ถอดบทเรียนเอ็นดูเด็ก เสี่ยงไวรัสตัวร้าย RSV อันตรายถึงแก่ชีวิต

ถอดบทเรียนเอ็นดูเด็ก เสี่ยงไวรัสตัวร้าย RSV อันตรายถึงแก่ชีวิต

เนื่องจากสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลายคนเกิดป่วยไข้ขึ้นมาได้โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้มาก และยิ่งน่าตกใจเมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่อ ศิริมา ศิริชัยนาคร ได้ออกมาโพสต์เรื่องราวของเด็กทารกคนหนึ่งป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส  RSV จนเสียชีวิต โดยได้ระบุข้อความไว้ว่า...

 

"นี่คือครั้งแรกในอาชีพตัวแทน ที่จะต้องทำเคลมมรณกรรมให้น้อง น้องได้เสียชีวิตลงเมื่อเช้าด้วยไข้ RSV ในวัยแค่ 5 เดือน พ่อแม่ต้องเข้มแข็งนะ พี่กลับมาจากสุราษฎร์เมื่อคืน ก็อยากกลับไปอีกรอบ แต่ทางญาติแจ้งว่าจะไว้ศพแค่วันเดียว ทำไมคนที่เรารักต้องจากไปทีละคน หลับให้สบายนะตัวเล็กของป้า... ไม่เคยร้องไห้ขนาดนี้มาก่อน ใจหายมาก น้องไปสบายแล้วนะพ่อเจแม่เบ"

 

ทำให้เราต้องกลับมานึกย้อนว่ากี่ครั้งแล้วที่โรคภัยไข้เจ็บพรากชีวิตของคนที่เรารักไป ซึ่งหลายครั้งรวดเร็วจนไม่ทันตั้งตัวและไม่คิดด้วยซ้ำว่าอาการต่างๆ จะส่งผลถึงแก่ชีวิตได้ ในวันนี้สำนักข่าวทีนิวส์จึงได้นำข้อมูลของเชื้อ ไวรัส RSV มาให้ได้ศึกษา เฝ้าระวังป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียแก่บุคคลที่คุณรัก

 

ถอดบทเรียนเอ็นดูเด็ก เสี่ยงไวรัสตัวร้าย RSV อันตรายถึงแก่ชีวิต
 

ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โรคนี้สามารถเกิดการติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากแล้วมักเกิดในเด็กเล็กๆ อายุต่ำกว่า 3 ปี สำหรับในประเทศไทยอาจพบการระบาดได้บ่อยในช่วงฤดูฝน หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว

 

การติดต่อของเชื้อ RSV สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จาม โดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส ซึ่งหากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยในช่วง 2-4 วันแรก มักมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น น้ำมูกไหล ไอ มีไข้ เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่ายและกระสับกระส่าย เซื่องซึม หายใจเร็วและลำบาก หายใจมีเสียงหวีด

 

หากมีอาการหนักจะส่งผลให้ทางเดินหายใจส่วนล่างมีการอักเสบตามมา ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ ที่ต้องระวังอย่างยิ่ง หากมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (wheezing) รับประทานอาหารหรือนมได้น้อย ซึมลง ปากซีดเขียว เพราะผู้ป่วยที่มีอาการหนัก มีโอกาสเสียชีวิตเนื่องจากระบบทางเดินหายใจล้มเหลวได้สูง

 

สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงเกิดติดเชื้อไวรัส RSV สูงที่สุด ได้แก่
- เด็กที่คลอดก่อนกำหนด
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่เป็นโรคหัวใจหรือโรคปอดตั้งแต่กำเนิด
- เด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่เด็กจะติดเชื้อรุนแรงและต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ถ้าหากเด็กได้เข้ารักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลก็จะสามารถหายจากโรคได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ซึ่งโดยทั่วไปจะหายเป็นปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์

 

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรง แต่ใช้วิธีการรักษาตามอาการ เช่น การให้ยาลดไข้ แก้ไอละลายเสมหะ ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลมผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก จะช่วยลดความรุนแรงของอาการไอและอาการหายใจหอบเหนื่อยได้

 

การติดเชื้ออาจเกิดได้ด้วยการสัมผัสจากผู้อื่นที่ป่วยหรือเป็นพาหะได้ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เอ็นดูเด็กเล็ก อยากเข้าไปสัมผัสจับมือ หอมแก้ม โดยไม่ได้ทำความสะอาดร่างกายหรือล้างมือก่อนสัมผัส เมื่อไปจับต้องโดนตัวเด็ก หรือสัมผัสโดนปากหรือจมูก ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อได้เช่นกัน ผู้ใหญ่ควรระมัดระวัง อย่าเผลอแพร่เชื้อให้เด็กเล็กโดยไม่รู้ตัว

