บทสัมภาษณ์พิเศษ ศิริพงศ์ หนูแก้ว (พี่กบ) เจ้าของผลงานเชียน เสื้อคลุมของผู้พัน ชนะเลิศการประกวด รางวัลวรรณกรรม พานแว่นฟ้า ประจำปี 2561 จัดขึ้นโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย

    จากการประกาศผลตัดสินรางวัลวรรณกรรม พานแว่นฟ้า ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นรางวัล ประกวดผลงานเขียน ที่จัดขึ้นโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเภทเรื่องสั้น รางวัลชนะเลิศ ได้แก่เรื่อง "เสื้อคลุมของผู้พัน

 

    เป็นผลงานที่ตกผลึกมาจากความรักในการอ่านของชายผู้เดินตามความฝัน ด้วยการถ่ายทอดความปรารถนาจะให้เกิดความสงบสุขขึ้นในสังคม มาสู่ผลงานเรื่องสั้นเรื่องนี้

 

 คุณศิริพงศ์ หนูแก้ว (พี่กบ)

 

    วันนี้สำนักข่าวทีนิวส์ จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ คุณศิริพงศ์ หนูแก้ว (พี่กบ) เจ้าของผลงาน "เสื้อคลุมของผู้พัน" รวมถึงแรงบันดาลใจที่นำมาสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้

 

ทีนิวส์ : ในฐานะที่พี่กบได้รับรางวัลชนะเลิศ พานแว่นฟ้า อยากจะทราบถึงแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียนของพี่กบ ว่ามีที่มาอย่างไรบ้าง ?

 

ศิริพงศ์ : ย้อนกลับไปในตอนที่เพิ่งจบ ปวส. สาขา ช่างกลโรงงาน จากวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช เรียกได้ว่าเป็น ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บังเอิญไปเจอหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "เกลียวคลื่นคืนฝั่ง" ของ เดือนแรม ประกายเรือง เป็นหนังสือแนวเพื่อชีวิต หลังจากอ่านแล้วเกิดความชื่นชอบ และเริ่มคิดว่าต้องเรียนอะไร ถึงจะสามารถเป็นนักเขียนได้ เมื่อพลิกดูประวัติของผู้แต่งพบว่าจบรัฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงตัดสินใจบอกคุณแม่ว่าจะขึ้นกรุงเทพฯ เพื่อมาเรียน

 

    เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีการสอนแบบให้ศึกษาด้วยตัวเองเป็นหลัก ทำให้มีเวลาอ่านหนังสือและเข้าห้องสมุดเยอะจนมาเจอหนังสือเล่มหนึ่งที่เป็นแรงบันดาลใจจริงๆ ชื่อ "สะพานขาด" ของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เขียนไว้เมื่อปี 2539 เป็นหนังสือแนวเพื่อชีวิตเช่นกัน เนื้อหาพูดถึงเรื่องความรุนแรงของภัยคอมมิวนิสต์ที่ภาคใต้ เกิดความชื่นชอบจึงตามอ่านผลงานของ กนกพงศ์ สงสมพัน จนครบทุกเล่ม ทำให้เกิดศรัทธาในความเป็นนักเขียน และมีความคิดว่า น่าจะเขียนหนังสือบ้าง

 

ทีนิวส์ : โดยส่วนตัวแล้ว พี่กบ ชอบเขียนแนวไหน?

 

ศิริพงศ์ : ที่เขียนจะเป็นแนว สะท้อนสังคม แต่คงจะไม่เขียน แนวความรัก

 

กบ ศิริพงศ์ หนูแก้ว

 

ทีนิวส์ : เส้นทางกว่าที่จะได้มารับรางวัลชนะเลิศ พี่กบ ต้องต่อสู้กับอะไรมาบ้าง?

 

ศิริพงศ์ : จริงๆ แล้วเพิ่งจะมาเขียนหนังสือ ซึ่งแท้จริงอยากเขียนมาเป็น 10 ปีแล้ว พอมาทำงานอาชีพนักข่าวทำให้มีเวลาน้อย จึงไม่สามารถเขียนได้อย่างต่อเนื่อง เขียนๆ หยุดๆ แต่การเขียนที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องสั้น คล้ายกับจะเป็นบันทึกชีวิตตัวเองเสียมากกว่า ทำนองว่าเด็กต่างหวัดขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ ที่มาเขียนจริงจังคือปี 2558 เมื่อตอนออกจากงานประจำ ไปทำงานหนังสือพิมพ์ "รายปักษ์" ทำให้มีเวลามากขึ้น ภายในหนึ่งเดือนจะเขียนได้ประมาณ 3 เรื่อง โดยส่งไปที่ "เนชั่นสุดสัปดาห์" และ "สยามรัฐ" จนได้ตีพิมพ์ในเวลาต่อมา

 

ทีนิวส์ : กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ พี่กบ ต้องพยายามในเรื่องของอะไรบ้าง?

