ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

ถอดรหัสดราม่า กรณีพาน้องๆ ทีมหมูป่า มุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" ในงานเลี้ยงขอบคุณเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือ ชี้อาจเป็นการกระตุ้นความทรงจำ และเสี่ยงต่อการเป็นโรค PTSD

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

    เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ จากปฏิบัติการกู้ 13 ชีวิตถ้ำหลวง อันสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจและความเสียสละจากหน่วยงานทุกภาคส่วน จนภารกิจในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่เพียงแต่เท่านั้น เพราะปฏิบัติการในครั้งนี้ ยังเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกถึงมนุษยธรรมอันสูงส่งที่นานาประเทศต่างหยิบยื่นให้ รวมถึงพลังของชีวิตมนุษย์ในยามคับขันที่หล่อหลอมขึ้นเป็นความสามัคคี รอคอยความช่วยเหลือจากโลกภายนอกอย่างมีความหวัง จนสามารถพิชิตความโหดร้ายของภัยธรรมชาติ และอยู่เหนือความตายได้ราวกับปาฏิหาริย์

 

    ล่าสุดช่วงหัวค่ำวันที่ 6 ก.ย. 2561 รัฐบาลได้จัดงานเลี้ยง "รวมใจเป็นหนึ่งเดียว" (United as One) ณ ลานพระราชวังดุสิต โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเตะฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 12 ชีวิต รวมถึงพระเอกพล ผู้ช่วยผู้ฝึกสอนและรัฐบาล ได้ร่วมแสดงความขอบคุณและเชิดชูเกียรติแก่ผู้มีส่วนร่วมในปฏิบัติการกู้ชีพในครั้งนี้

 

 

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

 

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

    นางวลีพร กุนัน ภรรยาของ น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษถ้ำหลวง จากความเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย จนนำมาซึ่งความสูญเสียนั้น เป็นแขกลำดับที่หนึ่ง ที่รัฐบาลออกหนังสือเชิญมาร่วมงาน นอกจากนี้ ในงานแทบจะเรียกได้ว่าเป็นการรวมตัวของทีมกู้ภัยชุดดรีมทีม ทั้ง นพ.ริชาร์ด แฮร์ริสวิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลียหรือ นายเวิร์น อันสเวิร์ธ นักสำรวจถ้ำชาวอังกฤษ และภรรยา 

 

    แน่นอนว่าควรจะเป็นงานเลี้ยงที่มอบความปิติยินดี และสร้างรอยยิ้มให้แก่ทุกคน ทั้งตัวผู้ร่วมงานและประชาชนที่ติดตามข่าวในครั้งนี้ แต่แล้วหาได้เป็นเช่นนั้น เพราะก่อนที่สมาชิกทีมหมูป่าทั้ง 13 จะเดินทางไปร่วมงาน "รวมใจเป็นหนึ่งเดียว" ต้องเข้าร่วมนิทรรศการ "ปฏิบัติการถ้ำหลวง วาระแห่งโลก" ณ ลานไลฟ์สไตล์ ฮอลล์ สยามพารากอน เสียก่อน

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

    ซึ่งในส่วนของการจัดแสดงโซนที่ 2 ภายใต้ชื่อ "นาทีชีวิตวิกฤตเสี่ยงตาย" นี้เองที่ สมาชิกทีมหมูป่าทั้ง 12 คน ยกเว้นพระเอกพลต้องมุดเข้าถ้ำหลวงจำลอง ที่มีความมืด แคบ คดเคี้ยว ซึ่งในจุดนี้เองที่ทำให้ชาวเน็ตต้องเสียงแตก เพราะเห็นว่าอาจเป็นการกระตุ้นความทรงจำอันโหดร้ายของผู้ประสบภัยให้กลับมาอีกครั้ง เป็นเหตุให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ และมีการประณามหน่วยงานที่จัดนิทรรศการครั้งนี้ในเวลาต่อมา อีกทั้งบางคนยังแสดงความเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค PTSD (Post-traumatic stress disorder; PTSD) หรือ ภาวะผิดปกติทางจิตใจจากเหตุการณ์รุนแรง

 

 

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

    โรค PTSD นั้นเป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรควิตกกังวลชนิดหนึ่ง เป็นความผิดปกติทางจิตใจภายหลังประสบกับเหตุการณ์รุนแรง โดยผู้ป่วยอาจเป็นผู้รู้เห็นเหตุการณ์หรือประสบเหตุการณ์รุนแรงนั้นด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถแบ่งได้สองประเภทคือ ภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ พายุ รวมถึงการติดอยู่ในถ้ำก็ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติเช่นกัน และภัยที่เกิดจากภัยมนุษย์ เช่น สงคราม การถูกทารุณกรรม หรือข่มขืนกระทำชำเรา

