การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

"เทควันโด" เป็นศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่เน้นการใช้ขาเตะคู่ต่อสู้ด้วยท่วงท่าอันสง่าสงาม อันเป็นกีฬาประจำชาติของชาวเกาหลี

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

 

    "เทควันโด" เป็นศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่เน้นการใช้ขาเตะคู่ต่อสู้ด้วยท่วงท่าอันสง่าสงาม อันเป็นกีฬาประจำชาติของชาวเกาหลี และได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงเป็นอีกหนึ่งชาติ ที่มีเหล่านักกีฬาผู้สร้างเกียรติประวัติ และถูกจารึกชื่อไว้ในการแข่งขันระดับโลก เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของชาวไทย ที่ทำให้ต่างชาติล้วนตระหนักดีว่าเทควันโดของประเทศไทยนั้น ไม่แพ้ชาติใดในโลก

 

    แต่การที่นักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จและไปถึงฝั่งฝันได้นั้น หาใช่แต่ต้องมีพรสวรรค์ หรือเพียงความสามารถเฉพาะตัว หากแต่จำต้องมีผู้ฝึกสอนที่เชี่ยวชาญเพื่อทำการการถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทวิชา ดั่งคำกล่าวที่ว่า "การได้ครูดี มีชัยไปกว่าครึ่ง" และหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของทัพนักกีฬา "เทควันโด" ไทยนั้น คือชายเกาหลีผู้หนึ่ง ผู้สืบทอดวิชา "เทควันโด" จากประเทศเกาหลีใต้ แต่มีจิตใจที่พร้อมจะเสียสละ และรับใช้ประเทศไทยในฐานะโค้ชเทควันโดไทย เช ยอง ซอก หรือที่ เรารู้จักในชื่อ "โค้ชเช"

 

    เป็นระยะเวลากว่า 14 ปี  ที่โค้ชผู้นี้ สร้างผลงานอันโดดเด่น ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก อาจด้วยเพราะความรักความผูกพัน ต่อลูกศิษย์และประเทศไทยนี้เอง ที่ทำให้ชายผู้นี้เลือกที่จะทำการตัดสินใจครั้งสำคัญ คือ การสละสัญชาติบ้านเกิดของตน เพื่อขอเป็นคนไทยอย่างเป็นทางการ

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

 

    เช ยอง ซุก หรือ โค้ชเช จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านพลศึกษา จากมหาวิทยาลัยคังวอน ประเทศเกาหลีใต้  ปัจจุบันเป็นนักศึกษาทุนปริญญาเอก สาขาการจัดการการกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงเวลาก่อนที่จะมาทำหน้าที่ผู้ฝึกสอนแก่นักกีฬาเทควันโดไทยนั้น โค้ชเชเคยเป็นนักกีฬาเทควันโดทีมชาติเกาหลีใต้มาก่อนและเป็นโค้ชให้กับทีมชาติบาห์เรน ในปี 2543 - 2545 ภายหลังหมดสัญญา จึงมาเป็นโค้ชให้กับสมาคมเทควันโดแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

 

    ในการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2547 เอเธนส์เกมส์ โค้ชเชนำทัพนักกีฬาเทควันโดไทยสร้างประวัติศาสตร์ได้เป็นครั้งแรกในกีฬาโอลิมปิก ด้วยการคว้าเหรียญทองแดงโดย เยาวภา บุรพลชัย จากผลงานอันโดดเด่นในครั้งนี้ ทำให้โค้ชเชได้รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ โดยมีพิธีมอบเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 ณ กระทรวงการต่างประเทศ และโค้ชเชได้ชื่อไทยคือ "ชัยศักดิ์" และได้ใช้ชื่อนี้มาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

    นอกจากนี้ ในปี 2554 ในการแข่งขัน ที่ประเทศเกาหลีใต้ "โคเรีย โอเพ่น" ด้วยความสามารถของโค้ชเช และทัพนักกีฬาไทยทำให้ทีมชาติไทยสามารถคว้ารางวัลเหรียญทอง 6 เหรียญ เหรียญเงิน 1 เหรียญ และเหรียญทองแดง 5 เหรียญ ส่งผลให้โค้ชเชได้รับรางวัลโค้ชยอดเยี่ยม จากการนำทีมในการแข่งขันในครั้งนี้

 

    และล่าสุดในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย หรือ จาการ์ตา ปาเล็มบัง 2018 ทีมเทควันโดไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นอีกครั้งจากการคว้า 2 เหรียญทอง กับ 2 เหรียญทองแดง กว่า 22 เหรียญทอง 20 เหรียญเงิน และ 29 เหรียญทองแดง ที่โค้ชเชบุกบั่นฝ่าฟันไปพร้อมกับทัพนักกีฬาไทยและสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศ ด้วยผลงานเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวไทยต่างยอมรับ รักและผูกพันกับโค้ชเช ไม่ต่างอะไรกับคนไทยคนหนึ่ง

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

 

