จากเหตุการณ์ภัยธรรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

    จากเหตุการณ์ภัยธรรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ช่วงเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับพายุโซนร้อน "เบบินคา" ส่งผลให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินอย่างประเมินค่ามิได้ และยังไม่มีวี่แววว่า มหันตภัยจากธรรมชาติเหล่านี้จะสิ้นสุดลงโดยง่าย วันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้สละเวลาให้การสัมภาษณ์ภายใต้หัวข้อ "ภัยธรรมชาติรอบโลก" โดยได้ให้ข้อมูลไว้น่าสนใจดังนี้

 

 

Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1)

 

ทีนิวส์ : สถานการณ์ภัยธรรมชาติของโลกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ?

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : ภัยธรรมชาตินั้นสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ประเภทแรก คือ ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีเหตุปัจจัยมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ สภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้เกิด น้ำท่วม แผ่นดินถล่มหรือ
คลื่นความร้อนเหล่านี้เป็นต้น ส่วนอีกประเภท มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพของเปลือกโลก เช่น แผ่นดินไหว หรือคลื่นยักษ์สึนามิ โดย ภัยพิบัติทั้ง 2 ประเภทนั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง 
 
แต่จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะประเภทแรก ที่สามารถสังเกตได้ว่าสภาพภูมิอากาศบนโลกนั้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นมาโดยตลอด นับตั้งแต่การ "ปฏิวัติอุตสาหกรรม" และมีการคาดการณ์ไว้ว่าภายในห้วงระยะเวลา 100 ปี ต่อไปในอนาคตหากนานาประเทศยังไม่สามารถนำแผนการจากมาตรการทั้งหลายที่เคยวางไว้ เช่น "ความตกลงปารีส" (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายในการพยายามลดสภาวะโลกร้อนมาปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังดันทุรังมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศของตนด้วยระบบอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อโลกในระยะยาว อุณหภูมิบนโลกอาจสูงขึ้นอีกถึง 4 องศาเซลเซียส

 

ส่วนภัยพิบัติจากเปลี่ยนแปลงสภาพของเปลือกโลก ในอนาคตมีแนวโน้มว่าความถี่ที่จะเกิดขึ้นยังคงที่ เพราะจากที่ผ่านมาไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่เมื่อวิเคราะห์โดยใชัตัวเลขเป็นดัชนี ชี้วัด จะพบว่าภัยพิบัติประเภทนี้มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในทวีปเอเชียมากที่สุด 
ด้วยตัวเลขที่มากถึง 40% สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะว่าทวีปเอเชียนั้นมีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดด โดยมีประเทศจีนเป็นหัวหอกและผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำมหาอำนาจของโลกอันดับ 2 และอินเดียตีควบคู่มาเป็นอันดับ 3 อีกด้วย 

 

ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จึงส่งผลให้ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติอย่างรุนแรงเช่น เหตุการณ์ล่าสุดที่อินเดียต้องเผชิญกับพายุใต้ฝุ่นกำลังแรงเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 95 คน รวมถึงประเทศใกล้เคียงประเทศไทยที่ประสบปัญหาไม่ต่างกัน อันเกิดจากความสุดขั้วทางสภาพอากาศ เช่น การเผชิญกับฝนและสภาวะแล้งเกินกว่าปกติ จนมาถึงประเทศไทยที่เผชิญกับพายุ "เบบินคา" หนึ่งในพายุโซนร้อนและมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1)

ทีนิวส์ : การเตรียมแผนรับมือภัยธรรมชาติของต่างประเทศ ต่างจากไทยอย่างไรบ้าง ?

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : ในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับการรับมือภัยธรรมชาตินั้น จะมีการวางแผนป้องกันใน "เชิงรุก" กล่าวคือ มุ่งเน้นการแก้เป็นหาที่ต้นเหตุโดยมีภารกิจมุ่งเน้นในการป้องกันรวมถึงเตรียมรับมือจากผลกระทบเป็นหลัก และมีการคาดการณ์ถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยเรียกว่า "การประเมินสภาพความเปราะบางและความล่อแหลม"  เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่อยู่ในสภาวะล่อแหลมที่จะเกิดภัยธรรมชาติประเภท แผ่นดินไหว มากที่สุด และด้วยการวางมาตราการรับมือของประเทศญี่ปุ่น จึงได้ขึ้นชื่อว่ามีระบบการเตือนภัยที่ดีที่สุดในโลก โดยก่อนที่จะเกิดภัยพิบัติทางภาครัฐจะมีการแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและเตรียมพร้อม รวมถึงการสร้างคันกั้นน้ำทะเลที่มีความสูงกว่า 10 เมตร เรียกได้ว่านานาประเทศที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ "พัฒนาแล้ว" จะเน้นการป้องกันแบบ "เชิงรุก" แทบทั้งสิ้น

 

 

Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1)

 

ส่วนประเทศไทยนั้น เน้นการป้องกันในเชิง "ตั้งรับ" หรือการแก้ไขที่ปลายเหตุ เป็นการแก้ไขปัญหาแบบ "วัวหายล้อมคอก" กล่าวคือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นประเทศไทยจึงจะเริ่มตื่นตัว ระดมกำลังจากหลายๆ ภาคส่วนโดยเน้นการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นหลัก เช่นเดียวกับกรณี นักฟุตบอล 13 ชีวิต ติดถ้ำ อันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเทศไทยไม่เคยตระหนักถึงสภาวะความเสี่ยงและความเปราะบางที่จะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ โดยไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า เช่นการแจ้งเตือน จากทางภาครัฐอย่างเป็นกิจลักษณะ นอกจากป้ายเก่าๆ หน้าถ้ำเพียงเท่านั้น ส่งผลให้รูปแบบการแก้ปัญหาของประเทศไทยทุกวันนี้ต้องใช้ทั้ง กำลังคน เงินและเวลา มาก เหล่านี้คือความต่างอย่างชัดเจนระหว่างประเทศไทย กับต่างประเทศ

 

 

Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1)

ทีนิวส์ : จากเหตุการณ์ภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือแผ่นดินไหว ภัยธรรมชาติชนิดใดที่จะส่งผลกระทบต่อไทยมากที่สุด และภัยธรรมชาตินั้น ต้องเกิดขึ้นที่ประเทศใดถึงส่งผลมายังประเทศไทยมากที่สุด ?

