เปิดปูมเส้นทางการเมือง "เฉลิม อยู่บำรุง" ย้อนวันวานก่อนคิดดัน "วัน อยู่บำรุง" เป็นรัฐมนตรี

ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังครุกรุ่น และยังไม่มีใครรู้ว่า ภายใต้รัฐบาลทหาร "คสช." ที่กุมบังเหียนอยู่ ณ ช่วงเวลานี้

   จะสามารถนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนผ่านเก้าอี้ทางการเมือง คือการเลือกตั้งภายในปี 2562 ตามที่ลั่นวาจาไว้หรือไม่ เพราะยังไม่มีทีท่าว่าจะทำการ "ปลดล็อคพรรคการเมือง" ในเร็ววันนี้ ถึงแม้ว่า นายวิษณุ เครืองาม จะยืนยันว่าจะมีการ "ปลดล็อคพรรคการเมือง" ภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ก็ตาม ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้เหล่าพรรคการเมืองต่างๆ อาศัยช่องว่างในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งการหาเสียง หรือเสนอนโยบาย โดยมีความหวังว่าจะมาแทนที่ รัฐบาล "คสช." ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม


   ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ จึงไม่น่าแปลกใจนักที่สังคมจะเริ่มความตื่นตัวและให้ความสนใจในเรื่องการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ นามสกุล "อยู่บำรุง" เชื่อว่าเวลานี้คงไม่มีใคร ไม่รู้จัก เพราะเป็นอีกหนึ่งตระกูลที่มีบทบาทสำคัญในสนามการเมืองไทยมาหลายเก้าอี้รัฐบาล โดยเริ่มตั้งแต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 

 

   ย้อนกลับไปในปี 2524 ในเหตุการณ์  "กบฏเมษาฮาวาย" หรือ "กบฏยังเติร์ก" อันเป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในกองทัพ ระหว่างกลุ่มนายทหาร จปร.7 ที่พยายามจะก่อการรัฐประหาร พล.อ.เปรมติณสูลานนท์ แต่ไม่สำเร็จ และด้วยเหตุที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเพราะเป็นผู้ที่ นำตำรวจกองปราบฯ สามร้อยยอดบุกยึดกรมประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้เขาถูกตั้งข้อหาเป็นกบฏ แล้วต้องจำคุกในที่สุด

 

เปิดปูมเส้นทางการเมือง "เฉลิม อยู่บำรุง" ย้อนวันวานก่อนคิดดัน "วัน อยู่บำรุง" เป็นรัฐมนตรี

   ภายหลังรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ได้ออก พระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรม พร้อมคืนยศทางการทหาร และตำรวจ ให้แก่ผู้ก่อกบฏในครั้งนั้น แต่อาจด้วยเพราะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง บอบช้ำจากชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพราะตราบาปในสถานะผู้เคยก่อกบฏ จึงไม่คิดหวนคืนราชการตำรวจอีก และเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว 

 

   ในปี 2526 ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้เริ่มต้นชีวิตการเมืองครั้งแรกในตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาในยุคของรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) แต่แล้วในวันที่ 23 ก.พ. 2534 ได้เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจจากพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน โดยคณะ “รสช.” กลุ่มนายทหาร จปร.5 ภายหลังการรัฐประหารส่งผลให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ถูกยึดทรัพย์กว่า 32 ล้านบาท เนื่องจากเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และต้องขอลี้ภัยการเมืองไปพำนักอยู่ที่ประเทศสวีเดน

 

   ต่อมาในปี 2540 เมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย และด้วยประสบการณ์อันโชกโชนในสนามการเมืองส่งผลให้เขาได้กลับมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

 

   บทบาททางการเมืองและชื่อของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รวมถึงบุตรชาย นายวัน อยู่บำรุง เริ่มเป็นที่กล่าวถึงและเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง คณะรัฐมนตรีไทยคณะที่ 60 หรือสมัยของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายหลังเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรี พร้อมกับบุตรชายที่ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมอีกด้วย

 

เปิดปูมเส้นทางการเมือง "เฉลิม อยู่บำรุง" ย้อนวันวานก่อนคิดดัน "วัน อยู่บำรุง" เป็นรัฐมนตรี

   ในช่วงเหตุการณ์ความโกลาหลทางการเมือง หรือเหตุการณ์การชุมนุมของมวลมหาประชาชน "กปปส" นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีเป้าหมายในการขับไล่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบแห่งชาติ (ศรส.) จึงพยายามรุกไล่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหากบฏ ตามหมายจับที่อนุญาต โดยศาลอาญา แต่ก็ไม่เป็นที่น่าพรั่นพรึงแก่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณเท่าใดนัก เพราะด้วยที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนที่คอยโอบอุ้มอยู่ และในที่สุดเก้าอี้ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็นอันต้องล้มลง จากเหตุการณ์ รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 โดยพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หรือ "คสช." อันเป็นปิดม่านเส้นทางการเมือง (ชั่วคราว) ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และบุตรชายนายวัน อยู่บำรุง

 

   จากประวัติและชีวิตในเส้นทางสายการเมืองของตระกูล “อยู่บำรุง” สะท้อนให้เห็นถึงนัยยะด้านความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย หรือ ตระกูล “ชินวัตร” ได้เป็นอย่างดี ทั้งจากกรณีการแชร์คลิปวันเกิดของ นายวัน  อยู่บำรุง เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมาด้วยประโยคที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุงกล่าวในทำนองที่ว่า เมื่อตนวางมือจากการเมือง นายวัน อยู่บำรุง จะได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี และมีความมั่นใจว่าหากมีการปลดล็อคพรรคการเมือง และเลือกตั้งเมื่อไร พรรคเพื่อไทย จะชนะอย่างแน่นอน จากประโยคดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณสำคัญ คล้ายว่าจะเป็นการวางมือและส่งต่อไม้ผลัดให้ บุตรชายคือนายวัน อยู่บำรุง สานต่อปณิธานของตนต่อไป

   เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มีการกล่าวถึงและเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก ท่ามกลางกระแสการเมืองที่กำลังร้อนระอุ ว่าท้ายที่สุดแล้ว ตระกูล “อยู่บำรุง” จะสามารถกลับข้ามามีบทบาทในเส้นทางการเมือง พร้อมกับลบรอยแผลอันเป็นตำหนิและรอยด่างพร้อยอันเป็นผลจากการรัฐประหาร เริ่มสานต่อบทบาททางการเมืองของ ”พรรคเพื่อไทย” ให้กลับมามีอำนาจได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด

เปิดปูมเส้นทางการเมือง "เฉลิม อยู่บำรุง" ย้อนวันวานก่อนคิดดัน "วัน อยู่บำรุง" เป็นรัฐมนตรี