 

ศิริพงศ์ : พื้นฐานของผู้ที่ต้องการจะเป็นนักเขียน คือ ต้องเป็นนักอ่านมาก่อน โดยอ่านหนังสือให้มากเข้าไว้ก่อน ดูแนวทางและความชอบว่าจะไปในทิศทางไหน เพื่อเป็นการเพิ่มพูนทักษะ เพราะเมื่อชำนาญแล้วในตอนที่เราจะเขียน จะสามารถใช้คำและใช้ประโยคได้ดี

ทีนิวส์ : เรื่องที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ เป็นเรื่องแรกที่ พี่กบ เขียนและส่งประกวดใช่หรือไม่?

 

ศิริพงศ์ :  เรื่อง "เสื้อคลุมของผู้พัน" เขียนไว้เมื่อปีที่แล้วคือปี 2560 แต่เคยได้ส่งผลงานประกวดในรายการเดียวกันนี้ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2559 เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่ารายการประกวด พานแว่นฟ้า เป็นการประกวดแนวไหน จึงไม่ได้เข้ารอบ ภายหลังได้ค้นข้อมูลและเริ่มเขียนใหม่อีกครั้ง คือเรื่อง "เสื้อคลุมของผู้พัน" แต่เขียนไม่ทันเพราะรายการปิดรับสมัครไปก่อนจึงนำกลับมาส่งใหม่ในปีนี้แทน

 

ทีนิวส์ : เรื่อง "เสื้อคลุมของผู้พัน" พี่กบได้แรงบันดาลใจมาจากอะไร?

 

ศิริพงศ์ :  มีผู้พันคนหนึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน บ้านของผู้พันอยู่ตรงข้ามกับบ้านผม ทุกอาทิตย์ผู้พันคนนี้จะเข้ามาทำความสะอาดบ้านเมื่อมีโอกาสเจอทุกอาทิตย์และยืนมองดู จึงคิดว่าน่าจะลองเขียนเรื่องเกี่ยวกับทหารบ้าง และจินตนาการว่าให้ผู้พันอยู่ในห้องๆ หนึ่งทำการคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย คล้ายกับเป็นทหารที่ เกษียณอายุคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านเข้ามา จึงได้ประโยคแรกขึ้นมาซึ่งเป็นประโยคแรกในเรื่องสั้นเรื่องนี้ จนถึงประโยคในย่อหน้าสุดท้าย จะเห็นได้ว่าประโยคในย่อหน้าแรกกับประโยคย่อหน้าสุดท้ายในเรื่องสั้นเรื่องนี้ จะเหมือนกัน แต่แท้จริงแล้วจะไม่เหมือนเพราะมีการสลับประโยค โดยพล็อตเรื่องคร่าวๆ ที่คิดไว้คือการใส่เนื้อหาความขัดแย้งการเมืองของคนไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และใส่รายละเอียดเพิ่มเติมจนเสร็จสมบูรณ์

 

 

ศิริพงศ์ หนูแก้ว หรือ กบ

 

ทีนิวส์ : พี่กบคิดว่าเรื่อง "เสื้อคลุมของผู้พัน" ให้ประโยชน์อะไรกับสังคมบ้าง?

 

ศิริพงศ์ : รายการประกวด พานแว่นฟ้า มีโจทย์ให้ว่า ต้องเป็นเรื่องสั้นที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองใน ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นักเขียนจึงต้องมาตีโจทย์ก่อนว่า ต้องเขียนไปในทิศทางใดถึงจะสามารถส่งเสริมจากนั้นจึงได้ทำการหาข้อมูล และด้วยอาชีพที่เคยทำข่าวมาจึงสังเกตเห็นว่า เกิดการชุมนุมทางการเมืองโดยการอ้างสิทธิของตนเอง แต่บางขณะกลับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น คล้ายกับว่าไม่มีความเป็นพลเมืองดีในตัวเอง

 

