ถอดรหัสแผนกินรวบธุรกิจนายทุนใหญ่ หลังเซเว่น อีเลฟเว่น จัดตั้งบ.สอดคล้อง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

ถอดรหัสแผนกินรวบธุรกิจนายทุนใหญ่ หลังเซเว่น อีเลฟเว่น จัดตั้งบ.สอดคล้อง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

ไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่ทุกอาชีพย่อมมีความต่างกันของเนื้องานความถนัดและความเชี่ยวชาญ แต่ละอาชีพมีเสน่ห์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เรากำลังพูดถึงประเด็นดราม่าร้อนฉ่ากับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาฉบับใหม่ ที่สำนักงานอาหารและยา (อย.) นำมาใช้แทนพ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 โดยกล่าวว่า 90% ของพ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้มีปัญหา แต่ติดประเด็นที่กำหนดให้สหวิชาชีพทางการแพทย์อื่น นอกเหนือจากแพทย์ และเภสัชกร สามารถปรุงยาและจ่ายยาเองได้ เช่น พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย ฯลฯ

(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เปิดปูมร้อน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ปรับแก้เอื้อใครกันแน่ ทำไมบุคลากรสาธารณสุขต้องเสียงแตก)

 

ซึ่งด้วยประเด็นนี้เองทำให้หลายคนต่างตกใจและเกิดอาการงง งวย ไปตามๆ กัน ว่าบุคลากรที่เป็นแพทย์หรือเภสัชกรของไทยเราขาดแคลนถึงขนาดที่ต้องหาตัวช่วยอื่นมารองรับทั้งที่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรที่สามารถจ่ายยาได้เชียวหรือ หรือในอนาคตจะมีการเพิ่มการเรียนการสอนของสหวิชาชีพทางการแพทย์อื่นเพิ่มหรือไม่

 

แล้วการที่ต้องเรียนถึง 6 ปีของเภสัช ยังมีความหมายอยู่หรือไม่ ใดๆ เหล่านั้นล้วนเป็นข้อคำถามที่สามารถผุดออกมาได้จากความคิดของประชาชนอย่างเราๆ แต่เมื่อมองไปยังฝั่งนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย อย่างเจ้าสัว ซีพี ธนินท์ เจียรวนนท์ แว่วๆ มาว่ากำลังเปิดธุรกิจใหม่ ซึ่งได้ทำการเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561

 

ถอดรหัสแผนกินรวบธุรกิจนายทุนใหญ่ หลังเซเว่น อีเลฟเว่น จัดตั้งบ.สอดคล้อง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

 

 

 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2561 พิจารณาทราบการจัดตั้งบริษัท ออลล์ เวลเนส จำกัด (ALL Wellness Col, Ltd.) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2561 มีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 119 อาคารธาราสาทร ชั้น 11 ถ.สาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดย CPALL เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด

 

แจ้งประกอบธุรกิจ  ร้านขายปลีกสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ การขายปลีกยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ยาอื่นๆ รวมถึงการขายปลีกสมุนไพร และเครื่องเทศที่ใช้ยาไทยแผนโบราณ ด้านการดูแลสุขภาพให้กับชุมชนด้วยนวัตกรรมระบบดิจิทัล และสร้างความสะดวกในการดูแลสุขภาพให้กับชุมชน รวมถึงแนะนำให้คำปรึกษาการดูแลสุขภาพกับชุมชนโดยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ 

 

โดยมีชื่อผู้บริหารในเครือ CPALL เป็นกรรมการ ได้แก่ นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการ บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) นายธานินทร์ บูรณมานิต กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายอนุรักษ์ วัฒนะถาวรวงศ์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายทวีศักดิ์ แก้วรัตนปัทมา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ Chief Financial Officer (CFO) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และนายวรเดช หงศ์เดชานันท์ 

 

ดูๆ ไปเหมือนจะเป็นความบังเอิญที่พอดีเป๊ะ เมื่อซีพีออล เปิดบริษัทใหม่โดยมุ่งเน้นแผนการตลาดทางการแพทย์ที่ทำให้ครอบคลุมและเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น บวกกับการปรับแก้พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ที่สอดคล้องกันอย่างลงตัว หากพ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ผ่านเราอาจจะเห็นพยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัด ประจำอยู่ใน 7-Eleven ตลอด 24 ชั่วโมง หรืออาจเห็นบุคลากรเหล่านั้นนั่งปรุงยา จ่ายยาอยู่ในคลินิกหรือร้านยาทั่วไปก็เป็นได้ แผนกินรวบธุรกิจของซีพีนับว่าสำเร็จมาอย่างต่อเนื่องด้วยกิจการต่างๆ ที่เจ้าสัวได้เข้าไปแทรกแทรงจนทำให้หลายธุรกิจที่ไม่แข็งแรงพอต้องล้มหายยุติกิจการไปนักต่อนัก

 

ตอกย้ำการยึดพื้นที่ธุรกิจด้วยอาณาจักรซีพี ซึ่งมีธุรกิจหลักที่สามารถแบ่งได้ออกเป็น 8 ธุรกิจใหญ่ๆ คือ
1) การเกษตร และอาหาร
2) ธุรกิจค้าปลีก
3) การสื่อสารและโทรคมนาคม
4) อีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัล
5) ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
6) ธุรกิจยานยนต์
7) ธุรกิจเวชภัณฑ์
8) การเงินและการธนาคาร

 

เมื่อจำแนกธุรกิจหลักใหญ่โดยรวมแล้ว เราจะพาไปดูธุรกิจบางส่วนของอาณาจักรซีพี กัน แต่ต้องบอกว่ายกมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นหากให้พูดถึงหมดทุกกิจการคงต้องคุยกันยาว 

 

1. CHIA TAI CO., LTD. บริษัท เจียไต๋ จำกัด
เจ้าของผลิตภัณฑ์ทางเกษตรที่คุ้นหูกันดีอย่าง ปุ๋ยตรากระต่าย เมล็ดพันธุ์ตราเครื่องบิน เมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวตราโฮมการ์เด้น และผลิตภัณฑ์อารักขาพืชตราช่อฟ้าและตราเจียไต๋ มีธุรกิจหลักคือ ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์อารักขาพืช รวมไปถึงอุปกรณ์เกษตรและโรงเรือน และธุรกิจผักผลไม้สด มีรายได้ 17,456 ล้านบาท เป็นกำไร 1,249 ล้านบาท

 

2. CHAROEN POKPHAND FOOD PLC.
บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อย่อว่า CPF ประกอบธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารแบบครบวงจร ตั้งแต่ ผลิตอาหารสัตว์ เพาะพันธุ์สัตว์ เลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า แปรรูปเนื้อสัตว์ขั้นพื้นฐาน ผลิตสินค้าเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมถึงช่องทางการขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบร้านค้าปลีกและร้านอาหาร แบรนด์ที่อยู่ภายใต้บริษัทเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารตรา CP ไส้กรอกตรา BKP ร้านอาหาร CHESTER’S GRILL ไก่ย่างห้าดาว และนมตรา MEIJI บริษัทมีรายได้ 464,465 ล้านบาท เป็นกำไร 14,703 ล้านบาท

 

3. C.P. INTERTRADE CO., LTD.
ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงอาหารและข้าว มีรายได้ 12,717 ล้านบาท เป็นกำไร 15.65 ล้านบาท

 

ถอดรหัสแผนกินรวบธุรกิจนายทุนใหญ่ หลังเซเว่น อีเลฟเว่น จัดตั้งบ.สอดคล้อง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

4. CP ALL PLC.
บริษัทนี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ชื่อย่อว่า CPALL ธุรกิจหลักคือการค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อในชื่อ 7-Eleven และยังประกอบธุรกิจอื่นๆ ที่สนับสนุนธุรกิจหลัก เช่น ผลิตและจำหน่ายอาหารสำเร็จรูป ตัวแทนรับชำระค่าสินค้าและบริการ Counter Service กาแฟและเบเกอรี่อย่าง Bellinee’s Bake&Brew คัดสรร และ All Cafe บริการขนส่งและกระจายสินค้า Dynamic Management ธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านแคตตาล็อกและอีคอมเมิร์ซ 24 Shopping รวมไปถึง สถาบันการศึกษาด้านการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีรายได้รวม 434,712 ล้านบาท เป็นกำไร 16,677 ล้านบาท

 

5. C.P. LOTUS
บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (121:HK) ประกอบกิจการร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตในจีน ในชื่อ LOTUS มีรายได้ 50,328 ล้านบาท ขาดทุน 2,683 ล้านบาท

 

6. SIAM MAKRO CO., LTD.
ประกอบธุรกิจค้าส่ง โดยดำเนินธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ภายใต้ชื่อ MAKRO มีรายได้รวม 172,790 ล้านบาท เป็นกำไร 5,412 ล้านบาท

 

7. TRUE CORPORATION
ประกอบธุรกิจหลักคือ
True Online ให้บริการอินเตอร์เน็ต รายได้รวม 28,300 ล้านบาท กำไร 3,704 ล้านบาท
True Move H ให้บริการโทรศัพท์มือถือ รายได้รวม 93,876 ล้านบาท ขาดทุน 4,878 ล้านบาท
True Vision ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก รายได้รวม 12,406 ล้านบาท ขาดทุน 1,375 ล้านบาท

 

และธุรกิจอื่นๆ ในเครือ อย่าง ร้านกาแฟ True Coffee มีร้านค้าออนไลน์ wemall และ iTrueMart เมื่อรวมกับรายการระหว่างกันแล้ว ทรูคอร์เปอเรชั่น มีรายได้รวม 124,719 ล้านบาท ขาดทุน 2,807 ล้านบาท

 

8. ASCEND GROUP
ประกอบธุรกิจไอทีต่างๆ เช่น ร้านค้าออนไลน์ บริการบัตรเงินสด และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง TrueMoney และ WeLoveShopping มีรายได้ 551 ล้านบาท เป็นกำไร 27 ล้านบาท

 

9.CP LAND
ประกอบธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เช่า (พื้นที่ประกอบธุรกิจ) และขาย (ที่อยู่อาศัย) รวมไปถึงให้บริการบริหารจัดการอาคาร เป็นเจ้าของโครงการ ซี.พี.ทาวเวอร์ ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ และโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน มีรายได้ 2,803 ล้านบาท เป็นกำไร 534 ล้านบาท

 

10. SINO BIOPHARMACEUTICAL LIMITED
จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (1177:HK) ประกอบธุรกิจวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงผลิต และจัดจำหน่ายยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจและสมองในประเทศจีน มีรายได้ 67,258 ล้านบาท เป็นกำไร 13,550 ล้านบาท

 

ยกตัวอย่างมาให้ดูถึง 10 ธุรกิจแล้วก็ยังไม่หมดซึ่งเห็นได้ว่าธุรกิจหลักๆ ก็ครอบคลุมแทบจะครบทุกอย่างของความจำเป็นอุปโภค บริโภคของมนุษย์ ธุรกิจวิจัยและพัฒนารวมไปถึงผลิตและจัดจำหน่ายยารักษาโรคที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ฟันกำไรมหาศาลและดูเหมือนจะไปได้สวย ด้วยการที่ได้ทำธุรกิจประเภทยามาแล้วก็คงไม่น่าแปลกที่ซีพีจะคิดการใหญ่นำหลักการขายยาโดยเปิดกว้างขึ้นและสามารถเข้าถึงได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านธุรกิจหลัก 7-Eleven เข้ามากินรวบในประเทศไทยเหมือนอย่างธุรกิจอื่นๆ ที่ต่อยอดปาดหน้าธุรกิจเล็กๆ ไปจนสิ้นอย่างที่เคยทำมาตลอด แต่คงน่าแปลกใจไม่น้อยหากประเทศไทยต้องแก้กฎหมายเพื่อเอาใจซีพี ซึ่งถ้าเอื้อกันได้สำเร็จอนาคตคงได้ยินวลีที่ว่า "ซื้อยาแล้วรับขนมจีบซาลาเปา เพิ่มไหมคะ"

 

ถอดรหัสแผนกินรวบธุรกิจนายทุนใหญ่ หลังเซเว่น อีเลฟเว่น จัดตั้งบ.สอดคล้อง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

ขอบคุณ : longtunman.com