ถอดรหัส แนวทางความปลอดภัยเรียนรู้ก่อนใช้บริการรถไฟฟ้า

ถอดรหัส แนวทางความปลอดภัยเรียนรู้ก่อนใช้บริการรถไฟฟ้า

ท่ามกลางสภาวะการจราจรติดขัดในกรุงเทพมหานคร ที่สะสมมาเป็นระยะเวลายาวนาน และภาครัฐยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ในชั่วโมงเร่งด่วน การเดินทางโดยขนส่งมวลชน จึงเป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ สำหรับประชาชนที่เร่งรีบ พร้อมกับเพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย 

 

ในห้วงเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนระอุเกี่ยวกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า “บีทีเอส” สืบเนื่องจากเหตุขัดข้องติดต่อกันระยะเวลายาวนาน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการเดินทางของผู้โดยสารเป็นวงกว้าง ทั้งการเดินรถที่ไม่ตรงต่อเวลาล่าช้า ผู้โดยสารติดอยู่ตามสถานีต่างๆ อย่างคับคั่ง โดยทั้งนี้ ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชน จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า “บีทีเอส” ได้ชี้แจงถึงสาเหตุของปัญหาว่า เกิดจาก ระบบอาณัติสัญญาณขัดข้องหรือการที่มีสัญญาณวิทยุที่มีความเข้มข้นสูงรบกวน  และพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่

 

ถอดรหัส แนวทางความปลอดภัยเรียนรู้ก่อนใช้บริการรถไฟฟ้า

 

 

ล่าสุด 15 ส.ค. เวลา 8.15 น. ได้เกิดเหตุระทึกขวัญ ผู้โดยสารตกจากรางรถไฟฟ้า “บีทีเอส” สถานีราชเทวี จึงเป็นเหตุให้รถไฟฟ้าต้องทำการหยุดเดินรถทั้งสองฝั่ง ที่มุ่งหน้าสถานีปลายทางสำโรง และหมอชิต สาเหตุมาจากผู้โดยสารเกิดเป็นลมกะทันหัน อย่างไรก็ดีในเวลา 8.25 น. ทางทวิตเตอร์ของ “บีทีเอส” ได้แจ้งว่าสถานการณ์ได้กลับสู่สภาวะปกติ หากแต่ยังมีขบวนรถเว้นระยะห่างเป็นบางช่วง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่มีใครได้รับอันตราย

 

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว แต่บางเหตุการณ์กลับมาจากความสะเพร่าของพนักงานรถไฟฟ้า เช่นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2560 กรณีประตูรถไฟฟ้าเปิดเองก่อนที่จะถึงสถานีและเข้าเทียบชานชาลา อันเกิดจากความสับสนของพนักงานขับรถภายหลังการสอบสวน ได้มีการยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนี้อีก แต่หลังจากนั้นไม่นาน 3 ส.ค. ที่ผ่านมาก็ได้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยขึ้นอีก แต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

 

บางประเทศในแถบเอเชียก็เคยประสบปัญหาที่ไม่ต่างกัน เช่น ประเทศญี่ปุ่นเคยมีเหตุการณ์การฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดรางรถไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง อาจเนื่องด้วยไม่มีการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมสอดส่องดูแลไม่ทั่วถึง ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เคารพในกฏระเบียบ ด้วยการมีเส้นทางเดินรถหลากหลายที่มีถึง 290 สถานี 13 เส้นทาง และมีความซับซ้อน อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ในบางประเทศที่มีขนาดใหญ่อย่างประเทศเยอรมัน รถไฟฟ้าในกรุงเบอร์ลินกลับได้ขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัยของรถไฟฟ้า

 

ถอดรหัส แนวทางความปลอดภัยเรียนรู้ก่อนใช้บริการรถไฟฟ้า ภาพจากเหตุการณ์ 2 นักเรียนหญิงญี่ปุ่นวัย 13 ปี คล้องแขนกระโดดให้รถไฟชน เมื่อปี 2558

อย่างไรก็ตามควรยึดข้อควรปฏิบัติในการใช้บริการรถไฟฟ้าดังนี้

- อ่าน หรือฟังประกาศ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

- เมื่อรู้สึกไม่สบายหรือต้องการความช่วยเหลือ กรุณาติดต่อพนักงาน

- เมื่อทำทรัพย์สินสูญหาย หรือพบ หรือเก็บได้ โปรดแจ้งพนักงาน

- เมื่อพบเห็นการกระทำของบุคคลที่ไม่น่าไว้วางใจหรือวัตถุต้องสงสัย โปรดแจ้งพนักงานทันที

- ยืนเข้าแถวรอขบวนรถ และวางสัมภาระหลังเส้นเหลือง

- ควรดูแลเด็กเล็กขณะยืนรอ และเข้า - ออกขบวนรถ

- โปรดหลีกทางให้ผู้โดยสารในขบวนรถออกก่อน

- ระวังช่องว่างระหว่างพื้นชานชาลากับขบวนรถ

- เมื่อได้ยินเสียงสัญญาณปิดประตู ควรหยุดเพื่อรอรถไฟฟ้าขบวนถัดไป

- เมื่อสิ่งของตกลงราง โปรดแจ้งพนักงานทันที

- ควรจับห่วง เสา หรือราวขณะเดินทาง

- เอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

- ให้ที่นั่งสำรองแก่ภิกษุ สามเณร

- ดูแลสัมภาระและสิ่งของมีค่าขณะเดินทางในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส

- เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน กรุณาแจ้งพนักงานควบคุมรถไฟฟ้าทันที

- ใช้อุปกรณ์ฉุกเฉิน เมื่อมีเหตุจำเป็น

 

นอกจากนี้หลักการที่เราควรทราบเพื่อลดอุบัติเหตุจากการใช้รถไฟฟ้าเบื้องต้น ควรเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้ผู้โดยสารเคารพในกฏระเบียบอย่างเคร่งครัด เช่น ต้องยืนหลังเส้นเหลืองเท่านั้น เพราะระยะห่างจากเส้นเหลือกับรางรถไฟ ถือว่าเป็นระยะห่างที่ปลอดภัย จะช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้การดูแลของสถานีรถไฟฟ้าอย่างหน่วยรักษาความปลอดภัยก็ควรสอดส่องดูแลเพื่อให้มีความรัดกุมมากยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาการขัดข้องของอาณัติสัญญาณ เบื้องต้นได้มีการปิดคลื่นความถี่ที่มากกว่า 2300 เมกาเฮิร์ต พบว่าไม่มีปัญหาทำให้รถไฟฟ้าขัดข้อง

 

อย่างไรก็ตามผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องดูกันในระยะยาว แต่ถือได้ว่ารถไฟฟ้า “บีทีเอส” ก็ยังคงเป็นระบบขนส่งมวลชนตัวเลือกอันดับแรกๆ ที่ผู้โดยสารเลือกใช้ เพราะเป็นการเดินทางครอบคลุมเส้นทางในกรุงเทพมหานคร มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองได้อย่างดี

 

ถอดรหัส แนวทางความปลอดภัยเรียนรู้ก่อนใช้บริการรถไฟฟ้า