    ด้านชีวิตส่วนตัวของโค้ชเช ได้สมรสแล้วกับภรรยาชาวเกาหลีใต้ มีบุตร 1 คน แม้ว่าจะมีหลายประเทศมาทาบทาม โค้ชเช ให้เป็นผู้ฝึกสอนในต่างประเทศด้วยค่าตอบแทนที่สูงกว่ารวมถึงประเทศเกาหลีใต้ บ้านเกิดของโค้ชเช ที่มีความประสงค์ต้องการนำตัว โค้ชเช กลับคืนสู่ประเทศของตน แต่โค้ชเช ก็ตอบปฏิเสธไปทุกราย "ผมอยากเป็นโค้ชทีมชาติสุดท้ายที่เมืองไทย ที่ผ่านมาแม้จะมีหลายประเทศติดต่อเข้ามา แต่ผมไม่ชอบ ที่ผ่านมาทุ่มเทให้กับทีมชาติไทยมากจนไม่อยากเปลี่ยนใจและคงทำใจไม่ได้ถ้า ต้องมาสู้กับนักกีฬาไทย" โค้ชเช  โค้ชเทควันโดทีมชาติไทยกล่าว

 

    ในเดือน ส.ค. 2559 โค้ชเช ได้ทำเรื่องขอสัญชาติไทย โดยตั้งใจว่าจะถือสองสัญชาติ เพราะส่วนตัวนั้นเกรงว่าจะมีปัญหาจากความยุ่งยากในการทำธุรกรรมการเงิน และอยากให้บุตรชายศึกษาในประเทศไทย และตนก็ไม่อยากทอดทิ้งเกาหลีใต้ซึ่งเป็นบ้านเกิด แต่เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้นั้น ไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ

 

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

    ในที่สุดวันที่ 24 ส.ค. 2561 ที่ผ่านมา โค้ชเชได้ตัดสินใจสละสัญชาติเกาหลี และขอเป็นคนไทยอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าในตอนนี้ไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงที่เกาหลีใต้บ้านเกิดอีกแล้ว นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า "ยอมรับว่าคิดหนักมาก ซึ่งตนพร้อมจะสละสัญชาติเกาหลี เพราะทางเกาหลีเองก็ไม่อนุญาตให้ถือสองสัญชาติ อีกอย่างครอบครัวของตนก็อยู่ที่นี่มานานแล้ว ทำให้รักและผูกพันกับเมืองไทย รักคนไทยและกีฬาเทควันโดของไทยมากเช่นกัน จึงอยากอยู่เมืองไทยตลอดไป" ขณะนี้ทางสมาคมเทควันโด ก็พร้อมประสานงานและช่วยดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปและอยากฝากไปยังผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้อนไทม์ไลน์ "โค้ชเช" จากสัญชาติเกาหลีสู่เส้นทางเป็น "คนไทย"

 

ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.2508 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 10 
1. กรณีขอแปลงสัญชาติเป็นไทย (คนต่างด้าวทั่วไป) มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
 1.1 เป็นคนต่างด้าวทั่วไป 
 1.2 บรรลุนิติภาวะแล้ว
 1.3 มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร
 1.4 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่า ๕ ปี โดยนับจากการที่ได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่ หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหลักฐานทางทะเบียนราษฎร
 1.5 มีอาชีพสุจริตโดยต้องมีหนังสือรับรองการประกอบอาชีพจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว หรือสำนักงานจัดหางานจังหวัด โดยจะต้องมีรายได้ ดังนี้
1.) กรณีไม่มีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย ต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 80,000 บาท/เดือน
2.) กรณีมีความเกี่ยวพันกับประเทศไทย เช่น สมรสกับบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือมีบุตรเป็นบุคคล สัญชาติไทย หรือจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท/เดือน
1.6 มีหลักฐานการเสียภาษีมาแล้วไม่น้อยกว่า ๓ ปี
1.7 มีหนังสือรับรองเงินเดือน/รายได้
1.8 มีความรู้ภาษาไทย โดยสามารถพูดภาษาไทยและฟังภาษาไทยเข้าใจ
1.9 มีความประพฤติดี โดยต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม (พิมพ์ลายนิ้วมือส่งตรวจสอบ) พฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด และพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

 

ส่วนการขอสัญชาติเกาหลีนั้น โดยตามหลักการยื่นขอสัญชาติ จะแบ่งเป็น 2 ข้อใหญ่ด้วยกันคือ
 1. จดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และพักอาศัยอยู่ในเกาหลีจริง มีจำนวนวันรวมไม่ต่ำกว่า 2 ปี
 2. จดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และพักอาศัยอยู่ในเกาหลีจริง มีจำนวนวันรวมไม่ต่ำกว่า 1 ปี

 

จำนวนวันในเงื่อนไขนี้ หากการเดินทางออกนอกประเทศในระหว่างนั้น จำนวนวันที่ออกนอกประเทศทั้งหมด จะถูกหักออก และต้องมีการเตรียมเอกสารที่ทางประเทศเกาหลีใต้กำหนด โดยต้องมีการแปลเป็นภาษาเกาหลีใต้ และมีตราประทับรับรองจากกรมการกงศุล นอกจากนี้ยังมีการพิจาณาจากรายได้ รวมถึงการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ โดยปกติจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีในการดำเนินการ