เจาะลึก สังคมก้มหน้าโทษมหันต์ ติดโซเชียลอันตราย เสี่ยงเกิดโรค

     ท่ามกลางกระแสสังคมโลกในยุค “โลกาภิวัตน์” หรือ “Globalization” อันหมายถึง การแพร่กระจาย (ของข่าวสาร) การเข้าถึงข่าวสารเป็นไปได้อย่างง่ายดายและกว้างขวาง

 

     ท่ามกลางกระแสสังคมโลกในยุค “โลกาภิวัตน์” หรือ “Globalization” อันหมายถึง การแพร่กระจาย (ของข่าวสาร) การเข้าถึงข่าวสารเป็นไปได้อย่างง่ายดายและกว้างขวาง ทั้งการติดต่อสื่อสารที่ไม่มีการปิดกั้นอีกต่อไป จึงสามารถเรียกได้ว่ายุคนี้ เป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง อินทราเน็ตจึงเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในรูปแบบของโซเชียลมีเดีย ที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง อาทิ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดีนอกจากความสะดวกสบายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร อีกด้านหนึ่งกลับเปรียบเสมือนดาบสองคม ด้วยเหตุที่ว่าผู้คนที่ใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป มีแนวโน้มที่จะเสพติดซึ่งจะส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวันอย่างร้ายแรง

เทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดไม่ได้ส่งผลดีเสมอไป เมื่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนปัจจุบันที่มีลักษณะหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์มากจนเกินไป ดังคำกล่าวในทำนองเสียดสีที่ว่า ยุคนี้เป็นยุคแห่ง “สังคมก้มหน้า” เพราะปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่ควรจะเกิดขึ้นในโลกความเป็นจริงกลับลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หากแต่กลับให้ความสำคัญกับสังคมในโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียแทน

 

เจาะลึก สังคมก้มหน้าโทษมหันต์ ติดโซเชียลอันตราย เสี่ยงเกิดโรค

       ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในร้านอาหารที่ผู้ใช้บริการเลือกที่จะก้มหน้ากดโทรศัพท์ดูความคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย มากกว่าที่จะสนทนากับเพื่อนร่วมโต๊ะ แม้กระทั่งการเดินข้ามถนนยังก้มหน้าดูโทรศัพท์ซึ่งกรณีแบบนี้ทำให้เกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียบางคน ยังมีแนวโน้มที่จะเกิดพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีต่างๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในโลกออนไลน์ เช่น การลงรูปเข้าข่ายอนาจาร หรือการ ไลฟ์ในเฟซบุ๊กติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคจากการติดโซเชียลมีเดีย มีทั้งหมด 5 โรคด้วยกันอันได้แก่

- โรคเศร้าจากเฟซบุ๊ก โลกเฟซบุ๊กนั้นเปรียบได้กับโลกเสมือนจริงที่หลากหลายผู้ใช้ สร้างตัวตนอันสมบูรณ์แบบขึ้นมา ซึ่งอาจตรงข้ามกับความเป็นจริง เพียงเพื่อที่จะให้ตนได้รับการยอมรับ นอกจากนี้การติดต่อสื่อสาร หรือระบายความรู้สึกในโลกออนไลน์ ทั้งทางด้านบวกและลบ ส่งผลให้ความสำคัญกับโลกความจริงลดน้อยลง และอาจส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้อีกด้วย

-โรคละเมอแชท การใช้โทรศัพท์อยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้สมองมีการตื่นตัวแม้ขณะนอนหลับ อาจทำให้สะดุ้งตื่น หรือละเมอกลางดึกพิมพ์ข้อความหาผู้ติดต่ออื่นๆ หรือโพสข้อความโดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับ หรือฝันร้าย อันเป็นสาเหตุของปัญหาทางด้านสุขภาพเช่น โรคอ้วน บริโภคอาหารเกินความจำเป็น จากความผิดปกติของฮอร์โมน “เกรลิน” และ “เล็ฟติน” ที่ควบคุมความรู้สึกอยากอาหาร 

-โรควุ้นในตาเสื่อม เกิดจากการที่ใช้สายตาเพ่งจอมากเกินไปจากผลสำรวจในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยโรคนี้แล้วกว่า 14 ล้านคน โดยเกิดจากการใช้สายตามากเกินไป สมัยก่อนพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบัน มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคนี้ในหลากหลายช่วงอายุมากขึ้น

 

เจาะลึก สังคมก้มหน้าโทษมหันต์ ติดโซเชียลอันตราย เสี่ยงเกิดโรค

 

-โรคโมโนโฟเบีย หรือโรคกลัวการไม่มีโทรศัพท์ มักมีอาการเครียดหรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงในกรณีที่โทรศัพท์แบตหมด หรืออยู่ในจุดอับสัญญาณ ผู้ที่มีอาการหยิบโทรศัพท์มาเช็คตลอดเวลา หรือไม่เคยปิดโทรศัพท์แม้ในยามจำเป็น มักมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้ มักพบว่าผู้ป่วยเป็น ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย

-โรคสมาร์ทโฟนเฟช เป็นโรคทางกายภาพที่เกิดจากการก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟนมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการยืดของเส้นใย “อิลาสติก” บนใบหน้าทำให้หน้าผิดรูป มีลักษณะแก้มบริเวณกรามย้อยลงมาผิดรูป

ด้วยสาเหตุและความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเหล่านี้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนควรมีการแบ่งเวลาในการเล่น หรือหยิบมาใช้ในเวลาจำเป็นเท่านั้น และควรมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมในโลกความเป็นจริงให้มากขึ้น หรือหางานอดิเรกที่เกิดประโยชน์ต่อตนเองเช่นการออกกำลังกาย เพราะท้ายที่สุดแล้วโซเชียลมีเดีย มีทั้งคุณอนันต์ แต่อีกด้านหนึ่งกลับแฝงไปด้วยโทษมหันต์ หากใช้อย่างขาดสติ ความพอดีจึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการใช้เทคโนโลยีในยุคนี้

 

ขอบคุณ : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์