 

    ความน่ากลัวของโรคนี้คือ การเห็นภาพเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบความฝัน หรือ เจอสิ่งกระตุ้นที่ทำให้นึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่นผู้ที่เคยจมน้ำและป่วยเป็นโรค PTSD เมื่อเห็นสระว่ายน้ำ หรือน้ำทะเลก็อาจมีอาการหวาดกลัวอย่างรุนแรง โดยที่ร่างกายและจิตใจไม่สามารถปรับตัวสู่ภาวะปกติได้โดยง่ายนอกจากหลีกเลี่ยงพฤติการณ์ที่นำมาซึ่งการกระตุ้นความทรงจำ หรือเข้ารับการรักษาด้วยการทำจิตบำบัดและใช้ยาควบคู่กันไปด้วย

 

    ภายหลังพบเหตุการณ์สะเทือนใจ สามารถแบ่งอาการเป็น 2 ระยะดังนี้ ระยะแรกคือ ความเครียดแบบฉับพลัน หรือ ASD (Acute Stress Disorder) อาการในระยะนี้จะเกิดขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ - 1 เดือน ภายหลังผู้ป่วยพบเหตุการณ์สะเทือนขวัญ สะเทือนใจ อาการที่พบคือ กลัว สิ้นหวัง สับสนไม่รู้ว่าตนเองอยู่ที่ไหน

    หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือไม่สามารถทำใจยอมรับเหตุการณ์นั้นได้ จะนำมาสู่ระยะที่สองคือ PTSD และหากอยู่ในระยะนี้มากกว่า 3 เดือนขึ้นไป แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD เรื้อรัง สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการดังนี้ 

 

1. Re-experiencing เป็นอาการที่เหตุการณ์หวนกลับมาทางมโนภาพ ความคิดและการรับรู้ มักจะออกมาในรูปแบบของภาพลวงตา ภาพหลอน ฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นบ่อยๆ และมีอาการทางกายภาพคือ เหงื่อออก หายใจสั้น เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้น

 

2. Avoidance/numbing เป็นการแสดงออกทางพฤติกรรมของผู้ป่วยที่พยายามหลีกเลี่ยง กิจกรรม สถานที่ หรือบุคคลที่กระตุ้นให้นึกถึงเหตุการณ์นั้น จนบางครั้งกลายเป็นความเฉยชาไม่สนใจสิ่งรอบข้าง แรงจูงใจในการใช้ชีวิตลดลง แยกตัวออกจากสังคม มีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า

 

3. Hyperarousal   มีภาวะตื่นตัวสูงผิดปกติ เช่น มีปัญหาการนอนหลับหรือไม่สามารถนอนหลับได้นาน  มีอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว หรือโกรธง่าย  ไม่มีสมาธิ มีอาการระแวดระวัง มีอาการตกใจกลัวเกินความเป็นจริง

 

    การรักษาโรค PTSD นั้น สามารถทำได้ด้วยการให้ยาแก่ผู้ป่วยนิยมโดยมากคือ Paxil (paroxetine) และ Zoloft (sertraline) การรักษาด้วยยานั้นต้องอยู่ในการดูแลควบคุมโดยแพทย์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการคิดฆ่าตัวตายในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นเด็ก กลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มวัยหนุ่มสาวได้ นอกจากนี้ยังรักษาได้ด้วยวิธีการทำจิตบำบัด เป็นวิธีการรักษาที่พบบ่อย โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจะใช้วิธีการพูดคุยเกี่ยวกับอาการของผู้ป่วย ซึ่งการบำบัดโดยวิธีนี้มีทั้งที่เป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัว และแบบกลุ่ม 

 

 

ถอดรหัส ดราม่าหมูป่ามุดเข้า "ถ้ำหลวงจำลอง" กระตุ้นความทรงจำ เสี่ยง PTSD

 

    ถึงแม้ในวันนี้ผู้ประสบภัยทั้ง 13 คน จะได้ออกมาสู่โลกภายนอก และกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติได้อีกครั้ง แต่คงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าตัวผู้ประสบภัยเองว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีผลต่อสภาพจิตใจของพวกเขามากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรแล้ว สิ่งที่ทุกคนพึงมอบให้แก่พวกเขา ควรจะเป็นกำลังใจและรอยยิ้ม มากกว่าที่จะเป็นการกระทำเพื่อกระตุ้นความทรงจำของทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คนในฐานะผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะด้วยรูปแบบไหนก็ตาม