 

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ : ภัยพิบัติทั้ง 2 ประเภท หากเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียงย่อมส่งผลกระทบมายังประเทศไทยอย่างแน่นอน เช่น ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรณีพายุ ที่มักเกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเกิดขึ้นนอกประเทศไทย หากแต่พายุที่เกิดขึ้นนั้นได้พัดพาความชื้นมายังประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีระยะเวลาเตรียมตัวเพียงไม่เกิน 1 สัปดาห์ และไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ แต่สิ่งที่สามารถทำได้คือการคาดการณ์ว่าเส้นทางของพายุนั้น จะเข้าสู่ประเทศไทยและได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างเช่น พายุโซนร้อน "เบบินคา" 

 

 

 

เรียกได้ว่าเป็นการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้าในระยะเวลาที่เร่งรัด ส่วนแนวทางเชิงปฏิบัติในส่วนการบริหารจัดการ อาจมีการพร่องน้ำออกจากเขื่อนในพื้นที่สุ่มเสี่ยงและในปีนี้ที่เรียกได้ว่าเป็นปีที่มีน้ำในเขื่อนเต็มมากกว่า 80 เขื่อน รวมถึงเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ ทั้ง เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนน้ำอุ่น แต่ผลจากการบริหารจัดการที่ไม่ดีของภาครัฐ สะท้อนให้เห็นว่าไร้ซึ่งประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง เพราะท้ายที่สุดปริมาณน้ำในเขื่อนก็ยังมีความหนาแน่นอยู่ โดยเฉพาะเขื่อนแก่งกระจาน ที่ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เพชรบุรี เกิดความเครียดเป็นระยะเวลานานจากการที่ ต้องรับผลกระทบโดยตรง ไม่สามารถประกอบอาชีพและใช้ชีวิตได้อย่างปกติ นอกจากนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มีลมมรสุมจากต่างประเทศ บริเวณทะเลอันดามันรุนแรง เป็นตัวเร่งพายุฝนเข้าสู่ประเทศไทย เขื่อนจึงต้องรับภาระจากปริมาณน้ำฝน ด้วยระดับน้ำในเขื่อนที่สูงขึ้นถึง 90% กว่า 3 เขื่อนด้วยกัน 

 

จึงสามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้ภัยพิบัติทางธรรมชาติจะเกิดขึ้นนอกพื้นที่ประเทศไทย หรือเกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ประเทศไทยก็ยังคงได้รับผลพวงจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่ง เพราะ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ติดทะเล และด้วยภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีลักษณะเป็น โลกาภิวัฒน์ (ไร้พรมแดน) ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งประเทศไทยอาจต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวถึงแม้ว่าจะเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง แต่หากไม่ได้เป็นการสั่นสะเทือนในระดับรุนแรง ประเทศไทย อาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง นอกจากสัมผัสได้ถึงความสั่นสะเทือนในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ดีระดับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในมาตรวัดริกเตอร์ ระดับที่ ต่างกัน 1 หน่วย นั้นหมายถึงพลังงานที่มีความความรุนแรงต่างกันถึง 30 เท่า อนุมานได้ว่าหากระดับ 6 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิต 1 คน ในระดับ 7 ริกเตอร์ อาจมีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน เป็นต้น 

 

จากเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในปี 2547 ประเทศไทยอยู่ห่างจากรอยแยกที่เกิดสึนามิประมาณ 1,200 กิโลเมตร แต่จะเห็นได้ว่าด้วยความที่เป็นรอยแยกใหญ่จึงส่งผลให้เกิดสึนามิในประเทศไทย ในเวลาต่อมาอีกกรณีคือรอยเลื่อนในประเทศพม่า คือ รอยเลื่อนสะแกง (Sakaing Fault) ที่ในอดีตเคยเคลื่อนตัวจนเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้ประเทศพม่าได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง 

 

ทุกวันนี้แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับ 5-6 ริกเตอร์ จึงยังไม่ส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทว่าในอนาคตหากเกิดกรณี แผ่นดินไหวในระดับ 7-9  ริกเตอร์ ซึ่งไม่มีโอกาสเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ในความรุนแรงระดับนี้หากเกิดขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยความเสียหายย่อมมาถึงประเทศไทยอย่างแน่นอน ในประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งที่ถือได้ว่ารุนแรงที่สุด คือ แผ่นดินไหวที่ จังหวัดเชียงรายโดยเหตุการณ์ครั้งนั้นวัดความรุนแรงได้ 5 ริกเตอร์ ถือว่าโชคดีที่ไม่ได้เกิดขึ้นในบริเวณตัวเมือง

 

 

Exclusive Interview : เคลียร์ชัดภัยธรรมชาติรอบโลกสะท้อนการจัดการในประเทศ กับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Part 1)

 

ขอบคุณคลิปพายุ "เบบินคา" จาก อร่าม ทับเนียมนาค