน ทำให้ท่วมมาถึงกรุงเทพ

 

ด้านดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ได้ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ จำนวน 35 แห่ง (เป็นของกรมชลประทาน 25 แห่ง และของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 10 แห่ง) มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 48,908 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 69 ของความจุอ่างฯรวมกัน ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางอีก 412 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมกันประมาณ 3,183 ลูกบาศก์เมตร รวมปริมาตรน้ำทั้งหมดทั้งอ่างฯขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมกันประมาณ 52,019 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 ของความจุอ่างฯรวมกัน ยังสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 23,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการควบคุมการเก็บกัก การระบายภายใต้ โค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำ หรือ เกณฑ์เก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve) ซึ่งในการควบคุมปริมาตรน้ำจะใช้เส้นบนของโค้งปฏิบัติการของอ่างเก็บน้ำเป็นตัวควบคุม ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบางแห่งมีปริมาตรน้ำเกินกว่าเส้นควบคุม กรมชลประทานจะเร่งระบายน้ำให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ควบคุม โดยการระบายน้ำผ่านระบบชลประทาน ผ่านอาคารระบายน้ำ ลงสู่ลำน้ำเดิม (River outlet) และใช้วิธีการกาลักน้ำเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณการระบายน้ำ สำหรับผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการระบายน้ำดังกล่าว กรมชลประทานจะพิจารณาแจ้งข้อมูลไปทางหน่วยงานของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบสถานการณ์และเตรียมการขนย้ายสิ่งของตลอดจนมาตรการให้การช่วยเหลือเยียวยาในลำดับต่อไป

 

ก่อนหน้านั้น นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความเห็นต่อปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิเช่น   เขื่อนวชิราลงกรณ(เขื่อนเขาแหลม)  และเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนน้ำอูน ว่า  ควรมีการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนให้ทันรองรับน้ำฝน5-6 ส.ค.นี้  เช่นเดียวกับพื้นที่อีสานที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำแม่น้ำโขงสูงขึ้น  เพราะจากฝนตกชุกในประเทศลาว  ก็จำเป็นต้องมีการเร่งบริหารน้ำให้ทันกับสภาพอากาศที่แปรปรวนรวดเร็วอย่างรวดเร็วเช่นกัน   โดยเฉพาะกรณีเขื่อนวชิราลงกรณต้องเร่งได้ระบายให้มากที่สุด  เพราะเมื่อถึงเวลาถ้าเกิดสภาพน้ำล้นสปรินเวย์  ระดับน้ำที่มากอาจท่วมถึงตัวเมืองกาญจนบุรีได้เลย