สถ. เร่งกำชับ อปท. เตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย

สถ. เร่งกำชับ อปท. เตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย

          เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2561 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้กำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยต่างๆ เช่น น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยให้ อปท. เตรียมความพร้อมทั้งก่อนเกิดภัย การดำเนินการขณะเกิดภัย และการดำเนินการหลังเกิดภัยไปแล้วนั้น ขอเรียนเพิ่มเติมว่า เนื่องจากช่วงนี้ (เดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม 2561) เป็นฤดูฝน มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ และช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณภัยได้อย่างทันท่วงที กรมฯ จึงแจ้งกำชับให้ อปท. ดำเนินการเพิ่มเติม โดยการสำรวจข้อมูลเครื่องจักรกล อุปกรณ์ และยานพาหนะ พร้อมแจ้งบุคลากรที่รับผิดชอบจัดเตรียมและจัดหาทรัพยากรที่จำเป็น เช่น เครื่องสูบน้ำ ถุงกระสอบทราย เพื่อกั้นริมตลิ่งหรือจุดเสี่ยง ขจัดสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ เช่น ขุดลอกท่อระบายน้ำ กำจัดวัชพืชและผักตบชวาในแม่น้ำลำคลอง เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ที่จะเกิดสาธารณภัย วางแนวทางการปฏิบัติการให้พร้อมเผชิญสาธารณภัย รวมถึงให้มีการฝึกซ้อมตามแผนที่กำหนด และอาจจัดตั้งศูนย์เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม และรับแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งยังให้มีการจัดพื้นที่สำรอง จุดปลอดภัย หรือศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อเตรียมรองรับผู้อพยพกรณีเกิดปัญหาสาธารณภัยตามแผนเผชิญเหตุ หากพื้นที่ใดมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุสาธารณภัย เช่น ดินโคลนถล่ม ตลิ่งทรุดพังจากกระแสน้ำไหลหลาก ก็ให้ อปท. ดำเนินการอพยพประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อชีวิต

          อธิบดีกล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดปัญหาสาธารณภัยในพื้นที่ ให้ อปท. เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่เข้าไปถึงพื้นที่ และให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค อาหาร น้ำสะอาด จนกว่าเหตุการณ์ประสบภัยจะเข้าสู่ภาวะปกติ หากเกินศักยภาพให้ร้องขอไปยัง อปท. ใกล้เคียง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานสถานการณ์ให้หน่วยงานที่กำกับดูแลทราบโดยด่วน และหากกรณีสาธารณภัยรุนแรงเกินกว่าระดับท้องถิ่นจะควบคุมได้ให้รายงานต่อนายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเร่งด่วนตามลำดับ เมื่อสาธารณภัยสิ้นสุดลง ก็ให้ อปท. สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัย ทรัพย์สินที่เสียหาย พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัย และเร่งดำเนินการช่วยเหลือ โดยประสานขอรับการสนับสนุนจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) หรือประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคเอกชนในการสงเคราะห์ผู้ประสบภัยให้เป็นไปอย่างมีระบบ รวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม รวมถึงการทำความสะอาด เก็บสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยที่มาจากน้ำ ประสานสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการให้บริการประชาชนเพื่อดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ และให้ช่วยฟื้นฟู ส่งเสริมอาชีพให้แก่ผู้ประสบสาธารณภัย ให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ เสริมสร้างขวัญและกำลังใจของประชาชนให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วด้วย