 

เราสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยจากไวรัส RSV ให้ลูกได้โดยให้เด็กดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าหากเป็นเด็กวัยยังไม่หย่านม ควรให้เด็กดื่มนมบ่อยที่สุดเท่าที่เด็กต้องการ หยอดน้ำเกลือ 2-3 หยดลงในรูจมูกของเด็กเพื่อละลายน้ำมูกหรือเสมหะ จากนั้นใช้ที่บีบดูดน้ำมูกหรือเครื่องดูดน้ำมูกเพื่อนำน้ำมูกเหล่านั้นออกมา น้ำเกลือล้างจมูกนั้นมีขายตามร้านขายยาทั่วไป ให้เด็กสูดดมไอน้ำจากเครื่องทำไอระเหยเพื่อให้ทางเดินหายใจชุ่มชื้นและหายใจได้สะดวกขึ้น และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาความสะอาดเครื่องมือดังกล่าวจากผู้ผลิต เพราะถ้าหากเครื่องมือสกปรก เชื้อโรคจะสามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ง่ายขณะสูดดมไอน้ำ

 

ถอดบทเรียนเอ็นดูเด็ก เสี่ยงไวรัสตัวร้าย RSV อันตรายถึงแก่ชีวิต

หากเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้ยาพาราเซตามอลสำหรับทารกเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วย หากเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป สามารถให้ยาไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอลสำหรับเด็กได้ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรซื้อยาแก้หวัดมาให้เด็กรับประทานเอง ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากแพทย์ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจหายจากอาการป่วยได้เร็ว แต่อาจจะส่งผลเสียที่รุนแรงกว่าเดิมหรืออาจมีผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้

 

หากเด็กมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV อย่างรุนแรง ควรระมัดระวังรักษาสุขภาพด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

 

- ล้างมือคุณและลูกของคุณให้สะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งอธิบายให้พี่เลี้ยงเด็กเข้าใจถึงความสำคัญของการล้างมือและหมั่นสังเกตว่าพี่เลี้ยงเด็กใส่ใจปฏิบัติตามที่คุณสั่งไว้หรือไม่ หากอยู่บ้าน จะต้องให้แขกทุกคนล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสตัวลูกของคุณ

 

- หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและสถานที่ที่มีผู้ป่วย หากเป็นไปได้ควรให้เด็กที่มีความเสี่ยงสูงพักอยู่ในบ้านแทนการนำไปฝากไว้กับสถานรับดูแลเด็กในช่วงที่ไวรัส RSV ระบาด (ปกติจะอยู่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน-เมษายน โดยเชื้อจะระบาดมากที่สุดในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์) เด็กที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด ได้แก่ ทารก ทารกที่คลอดก่อนกำหนด และเด็กที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือปอด

 

- ระวังไม่ให้ลูกของคุณเข้าใกล้ควันบุหรี่

 

- ห้ามไม่ให้เด็กใช้อุปกรณ์หรือภาชนะสำหรับรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำร่วมกับผู้อื่น (รวมทั้งห้ามไม่ให้ผู้อื่นใช้ร่วมกับเด็กด้วย) หากในครอบครัวมีคนที่ป่วยเป็นไข้หวัดสามารถแพร่เชื้อไวรัสสู่เด็กคนอื่นๆ ได้โดยง่าย

 

- เมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ควรพาไปเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

 

- หากเด็กมีความเสี่ยงที่จะป่วยสูง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับยาป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจหรือ palivizumab โดยแพทย์จะฉีดยาให้ทุกเดือนในช่วงที่เชื้อไวรัสระบาด เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV 

 

แม้ว่าการติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจมีอันตรายถึงชีวิต แต่สำหรับเด็กวัยเรียนและผู้ใหญ่ เชื้อไวรัส RSV ไม่ถือเป็นเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างรุนแรงและมักจะเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนซึ่งอาจทำให้มีอาการไอเท่านั้น เด็กโตและผู้ใหญ่จะมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรงและมีหลอดลมขนาดใหญ่ ทำให้อาการบวมและอักเสบในหลอดลมไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย

 

ถอดบทเรียนเอ็นดูเด็ก เสี่ยงไวรัสตัวร้าย RSV อันตรายถึงแก่ชีวิต


ขอบคุณ : ศิริมา ศิริชัยนาคร , honestdocs.co , bangkokhospital.com