ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สรุปสถานการณ์สภาพอากาศประเทศไทย เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 12 ก.ย. 2561 ชี้ถึงพายุ บารีจัต - มังคุด ส่งผลให้ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 13 - 18 ก.ย. 2561 

 

     ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สรุปสถานการณ์สภาพอากาศประเทศไทย เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันที่ 12 ก.ย. 2561 ชี้ถึงพายุ บารีจัต - มังคุด ส่งผลให้ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 13 - 18 ก.ย. 2561 

 

     เป็นเหตุให้ นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติต้องออกมาเปิดเผย ถึงการเฝ้าระวังพายุทั้ง 2 ลูกนี้อย่างใกล้ชิด  พร้อมประเมินพื้นที่เสี่ยงซึ่งคาดว่าอาจจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลความรุนแรงของพายุทั้ง 2 ลูก นี้

 

พายุ บารีจัต - มังคุด  ทำป่วน สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หวั่น 13 - 19 ก.ย ท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน

 

        ด้าน นายสำเริง ยังกล่าวถึงปริมาณฝนสะสม 24 ชั่วโมงที่ผ่านมาพบว่ายังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ได้แก่ ภาคเหนือ จ.พิษณุโลก 99 มม. สุโขทัย 67 มม.เพชรบูรณ์ 58 มม. พิจิตร 51 มม. น่าน 48 มม. เชียงราย 48 มม. กำแพงเพชร 47 มม. อุตรดิตถ์ 45 มม. แม่ฮ่องสอน 45 มม. ภาคกลาง จ.สมุทรปราการ 49 มม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร 103 มม. นครพนม 75 มม. ร้อยเอ็ด 49 มม. ขอนแก่น 42 มม. ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี 51 มม.  ภาคตะวันตก กาญจนบุรี 46 มม. และภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช 43 มม. สตูล 42 มม. กระบี่ 41 มม. 

 

 

         จากปริมาณน้ำฝนสะสมทำให้หลายฝ่ายมุ่งเป้าไปที่การบริหารจัดการเขื่อนต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้น้ำล้นท่วมท้ายเขื่อนได้ ทั้งนี้ทางศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้ประเมินว่า พื้นที่บริเวณชายขอบของประเทศบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมอาจได้รับผลกระทบหนักกว่าพื้นที่อื่น ทั้งสภาพเขื่อนบางแห่งยังมีปริมานณน้ำมากกว่าเกณฑ์ควบคุม หรือกำลังกักเก็บเต็มความจุเขื่อนแล้วในตอนนี้ เมื่อพายุ บารีจัต - มังคุด พัดเข้ามาจึงอาจส่งผลให้ น้ำในอ่างมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทำให้การระบายน้ำนั้นเพิ่มขึ้นตาม 
หากระบายน้ำไม่ทันอาจเพิ่มสูงจนเอ่อล้นตลิ่งซ้ำบริเวณท้ายเขื่อนใหญ่เดิม เช่น  เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และเขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก ที่เกิดน้ำท่วมท้ายเขื่อนไปเมื่อไม่นานนี้จนเพิ่งกลับสู่ภาวะปกติ

 

พายุ บารีจัต - มังคุด  ทำป่วน สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หวั่น 13 - 19 ก.ย ท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน

 

 

      ขณะนี้ได้ประชุมเพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้ โดยทางศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่รับผิดชอบเตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือ ในการบรรเทาผลกระทบล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด พร้อมแจ้งเตือนประชาชน หากเกิดผลกระทบที่อาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่อยู่บริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนตลอดเวลา อย่างไรก็ดีจากปริมาณน้ำฝนที่ตกเพิ่มขึ้นส่งผลดีให้อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้อย น้ำจะไหลลงเข้าอ่างเพิ่มมากขึ้นเช่นเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งจะช่วยให้ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีน้ำใช้ในหน้าแล้งต่อไป 

 

พายุ บารีจัต - มังคุด  ทำป่วน สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หวั่น 13 - 19 ก.ย ท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน

 

      ด้านนายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกมาเผยสถานการณ์น้ำในเขื่อน เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ซึ่งในปัจจุบันระดับน้ำ 176 เมตร 43 เซนติเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปริมาณที่กักเก็บ 16,286.53 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ได้เริ่มทำการเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาอีกประมาณวันละ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่างจากเดิมระบายอยู่วันละ 22 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มเป็นวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่วันที่ 7 – 13 ก.ย. 2561 

 

       ซึ่งล่าสุดได้เตรียมปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเพิ่มขึ้น เป็น 32 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ระหว่างวันที่ 14 – 30 ก.ย. 2561 ซึ่งถือเป็นการระบายน้ำในปริมาณที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เขื่อนฯ เปิดใช้งานมาในรอบ 37 ปี

 

 

      ในส่วนของเขื่อนวชิราลงกรณจะขยายกำลังการระบายน้ำเป็นวันละ 58 ล้านลูกบาศก์เมตร / วัน ไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2561 เพื่อเตรียมรับปริมาณน้ำฝนในช่วง 1 - 2 เดือน ซึ่งอาจส่งผลไปถึงบริเวณท้ายเขื่อน ตามแนวริมคลองให้มีน้ำเอ่อล้นในพื้นที่จังหวังกาญจนบุรีได้โดยเฉพาะ อำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอเมือง  อำเภอท่าม่วง และอำเภอท่ามะกา 

 

พายุ บารีจัต - มังคุด  ทำป่วน สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หวั่น 13 - 19 ก.ย ท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน


   
      ทั้งนี้พยากรณ์อากาศล่าสุดเมื่อเวลา 04.00 น. ของวันที่ 13 ก.ย. 61 ระบุว่า พายุโซนร้อน “บารีจัต” (BARIJAT) บริเวณด้านตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 112.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน ในวันนี้ 13 ก.ย. 2561

 

     หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชัน และหย่อมความกดอากาศต่ำตามลำดับ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก

 

        อนึ่ง พายุไต้ฝุ่น “มังคุด” (MANGKHUT) บริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกมีแนวโน้มการเคลื่อนผ่านเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ และตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ในช่วงวันที่ 14-15 กันยายน 2561 หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงทะเลจีนใต้ตอนบน และผ่านเกาะฮ่องกง โดยจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 16-18 กันยายน 2561 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่รับลมมรสุมด้านตะวันตกของภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงดินโคลนถล่ม

 

พายุ บารีจัต - มังคุด  ทำป่วน สทนช. เตรียมแผนจัดการน้ำ 3 เขื่อนใหญ่ หวั่น 13 - 19 ก.ย ท่วมซ้ำพื้นที่ท้ายเขื่อน

 

       สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 18 กันยายน 2561นี้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ   , กรมอุตุนิยมวิทยา