ซึ่งพลเมืองคือประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศใด ประเทศหนึ่ง ซึ่งต้องมีสิทธิและหน้าที่ ส่วนเรื่องสะท้อนปัญหาของสังคมนั้นมองว่ามีสองส่วน คือ ระหว่างประชาชนกับประชาชน ที่ได้เห็นกันมาทั้งสองกลุ่ม และเจ้าหน้าที่รัฐหรือทหารก็ออกมาทำการยึดอำนาจ จึงมองว่าคู่ขัดแย้งมิใช่ประชาชนกับทหาร หรือประชาชนกับประชาชน หากแต่เป็นเรื่องของกลุ่มที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งประชาชนอาจไม่รู้เห็นด้วย ดังเช่นตอนหนึ่งในเรื่องสั้นที่มีการสนทนาระหว่างตัวผู้พันกับผู้บังคับบัญชา โดยผู้พันมีความคิดว่าประชาชนผิด ส่วนผู้บังคับบัญชาซึ่งก็มองว่าประชาชนนั้นไม่ผิด และได้นำความคิดของตนสอดแทรกผ่านทางความคิดของตัวละครทั้งสอง

ทีนิวส์ : ผลงานเรื่องนี้จะสามารถติดตามได้จากที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร ?

 

ศิริพงศ์ : จะมีการจัดพิมพ์เป็นหนังสือวันที่ 12 กันยายน 2561 วันเดียวกับที่รับรางวัล หากถามว่าเสื้อคลุมของผู้พันคืออะไร แท้จริงแล้ว เสื้อคลุมนั้นคือสัญลักษณ์ เป็นความคิดของเราไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม มันครอบงำความคิดเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็น เหลืองแดงหรือกลุ่มไหน ส่วนตัวผู้พันนั้นเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่อาจเป็นใครอีกหลายๆ คน หรือใครก็ได้ ซึ่งมีความคิด นั่นคือเสื้อคลุมมาครอบงำเราอยู่ หากวันใดวันหนึ่งถ้าเราถอดเสื้อคลุมออก ประหนึ่งเป็นการสลายความคิดขัดแย้ง ย่อมนำมาสู่ตอนจบเช่นเดียวกับเรื่อง  "เสื้อคลุมของผู้พัน"

 

ทีนิวส์ : ตอนนี้ พี่กบ ทำงานประจำอยู่ด้วยใช่ไหม ?

 

ศิริพงศ์ : ตอนนี้ทำงานประจำอยู่ที่สำนักข่าวทีนิวส์ เข้างานตอนเช้า กลับตอนเย็น ส่วนใหญ่จะใช้เวลากับงานเขียนในช่วงกลางคืน โดยจะเริ่มเขียนประมาณ 4 ทุ่ม ไปจนถึง ตี 2

 

 

นายศิริพงศ์ หนูแก้ว

 

ทีนิวส์ : นักเขียนที่เป็นแรงบันดาลใจให้พี่กบ คือใคร?

 

ศิริพงศ์ : กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ เพราะตั้งแต่อ่านผลงานเรื่อง "สะพานขาด" ทำให้เกิดความศรัทธา จากงานเขียนสะท้อนสังคม เป็นการบอกเล่าเรื่องราวของสังคมที่เราหรือเขาอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของประเทศนี้ ที่สามารถรับรู้ได้ร่วมกัน จึงตามอ่านผลงานทุกเล่มเรียกได้ว่าเป็นนักเขียนในดวงใจ

 

 

ผลงานของคุณศิริพงศ์

 

ทีนิวส์ : แนวทางที่เขียนอยู่ ณ ตอนนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจาก กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ใช่ไหม?

 

ศิริพงศ์ : ใช่ครับ

 

ทีนิวส์ : ให้พี่กบฝากถึงน้องๆ ที่อยากเป็นนักเขียน ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?

 

ศิริพงศ์ : ตัวเองนั้นก็ถือว่ายังเป็นหน้าใหม่อยู่เพราะเพิ่งเริ่มเขียนจริงจังมาได้ 2-3 ปี แต่ถ้าให้แนะนำอยากให้น้องๆ เริ่มจากการอ่านก่อน อ่านเยอะๆ เพื่อให้รู้แนวทางสำหรับเรา ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นิยาย หรือนวนิยาย จะมีเนื้อหาและมีวิธีเขียนที่แตกต่างกันไป เมื่อเริ่มจากการอ่านแล้วจึงค่อยเริ่มมาหัดเขียนดู

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 ข้อคิดดีๆ จาก "หนูดี วนิษา" นักเขียนชื่อดัง ผู้มอบ "กุญแจไขความสุข" ให้กับชีวิต !!


- SAVETOON!!! "นิ้วกลม"นักเขียนชื่อดังโพสต์ถึงคนไทยทุกคน "พี่ตูน"ทำให้พวกเราขนาดนี้ แล้วพวกเราจะช่วย"พี่ตูน"ได้อย่างไรบ้าง

คุณศิริพงศ์